ไลน์มุ่ง ‘โมบาย พอร์ทัล’ เสิร์ฟดิจิทัลครบวงจร

ไลน์มุ่ง ‘โมบาย พอร์ทัล’  เสิร์ฟดิจิทัลครบวงจร

โชว์วิสัยทัศน์ธุรกิจปี 2560 สยายปีกสู่ “โมบาย พอร์ทัล” รวมทุกบริการบนดิจิทัลไว้ในที่เดียว ชูไทยตลาดสำคัญเบอร์ 2 เดินหน้าบุกเบิกบริการใหม่ เสริมแกร่งคอนเทนท์ ขยายฐานพันธมิตร ตั้งเป้าปี 60 ผงาดเบอร์ 1 นิวส์พอร์ทัลในไทย

จากจำนวนผู้ใช้ไลน์ในไทย 33 ล้านคนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ล่าสุดไลน์ประกาศยอดผู้ใช้งานเพิ่มเป็น 41 ล้านคน เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากญี่ปุ่น ด้วยสถิติปัจจุบันคนไทยใช้ไลน์ต่อวันเฉลี่ยถึง 70 นาที หรือ 1 ใน 3 ของเวลาการใช้สมาร์ทโฟนทั้งหมด ขณะที่ ไลน์พยายามวางโพสิชั่นของตัวเองใหม่จาก “แชท แพลตฟอร์ม” สู่ “โมบาย พอร์ทัล” โดยที่ผ่านมาไลน์ขยายบริการใหม่มากมาย ดึงพันธมิตรธุรกิจเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นข่าวสารด้านหุ้น การเงิน ข่าวทั่วไป บริการส่งของ อีคอมเมิร์ซ อีเพย์เม้นท์ ไลน์ทีวี ยังไม่นับรวมยอดโหลด “สติกเกอร์” ที่ได้รับความนิยมสูงมากกว่า 500 ล้านชุด การประกาศยุทธศาสตร์ของไลน์ในไทยปีนี้จึงน่าจับตามองยิ่งนัก

ขยายธุรกิจคลุมทุกมิติ

นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ ไลน์ ประเทศไทย กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจปี 2560 มุ่งสู่การเป็น “โมบาย พอร์ทัล” เกตเวย์สู่การบริการบนโลกอินเทอร์เน็ต ครอบคลุมทุกมิติของการใช้ชีวิต ทั้งการติดต่อสื่อสาร คอนเทนท์ บริการ และคอมเมิร์ซ

“เราวางตำแหน่งเป็นพันธมิตรที่เข้าไปช่วยนักโฆษณา นักการตลาด สื่อ ธุรกิจค้าปลีก และสตาร์ทอัพ พร้อมตอบสนองความต้องการผู้ใช้ชาวไทยในฐานะศูนย์กลางของทุกบริการที่มีประโยชน์ พร้อมเปลี่ยนให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้น”

ทั้งนี้ ต่อยอดจากกลยุทธ์ปี 2559 ที่ต้องการเป็นมากกว่าแชท สานต่อความสำเร็จของธุรกิจอย่างสติกเกอร์ เชื่อมต่อข้อมูล ผู้ใช้ และบริการให้ใกล้กันมากขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

นายอริยะ กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศโมบายเฟิร์ส (Mobile First Country) มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือสูงถึง 44 ล้านคน หรือประมาณ 2 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ สัดส่วนการเข้าถึงสมาร์ทโฟน 77% กล่าวได้ว่า โทรศัพท์มือถือเป็นศูนย์กลางของโลกดิจิทัล และคนไทยเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตครั้งแรกผ่านทางสมาร์ทโฟนมากกว่าคอมพิวเตอร์

ปัจจุบันไลน์มีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 217 ล้านราย โดยไทยเป็นประเทศที่มีความสำคัญลำดับที่ 2 รองจากญี่ปุ่น ด้วยจำนวนผู้ใช้งานกว่า 41 ล้านราย หรือ คิดเป็นสัดส่วน 94% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือทั้งประเทศ

สร้างบริการใหม่ใหญ่เทียบแชท

“ปีนี้คาดว่าจำนวนผู้ใช้คงไม่เติบโตแบบก้าวกระโดดอีกแล้ว โจทย์สำคัญ คือ ทำให้ผู้ใช้งานใช้เวลากับไลน์มากขึ้น และทำอย่างไรที่จะสร้างบริการอื่นๆ ให้ใหญ่เทียบเท่ากับแชท ทุกวันนี้อยู่ในยุคที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ดังนั้นบริษัทไม่อาจอยู่นิ่งได้”

บริการหลักๆ ของไลน์ประกอบด้วย เกมบนมือถือ, คอนเทนท์-ไลน์ทีวี ไลน์ทูเดย์, เพย์เมนท์-ไลน์เพย์ โอทูโอ(Online to Offline)-ไลน์แมน ขณะที่บริการใหม่ที่จะบุกเบิกปีนี้ประกอบด้วย “แชทบอท(Chat BOT)” บริการข้อมูลด้านการเงิน หุ้น ร้านอาหาร และบริการเรียกรถยนต์

นายอริยะ กล่าวว่า ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นถูกสร้างขึ้นกว่า 2.2-2.6 ล้านแอพพลิเคชั่น ทว่าจำนวนแอพพลิเคชั่นเฉลี่ยที่คนส่วนใหญ่ดาวน์โหลดมีเพียง 32 แอพพลิเคชั่นต่อหนึ่งอุปกรณ์ ยิ่งไปกว่านั้นมีเพียง 3-5 แอพพลิเคชั่นที่ถูกใช้งานจริงในแต่ละวัน ด้วยเหตุนี้ไลน์จึงคิดพัฒนาแชทบอทขึ้นมา เพื่อใช้เข้าถึงบริการต่างๆ ภายในที่เดียวโดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเพิ่มเติม

