'เอไอเอส'รุกเพย์ทีวี เปิดแพคเก็จหนังระดับเวิลด์คลาส

'เอไอเอส'รุกเพย์ทีวี เปิดแพคเก็จหนังระดับเวิลด์คลาส

"เอไอเอส" ขยายอาณาจักรสู่ตลาดเพย์ทีวีเต็มตัว รุกบริการคอนเทนท์ความบันเทิงระดับเวิลด์คลาส เปิดแพคเก็จเสริมบริการไฟเบอร์ฯ เพิ่มช่อง "เอชบีโอ-ฟ็อกซ์"

นายปรัธนา ลีลพนัง รักษาการหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาดบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า เอไอเอส ไฟเบอร์ ที่ให้บริการฟิกซ์บรอดแบนด์บนเทคโนโลยีไฟเบอร์แท้ 100% ปัจจุบันครอบคลุมมากกว่า 5 ล้านครัวเรือน และได้พัฒนาเครือข่ายไปสู่เน็กซ์ จี เน็ตเวิร์ค ที่สามารถรองรับการใช้งานระดับกิกะบิต ปัจจุบันในเครือข่ายเอไอเอสมีผู้ใช้บริการ 4จี ผ่านสมาร์ทโฟนในระบบ 14 ล้านราย ส่วนผู้ใช้บริการรวมทั้ง 3จี และ 4จี มีจำนวน 28 ล้านราย ปีนี้เชื่อว่าจะมีสมาร์ทโฟนใหม่เข้าสู่ตลาดราว 15 ล้านเครื่อง

วีดีโอโต-ลุกค้าพุ่ง "ล้านราย" 

จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นว่าเทรนด์ของอุตสาหกรรมได้ก้าวไปสู่การบริการคอนเทนท์ ที่เป็นวีดีโอ ซึ่งรวมถึงยูทูบ ภาพยนตร์ ละคร มิวสิควีดีโอ และคลิปต่างๆ ซึ่งทำให้ตลาดรวม ยอดการใช้งานดาต้าบนโทรศัพท์มือถือเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 3.6 กิกะไบต์ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น หากเทียบจากอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยปีต่อปีอยู่ที่ 2 เท่า

“บริการล่าสุดของเอไอเอส เพื่อตอบโจทย์ความนิยมเลือกชมคอนเทนท์แบบมัลติสกรีนได้ทุกจอ ทั้งสมาร์ทโฟน แทบเล็ต และทีวี รวมถึงเลือกชมแบบวิดีโอออนดีมานด์ ได้ทุกที่ ทุกเวลาที่ต้องการ ผ่านวิดีโอแพลตฟอร์มทั้ง 2 รูปแบบ คือ แอพพลิเคชั่นเอไอเอส เพลย์บนมือถือ และกล่องทีวีอินเทอร์เน็ต เอไอเอส เพลย์บ็อกซ์ ซึ่งมีคอนเทนท์ให้ชมฟรีมากมาย โดยเฉพาะการดึงช่องดังพรีเมียมระดับโลกกว่า 30 ช่อง นำโดย เอชบีโอ ฟ็อกซ์ วอร์เนอร์ ทีวี, เนชั่นแนล จีโอกราฟิก, นิค เจอาร์. มาเปิดแพ็คเกจให้บริการ” นายปรัธนา ระบุ

นายศรัณย์ ผโลประการ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานบริหารธุรกิจฟิกซ์บรอดแบนด์ เอไอเอส ระบุว่า จากพื้นฐานธุรกิจฟิกซ์ บรอดแบนด์ที่เอไอเอสเปิดให้บริการไปก่อนหน้านี้ ปัจจุบันมีลูกค้าราว 3.5 แสนราย ในจำนวนนี้ราว 80% ใช้งาน เอไอเอส เพลย์บ็อกซ์ร่วมด้วย หรือราว 2.8 แสนราย และจากเป้าหมายที่วางไว้สิ้นปีนี้ จะเพิ่มลูกค้าเป็น 6.4 แสนราย ทำให้คาดว่าจะมีลูกค้าใช้งานเพลย์บ็อกซ์ราว 4 แสนราย ในจำนวนนี้สมัครใช้แพคเก็จราว 1 แสนราย

นอกจากนี้ เมื่อแยกย่อยลงมามีลูกค้าที่โหลดเอไอเอส เพลย์มาใช้งานราว 3 ล้านราย โดยเป็นลูกค้าที่ใช้งานต่อเนื่องราว 1.5 ล้านราย ทำให้เอไอเอสตั้งเป้าว่าในสิ้นปีนี้จะมีลูกค้าเพิ่มมาใช้งานในรูปแบบของการเสียค่าบริการราว 5 แสน-1 ล้านราย

จ่อเปิดแพ็คฯบันเดิลใช้หลายจอ

นอกจากนี้ ในอนาคตเอไอเอส ยังมีแผนที่จะให้บริการแพ็คเกจในรูปแบบของบันเดิลที่ให้ลูกค้าสามารถใช้งานแบบมัลติสกรีนได้ในช่วงกลางปี พร้อมๆ กับการออกแพ็คเกจร่วมระหว่างรับชมคอนเทนท์ และใช้งานอินเทอร์เน็ต ไฟเบอร์ไปพร้อมๆ กัน

