นบข.เร่งระบายสต็อกข้าว ชี้ขาดทุนแล้ว1.5แสนล.

นบข.เร่งระบายสต็อกข้าว ชี้ขาดทุนแล้ว1.5แสนล.

นบข.ไฟเขียวแผนโละข้าวสต็อกรัฐบาลช่วงเดือนเม.ย. - พ.ค.นี้ ด้าน "นิพนธ์" ชี้สต็อก 8 ล้านตัน ขาดทุนแล้ว 1.54 แสนล้านบาท ระบุช้า 2 ปีขาดทุนเพิ่มอีกกว่า 2 หมื่นล้าน

การประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.)ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมวานนี้(22 มี.ค.)ได้หารือถึงกรอบการระบายข้าวคงเหลือในสต็อกของรัฐบาลประมาณ 8 ล้านตัน ซึ่งนบข.ได้เห็นชอบไปแล้วเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

ในจำนวนนี้ ได้ระบายข้าวไปแล้วในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา 1.3 ล้านตันและทำให้เหลือต้องเร่งรัดการระบายข้าวอีกประมาณ 6.7 ล้านตันภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ไม่มีสต็อกข้าวรัฐบาลเหลืออยู่

ในช่วงแรกที่รัฐบาลนี้เข้าบริหารประเทศ มีสต็อกข้าวในโครงการรัฐเหลืออยู่ราว 18.6 ล้านตัน ซึ่งได้เร่งระบายตั้งแต่ปี 2557 โดยเปิดประมูลไปแล้ว 23ครั้ง รวมทั้งสิ้น 9.76 ล้านตัน มูลค่า 98,763.31 ล้านบาท

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่าข้าวที่คงเหลือในสต็อกแบ่งตามคุณภาพข้าวออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ข้าวคุณภาพดีที่ยังสามารถบริโภคได้ ประมาณ 3 ล้านตัน โดยมีการเปิดประมูลเป็นการทั่วไปแล้วในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาจำนวน 2.86 ล้านตัน มีภาคเอกชนมาประมูลแล้ว 1.3 ล้านตัน ที่เหลืออีกประมาณ 1.5 ล้านตัน ได้ขอมติจาก นบข.ในการเปิดประมูลรอบใหม่ในเดือน พ.ค.นี้

2.ข้าวเสื่อมคุณภาพที่ไม่เหมาะสมกับการบริโภคของคน ซึ่งจะนำเข้าสู่อุตสาหกรรม และได้มีการเปิดประมูลแล้ว 3.66 ล้านตัน โดย มีผู้ประกอบการยื่นเสนอซื้อมา 19 ราย ซึ่งในวันนี้ (23 มี.ค.) เอกชนจะยื่นซองราคาประมูล ซึ่งจะทราบว่าปริมาณและราคาที่เอกชนเสนออยู่ที่เท่าไร ซึ่งอาจจะขายได้ไม่หมด จึงได้ขออนุมัติในหลักการเปิดประมูลรอบใหม่ในเดือน มิ.ย.อีกครั้ง

3.ข้าวที่เสื่อมสภาพมากและเก็บอยู่ในสต็อกเกิน 5 ปี มีจำนวน 1 ล้านตันเศษ ที่จะเปิดประมูลรอบแรกในเดือน เม.ย.เพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรมไม่ใช่อาหารคนและสัตว์ ก็จะเปิดประมูลต่อไป ช่วง พ.ค. - ก.ค. นี้ โดยกรอบการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลส่วนนี้ยังกำหนดเป้าหมายในการระบายให้ได้หมดในปีนี้

“ข้าวส่วนที่เหลือส่วนใหญ่ กลุ่มแรกที่เป็นข้าวคุณภาพยังพอใช้ได้ ไม่มีปัญหา เหลือไม่มาก ตลาดคงรับได้ และจำนวนนี้บริโภคภายในและปรับปรุงส่งออกได้ ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมจำนวนมาก ต้องทยอยออกไปและมีการควบคุมที่เข้มงวด ไม่ให้ข้าวจำนวนนี้ไหลกลับเข้าสู่ตลาดปกติ ซึ่งองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) ได้ทำการชี้แจงต่อสื่อมวลชนแล้วตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมาเคยนำสื่อไปดูแล้วว่าสภาพของข้าวค่อนข้างแย่แล้ว ต้องเร่งระบายไม่ให้ข้าวเสื่อมสภาพมากไปกว่านี้ และพายามไม่ให้เหลือมาก จนส่งผลกดทับตลาดข้าวที่ออกมาในแต่ละฤดูกาลผลิต”

