แบ่ง 13 สัญญารถไฟทางคู่เปิดโอกาสแข่งขัน

แบ่ง 13 สัญญารถไฟทางคู่เปิดโอกาสแข่งขัน

"ซุปเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง" สั่งแก้ทีโออาร์รถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง จ่อชงครม.เดือนเม.ย.นี้ แบ่งสัญญาประมูลใหม่เป็น 13 สัญญา พร้อมลดคุณสมบัติ หวังเปิดโอกาสแข่งขันมากขึ้น

การประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หรือซุปเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง และคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)วานนี้(22 มี.ค.) ได้มีมติร่วมกันจะแก้เงื่อนไขการประมูลหรือทีโออาร์ โครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง โดยจะแบ่งเป็นสัญญาย่อยรวม 13 สัญญา เพื่อเปิดทางให้ผู้รับเหมารายกลางเข้าร่วมประมูลได้

โครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางที่ต้องประมูลใหม่ตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. โดยอาศัยมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว รวมระยะทาง 668 กิโลเมตรมีมูลค่ากว่า 97,782 ล้านบาท

ทั้ง 5 โครงการประกอบด้วย 1. ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร ราคากลาง 16,234 ล้านบาท 2. ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84กิโลเมตร ราคากลาง 9,853 ล้านบาท

3. ช่วงมาบกะเบา–ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร ราคากลาง 28,505 ล้านบาท 4. ช่วงลพบุรี –ปากนําโพ้ ระยะทาง 116 กิโลเมตร ราคากลาง 23,921 ล้านบาท และ5. ช่วงนครปฐม – หัวหิน ระยะทาง 169 กิโลเมตร ราคากลาง 19,269 ล้านบาท

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หรือซุปเปอร์บอร์ดจัดซื้อ กล่าวภายหลังประชุมร่วมคณะกรรมการ รฟท.ว่า ที่ประชุมมีมติร่วมกัน ที่จะปรับเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) โครงการรถไฟรางคู่ 5 สาย

คณะกรรมการ รฟท.จะนำมติดังกล่าวไปร่วมหารือในเงื่อนไขการประมูลใหม่ เพื่อนำกลับมารายงานต่อซุปเปอร์บอร์ดจัดซื้อฯพิจารณาอีกครั้งในวันจันทร์หน้า และหากมีข้อสรุปร่วมกันแล้ว จะนำเข้าสู่การพิจารณาในชั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบร่างทีโออาร์ จากนั้นนำมติครม.ไปบอกยกเลิกทีโออาร์เดิมและการประมูลเดิม

นายประสารกล่าวว่า จะพยายามนำร่างทีโออาร์ใหม่เสนอครม.โดยเร็วที่สุด โดยจะพยายามทำให้ทันภายในเดือนเม.ย.ตามที่เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้

ลดสเปคผู้เข้าร่วมประมูล

สำหรับ เงื่อนไขทีโออาร์ใหม่ จะประกอบด้วย 1.เงื่อนไขเดิมได้กำหนดว่า เอกชนที่มาสร้างเส้นทางนั้น เมื่อสร้างเสร็จแล้ว จะต้องนำเครื่องจักรมอบให้แก่รฟท.แต่ในเงื่อนไขใหม่นั้น ตัดเรื่องนี้ออก 2.เงื่อนไขเดิมกำหนดให้ผู้ที่เข้าประมูลจะต้องเคยมีประสบการณ์ในการประมูลงานที่คิดเป็น ไม่ต่ำกว่า 15% ของมูลค่าโครงการ แต่เงื่อนไขใหม่กำหนดว่า จะต้องเคยมีประสบการณ์ในการประมูลงานที่คิดเป็นไม่ต่ำกว่า 10% ของมูลค่าโครงการเท่านั้น

นอกจากนี้ มีความคิดว่า เพื่อจัดการพิจารณาแข่งขันเรื่องนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงแยกงานอาณัตสัญญาออกไป แต่เรื่องอาณัติสัญญาณเพื่อประสิทธิภาพในการแข่งขัน ควรทำเป็น 3 สัญญา แน่นอนบริษัทที่มาแข่งสามารถแข่งได้ทั้ง 3 สัญญาก็ได้ และนำระบบรางและโยธามาอยู่ด้วยกัน

“5 สายทาง รฟท.จะนำไปซอยออกเป็นสัญญาต่างๆ โดยคำนึงสภาพทางภูมิศาสตร์ และ พยายามให้มูลค่าสัญญาอยู่ 5 พันล้านบาท ถึง 1 หมื่นล้านบาท”

แบ่ง13สัญญาเปิดรายกลางร่วมประมูล

นายประสาร ยกตัวอย่างว่า ถ้าสมมติว่า ดูสภาพภูมิศาสตร์แล้ว เมื่อดูประสิทธิภาพการทำงาน อาจลงเอยที่ 7 พันล้านบาท ไม่ต้องซอยต่อ หรือกรณีเส้นหนึ่งมีอุโมงค์ 3 แห่ง รวม 9 พันล้านบาท ก็ไม่ต้องไปซอย เพราะถ้าซอยประสิทธิภาพการทำงานอาจแย่ลง หรือบางที่ดูสภาพภูมิศาสตร์มูลค่า 1.05 หมื่นล้านบาท ก็ถือว่าทำได้

“ที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกัน เกี่ยวกับทีโออาร์รถไฟทางคู่ 5 สาย แยกสัญญาย่อยเป็น 13 สัญญา สัญญาละ 5 พันล้านบาท ถึง 1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นระบบอาณัติสัญญาณรถไฟ 5 สาย มี 3 ทิศ เป็น 3 สัญญา ส่วนงานรางและโยธา แบ่งเป็น 10 สัญญา ในจำนวนนี้มีงานอุโมงค์ 3 แห่ง รวมเป็น 1 สัญญา”นายประสารกล่าว

นายประสารกล่าวด้วยว่า การซอยสัญญาให้เล็กลง เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนรายกลางเข้ามาแข่งขันประมูลได้มากขึ้น จากเดิมมีมูลค่าสัญญาถึง 2.6 หมื่นล้านบาท โดยผู้ที่เคยสนใจในการเข้าแข่งขันในครั้งก่อน แต่ไม่สามารถติดต่อผู้ทำระบบอาณัติสัญญาณได้ รอบนี้ ก็สามารถเข้ามาประมูลได้

“แต่แนวทางนี้ อาจทำให้รฟท.มีภาระเพิ่มขึ้นในแง่การประสานงานกับผู้ประมูลมากขึ้น แต่ภาพรวมแล้ว เงื่อนไขใหม่จะมีข้อดีและส่วนที่เป็นข้อเสีย ถ้าบริหารจัดการดีๆก็สามารถบริหารจัดการได้”

ด้านนายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานบอร์ดรฟท. กล่าวว่า รฟท.จะนำผลการประชุมครั้งนี้ไปทำให้เกิดความชัดเจน และต้องเปิดประมูลใหม่ เริ่มต้นกันใหม่ และต้องยกเลิกของเก่าที่เคยเปิดให้ยื่นซองไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยการยกเลิกนั้นต้องดำเนินการผ่านมติครม.