โดยปัจจัยเสริมส่วนหนึ่งที่ทำให้เอไอเอสเข้ามาสู่ตลาดเพย์ทีวีเต็มตัว นอกจากจะเป็นการหาบริการเสริม และคอนเทนท์ระดับโลกมาให้ลูกค้าแล้ว ยังเป็นการเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือนของบริการเอไอเอส ไฟเบอร์จากราว 550 บาทขึ้นไปมากกว่า 600 บาท

ทั้งนี้ แพ็คเกจ เสริมสำหรับลูกค้ามือถือเอไอเอสทั้งรายเดือน และเติมเงิน ประกอบด้วย แพ็คเกจ 1.Premier Full HD Package ราคา 299 บาท/เดือน นาน 1 ปี (จากราคาปกติ 399 บาท/เดือน) เพียงสมัครตั้งแต่วันนี้-30 มิ.ย. 60 รับชม14 ช่องดัง ประกอบด้วยภาพยนตร์ ซีรีส์ยอดฮิตจากทั้ง 6 ช่อง ของเอชบีโอ รวมถึงเอชบีโอ โก และช่องวอร์เนอร์ ทีวี, กีฬาจากช่องฟ็อกซ์ทั้ง 3 ช่อง และ ไฟต์ สปอร์ต, ข่าวจากช่องเอชแอลเอ็น, การ์ตูนจากช่องดัง นิค เจอาร์. และช่องเบบี้ ทีวี

2.Premier Full HD Package Xtra ราคา 399 บาท/เดือน นาน 1 ปี (จากราคาปกติ 499 บาท/เดือน) รับชม 14 ช่องดัง พร้อมอินเทอร์เน็ต 4 กิกะบิตสำหรับดูวิดีโอคอนเทนท์โดยเฉพาะ

นอกจากนี้ ยังมีแพ็คเกจเสริมสำหรับลูกค้าเอไอเอส ไฟเบอร์ที่มีกล่องเอไอเอสเพลย์บ็อกซ์ ประกอบด้วย 1.Gold Full HD Package ราคา 299 บาท/เดือน นาน 1 ปี ได้รับชมภาพยนตร์-ซีรีส์ สารคดีรายการเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ของคนทั้งครอบครัว จาก 13 ช่องชื่อดัง ราคา 599 บาท/เดือน นาน 1 ปี (จากราคาปกติ 899 บาท)

คอนเทนท์พรีเมียมโต

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายปรัธนา กล่าวถึงแนวโน้มคอนเทนท์ความบันเทิงผ่านสมาร์ทโฟน และโทรทัศน์เชื่อมอินเทอร์เน็ตว่า จากนี้จะเห็นการแข่งขันของผู้ให้บริการที่เพิ่มสูงขึ้น ตอบโจทย์พฤติกรรมการดูคอนเทนท์ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะบนอุปกรณ์ที่สามารถเปิดดูได้ทุกที่ แบ่งเป็นฟรี คอนเทนท์ และพรีเมียม คอนเทนท์

ในสหรัฐ พรีเมียม คอนเทนท์ ที่วิ่งอยู่บนทราฟฟิกอินเทอร์เน็ตมีสูงถึง 70% ขณะที่ในไทยสัดส่วนยังน้อย ถ้าเทียบกับปริมาณการใช้งานดาต้าในไทยบนเครือข่ายที่แม้จะเติบโตสูงขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นการใช้งานด้านโซเชียลเป็นหลัก

ขณะที่ ปริมาณการใช้งานดาต้าปัจจุบันบนเครือข่ายเอไอเอสมากกว่า 80% ถูกใช้ไปกับการสตรีมมิ่งคอนเทนท์ที่เป็นวิดีโอ โดยระยะเวลาเฉลี่ยในการรับชมจะอยู่ที่ราว 15 นาทีต่อครั้ง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคใช้งานคอนเทนท์วิดีโอมากขึ้น เกิดจากหน้าจอของสมาร์ทโฟนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ประสิทธิภาพของเครือข่ายในการให้บริการที่ลื่นไหล

“ปัจจุบันในไทยยังขาดพรีเมียมคอนเทนท์บนมือถือ ส่วนใหญ่คอนเทนท์เหล่านี้ ยังอยู่บนระบบเคเบิล และดาวเทียม ในอนาคตเชื่อว่า พรีเมียมคอนเทนท์ผ่านออนไลน์ในไทย จะมีแนวโน้มเติบโตเป็นเท่าตัว ขณะที่ฟรี คอนเทนท์ที่แต่เดิมผ่านทีวี จะขึ้นมาอยู่บนอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงมาก ซึ่้งปัจจุบันผู้ชมฟรีคอนเทนท์ผ่านช่องทางอย่างยูทูบ มีการเติบโตมากถึง 30%”

ขณะที่ช่องทางหลักของพรีเมียมคอนเทนท์เดิมอย่างเคเบิล หรือดาวเทียม จะหันมาใช้ช่องทางออนไลน์ผสมผสานสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น

แนวโน้มการเติบโตของวิดีโอคอนเทนท์ คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 30 - 40% ในอีกหลายปีข้างหน้า เพราะผู้ให้บริการแพลตฟอร์มวิดีโอต่างๆ เริ่มนำวิธีอย่างการเล่นวิดีโอคอนเทนต์อัตโนมัติบนหน้าฟีดเฟซบุ๊กมาใช้งานมากขึ้น