ชี้มีผลขาดทุนแล้ว1.5แสนล้าน

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิจัย เกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ( ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะกรรมการกล่าวว่าการเก็บข้าวที่เสื่อมคุณภาพจากโครงการรับจำนำข้างไว้ในสต็อกของรัฐบาลถือว่าเป็นภาระทั้งในด้านการบริหารจัดการ และเป็นภาระต่อภาษีเพราะต้องนำเงินภาษีไปใช้จ่ายเป็นค่าเก็บสต็อกข้าวเฉพาะค่าดอกเบี้ยคิดเป็นเงินเดือนละกว่า 500 ล้านบาท

ทั้งนี้จากการคำนวณผลการขาดทุนของข้าวที่คงเหลืออยู่ในสต็อกของรัฐบาลประมาณ 8 ล้านตัน ณ วันที่ 31 ม.ค.2560 พบว่าผลการขาดทุนอยู่ที่ 1.547 แสนล้านบาทจึงต้องเร่งรัดการระบายข้าวจำนวนนี้โดยเร็วที่สุดเพื่อลดการขาดทุน

ระบุระบายช้า2ปีมูลค่าหายกว่าครึ่ง

หากสามารถจำหน่ายข้าวในสต็อกออกไปตามคุณภาพข้าวได้ทั้งหมดจะได้เม็ดเงินประมาณ 48,800 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.ข้าวเกรดดีที่ยังสามารถจำหน่ายให้คนบริโภคได้ประมาณ 30,000 ล้านบาท 2.ข้าวเสื่อมคุณภาพที่สามารถใช้เป็นอาหารสัตว์หรือประมูลเข้าสู่อุตสาหกรรมได้ 17,000 ล้านบาท และ3.ข้าวเสียที่ไม่สามารถใข้ในการบริโภคได้ทั้งคนและสัตว์ประมาณ 1,800 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากยังไม่สามารถระบายข้าวออกไปภายในระยะเวลา 24 เดือนมูลค่าของข้าวในสต็อกจะเหลือเพียง 20,000 ล้านบาท โดยมูลค่าของข้าวประเภทที่ 3 จะติดลบเพราะค่าบริหารจัดการและเก็บสต็อกสูงกว่ามูลค่าข้าวที่มีอยู่

“การระบายข้าวคงค้างจากสต็อกของรัฐบาลนอกจากลดภาระเรื่องการบริหารจัดการ ภาระค่าใช้จ่ายที่จะลดลงยิ่งระบายออกไปได้มากก็ยิ่งไม่เป็นภาระภาษีประชาชน ยังทำให้วงจรราคาข้าวกลับสู่ภาวะปกติเพราะไม่มีปัญหาเรื่องสต็อกที่คงค้างจำนวนมากมากดดันราคา”นายนิพนธ์กล่าว

ชี้สต็อกข้าวรัฐกดราคาข้าวเปลือก

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่าสาเหตุที่ราคาข้าวเปลือกที่ไม่สามารถเพิ่มสูงขึ้นได้ตามที่ได้รัฐบาลพยายามทำอยู่ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีสต็อกข้าวอยู่ 18 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งเพียงพอสำหรับส่งออก 2 ปี โดยที่ชาวนาไม่ต้องปลูกข้าว

“ปกติประเทศไทยมีผลผลิตข้าวเฉลี่ยปีละ 20 ล้านตัน สต็อกข้าวจึงกลายเป็นตัวถ่วงราคามาตลอด”
ทั้งนี้ในการประมูลล็อตแรกในกลุ่มข้าวที่ยังบริโภคได้เอกชนสามารถประมูลและส่งออกไปแอฟริกาได้ ซึ่งมีการประมูลไปในรอบแรก1.3 ล้านตัน ส่วนที่เหลือออกประมูลเดือน พ.ค. ก็คาดว่าตลาดจะซื้อได้หมด

