‘ยางพารา’แทรกซึมการแพทย์&ทหาร

‘ยางพารา’แทรกซึมการแพทย์&ทหาร

เฝือกอ่อนกันข้อเท้าตกและหน้ากากป้องกันสารพิษทางทหาร เป็น 2 ตัวอย่างผลงานวิจัยที่ยืนยันว่า ยางพาราสามารถแทรกซึมเข้าสู่ทุกวงการ ไม่เว้นกระทั่งวงการแพทย์และการทหาร

เฝือกอ่อนกันข้อเท้าตกและหน้ากากป้องกันสารพิษทางทหาร เป็น 2 ตัวอย่างผลงานวิจัยที่ยืนยันว่า ยางพาราสามารถแทรกซึมเข้าสู่ทุกวงการ ไม่เว้นกระทั่งวงการแพทย์และการทหาร


“ที่ผ่านมาตัวเลขผลิตภัณฑ์จากยางพารา 80% ส่งออกไปต่างประเทศ ส่วนที่เหลือ 20% แปรรูปในประเทศ ถือว่าเป็นส่วนน้อยที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม จำเป็นต้องใช้งานวิจัยเข้ามาช่วยตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำเพื่อพัฒนาอุตฯยางพาราอย่างยั่งยืน โดยผ่านหน่วยงานของรัฐในการผลักดันความร่วมมือ อาทิ สกว. การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ตลอดจนหน่วยงานด้านความมั่นคง”พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
เฝือกอ่อนจากยางพารา


นายแพทย์นิยม ละออปักษิณ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พัฒนาเฝือกอ่อนจากยางธรรมชาติกันข้อเท้าตก เน้นกลุ่มผู้ใช้ที่มีปัญหาจากอุบัติเหตุ โรคเส้นเลือดในสมองแตก อัมพาตอัมพฤกษ์ ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งต้องการการดูแลฟื้นฟูอย่างใกล้ชิด สามารถตอบโจทย์ในแง่ความสะดวกในการสวมใส่ แข็งแรงคงทนกว่าเฝือกทั่วไป ที่สำคัญราคาไม่แพงหรือเฉลี่ยข้างละ 200 บาท ขณะที่เฝือกแบบเดิมราคา 400-500 บาทต่อข้าง แตกหักได้และไม่กันน้ำ


“อุปกรณ์นี้สามารถใช้แทนเฝือกทั้งการตอบโจทย์กลุ่มที่ต้องการนำไปดูแลผู้ป่วยข้อเท้าตกจากอัมพาต หรือบาดเจ็บที่ข้อเท้าหรือเท้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการยืนจดสิทธิบัตร” นายแพทย์นิยมกล่าวและว่า ทีมวิจัยยังได้พัฒนาต่อยอดเฝือกอ่อนจากยางพาราสำหรับใช้กับผู้ป่วยกระดูกหัก
ยอดเฝือกอ่อนสำหรับผู้ป่วยกระดูกหักมีความคืบหน้าประมาณ 90% ทั้งได้รับการติดต่อจากผู้ประกอบการที่สนใจนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการตลาดที่มีขนาดใหญ่ คุ้มค่าต่อการลงทุน ที่สำคัญสามารถลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย จากเดิมที่ต้องเสียค่าเปลี่ยนเฝือกครั้งละ 1,000 บาท จำนวน 3 ครั้ง สิ่งประดิษฐ์นี้ใช้งานได้ตลอดชีวิต มีขนาดให้เลือกเหมือนรองเท้าและออกแบบลวดลายให้มีสีสันสวยงาม ในอนาคตมีแผนที่จะพัฒนาเฝือกแขน คอและหลัง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค


หน้ากากทหารป้องกันสารพิษ


หน้ากากป้องกันสารพิษทางทหาร ผลงานวิจัยและพัฒนาจากกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้มาตรฐานสากลเหมาะสมกับการใช้งานตามความต้องการของกองทัพ โดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศ หลายปีมาแล้ว ที่ไทยต้องนำเข้าหน้ากากฯ มาใช้ในราคา 3 หมื่นบาท มีอายุการใช้งานประมาณ 10 ปี แต่โดยทั่วไปก็ใช้กันนานเกิน 10 ปี เพราะงบประมาณจำกัด จึงเป็นเหตุผลให้กรมวิทยาศาสตร์ทหารบกหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาหน้ากากฯ ในประเทศ โดยได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) 10 ล้านบาท ระยะเวลา 2 ปี โดยชิ้นงานต้นแบบมีราคาประมาณ 1 หมื่นบาท และมีความคงทนเทียบเท่ากับของนำเข้า คาดว่าในอนาคตจะพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ลดปริมาณการสั่งซื้อจากต่างประเทศ โดยวางแผนผลิต 1 พันชิ้นในปีนี้


ทั้งนี้ สกว.และ การยางฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัย (ปี 2560-2564) การให้ทุนสนับสนุนการวิจัย การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ การประชุม สัมมนาวิชาการ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ปัญหายางพารา โดยการสนับสนุนให้เกิดความสะดวกในการลงทุน มีปริมาณน้ำยางที่มากพอ มีองค์ความรู้จากงานวิจัยและพัฒนาที่จะนำมาใช้ในระบบการผลิตเพื่อให้มีคุณสมบัติที่ดีและตรงกับความต้องการของตลาดและอุตสาหกรรม รวมถึงความคงทนถวารต่อการใช้งานด้านต่าง ๆ ทั้งการแพทย์ การเกษตร และสังคมทั่วไป อีกทั้งส่งเสริมการลงทุนจากทั้งภายในและต่างประเทศผ่านบีโอไอ ตลอดจนการแปรรูปยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะส่งผลต่ออุตฯ ยางพาราและเกษตรกรผู้ปลูกยาง