ชี้วงจรข้าวกลับสู่ปกติหลังระบายหมด

ร.ต.ท.เจริญ กล่าวว่าข้าวเสื่อมคุณภาพที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมที่อาหารสัตว์และเชื้อเพลิง คาดว่าจะไม่เป็นปัญหาเพราะหากสามารถควบคุมไม่ให้ข้าวไหลกลับเข้าสู่ตลาดปกติ ซึ่งทางสมาคมและกระทรวงพาณิชย์จะร่วมกันดูแลให้ข้าวจำนวนนี้ไปสู่อุตสาหกรรมจริงๆโดยไม่ออกมาปะปนกับตลาดข้าวเพื่อการบริโภค

“จำเป็นต้องเร่งขายข้าวที่ค้างสต็อก เพราะถือเป็นการ ”คัสลอส“ เพราะที่ผ่านมาเสียดอกเบี้ยค่าเก็บข้าว 500 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งไม่คุ้มค่า จำเป็นต้องเร่งขาย แม้ราคาอาจจะได้ไม่ดี แต่ก็ตัดความเสียหายในการเอางบประมาณไปสนับสนุนค่าเก็บข้าว คาดว่าถ้าทำได้หมด วงจรข้าวจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ”

พาณิชย์เร่งหาตลาดส่งออก

ด้านน.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงฯ โดยกรมส่งเสริมการค้าต่างประเทศเร่งดำเนินการหาตลาดต่างประเทศเพื่อผลักดันการส่งออก ซึ่งขณะนี้ได้มีการหารือไว้กับหลายประเทศ ซึ่งเมื่อรวมกับเอกชนด้วย ทำให้เชื่อว่าปีนี้จะส่งออกได้มาก ซึ่งเป้าหมายปีนี้ที่ 10 ล้านตัน

ในส่วนของฟิลิปปินส์ที่ไทยจะเข้าร่วมประมูลขายข้าวให้รัฐบาลฟิลิปปินส์โดยเป็นการขายแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) ซึ่งส่วนนี้คาดว่าจะส่งออกได้2-3แสนตัน จีนเพิ่งเจรจาได้2แสนตัน อิหร่านเอกชนสามารถหาตลาดได้1แสนตัน ญี่ปุ่น2.7หมื่นต้น บังคลาเทศมีกรอบความร่วมมือเดิม1ล้านตัน และอิรักเพิ่งส่งคำเชิญมาให้ไทยไปเสนอราคาให้ ทั้งนี้ แนวโน้มราคาข้าวปีนี้น่าจะดีขึ้นเพราะมีความต้องการของตลาดทั้งส่วนของข้าวหอมมะลิและข้าวขาว

นายกฯสั่งพัฒนาข้าวพรีเมียม

นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายเร่งรัดพัฒนาข้าวคุณภาพสูงหรือข้าวพรีเมียมให้มากขึ้น เนื่องจากจะช่วยให้ส่งออกได้ในราคาที่สูงขึ้น เช่น ล่าสุดที่ไทยมีการพัฒนาข้าวเคลือบวิตามินส่งมาขายได้ตันละ1,700ดอลลาร์ต่อตัน ข้าวหอมมะลิอินทรีย์700-1,000ดอลลาร์ต่อตัน
ตั้งแต่ต้นปีถึงขณะนี้สามารถส่งออกข้าวกลุ่มพรีเมี่ยมได้แล้ว 6 หมื่นตัน

นอกจากนี้ ที่ประชุม นบข. ได้อนุมัติดำเนินการมาตรการข้าวครบวงจร ทั้งการผลิต เก็บเกี่ยว และการพัฒนานวัตกรรม จะต้องเน้นเรื่อ“นาแปลงใหญ่” และ “เกษตรอินทรีย์” โดยเน้นเรื่องคุณภาพและลดต้นทุนการผลิต เพื่อจะได้ให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น

ส่วนประมาณการการผลิตข้าวในปีนี้ คาดว่าการผลิตข้าว 2 รอบจะมีผลผลิตรวมประมาณ 29 ล้านตันข้าวเปลือก แยกเป็นข้าวหอมมะลิ 8 ล้านตัน ข้าวหอมจังหวัด 1.3 ล้านตัน ข้าวหอมปทุม 1 ล้านตัน ข้าวจ้าว 12 ล้านตัน ข้าวเหนียว 6.7 ล้านตัน และอื่นๆอีก 1 แสนตัน