ขณะที่ความเป็นไปได้ที่จะต่อยอดบริการข้อมูลทางการเงินไปสู่การซื้อขายหุ้นนั้น อยู่ระหว่างการศึกษาตลาดและพิจารณาโมเดลธุรกิจที่เหมาะสม

ดันโลเคชั่นเบสลุยอีคอมเมิร์ซ

นอกจากนี้ เตรียมนำเทคโนโลยีบอกพิกัดตำแหน่ง “บีคอน(Beacon)” สำหรับธุรกิจค้าปลีก เข้ามาทำตลาด ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตร แต่คาดว่าจะได้เห็นในปีนี้แน่นอน ด้วยอีคอมเมิร์ซยังมีสัดส่วนที่เล็กมากเพียง 3.8% ของมูลค่าค้าปลีกทั้งหมด ไลน์จึงมองเห็นโอกาสในการเชื่อมต่อโลกออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งร้านค้าต่างๆ สามารถติดตั้งบีคอน เพื่อให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์และมอบคูปองโปรโมชั่นต่างๆ เมื่อมาใช้บริการ

“ปีนี้เราจะเน้น ไลน์ทีวี ไลน์ทูเดย์ และไลน์แมน พร้อมรักษาฐานตลาดบีทูบี ไลน์ไม่ได้ต้องการเข้าไปปฏิวัติสื่อหรือธุรกิจดั้งเดิม แต่ต้องการพาพันธมิตรไปสู่โลกออนไลน์”

ตั้งเป้านิวส์พอร์ทัลอันดับ1ไทย

อย่างไรก็ตาม การทำรายได้ของไลน์ประเทศไทยหลักๆ มาจาก เกม สติกเกอร์ บริการโฆษณาสำหรับธุรกิจ(บีทูบี) ส่วนแหล่งรายได้ใหม่ เช่น ไลน์ทีวี ส่วนไลน์ทูเดย์ จะเริ่มสร้างรายได้ในไตรมาส 2 ปีนี้ ตั้งเป้าไว้ด้วยว่าภายในสิ้นปีนี้ต้องการเป็นนิวส์พอทัลบนมือถืออันดับ 1 ของประเทศไทย

อีกสถิติที่น่าสนใจ เมื่อปี 2559 ไลน์เป็นแอพที่สามารถทำรายได้เป็นอันดับ 1 ในทุกระบบปฏิบัติการ ครองอันดับ 1 ตลาดเกมบนโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย

เฉพาะปีที่ผ่านมา ยอดดาวน์โหลดสติกเกอร์ทั้งฟรี และเสียเงินในไทยสูงกว่า 500 ล้านชุด นับเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ โอกาสเติบโตสูง ขณะนี้ในไทยมีครีเอเตอร์มีอยู่กว่าแสนราย บางรายมีรายได้เดือนละกว่าแสนบาท

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของความสำเร็จไลน์ทีวี เทียบปีที่ผ่านมา ยอดวิวเพิ่มขึ้น 136% ซีรีส์หลายเรื่องสร้างปรากฏการณ์ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ส่วนปีนี้เตรียมสร้างสีสันด้วยการเปิดตัวคอนเทนท์กลุ่มใหม่กีฬาและความงาม เพิ่มเติมจากละคร บันเทิง เพลง แอนิเมชั่น และถ่ายทอดสด พร้อมขยายพันธมิตรรายใหม่

ส่วนบริการใหม่อย่างไลน์แมน ซึ่งประกอบด้วยแมสเซนเจอร์ สั่งซื้ออาหาร และของสะดวกซื้อ แม้เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อ พ.ค.2559 ทว่ามีผู้ใช้งานสูงถึง 400,000 คนต่อเดือน จำนวนร้านอาหารมากกว่า 20,000 ร้าน มีตั้งแต่สตรีท ฟู้ด ไปจนถึงภัตตาคาร ส่งผลให้ขึ้นสู่อันดับ 1 บริการส่งอาหารในไทยภายในระยะเวลาไม่ถึงปี

นอกจากนี้ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งใน “Best Brand” ได้รับคัดเลือกให้เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่คนอยากทำงานด้วยเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย

คนไทยใช้ไลน์ 70 นาทีต่อวัน 

ผลสำรวจโดยนีลเส็น พบว่า คนไทยใช้เวลาเฉลี่ยบนสมาร์ทโฟน สูงถึง 234 นาทีต่อวัน โดย 1 ใน 3 ของเวลาการใช้งานสมาร์ทโฟน หรือประมาณ 70 นาทีต่อวันถูกใช้บนแพลตฟอร์มไลน์

ปัจจุบัน คอนเทนท์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวีดิโอ เพลง และสิ่งพิมพ์ ต่างถูกย้ายมาอยู่บนโลกออนไลน์ โดยคนไทยใช้เวลาดูวีดิโอออนไลน์สูงถึง 133 นาทีต่อวัน หรือคิดเป็น 2 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 65 นาทีต่อวัน ที่น่าสนใจ มากกว่า 90% ดูวีดิโอผ่านโมบาย

ข้อมูลสมาคมโฆษณาดิจิทัล ชี้ว่างบโฆษณาบนช่องทางดิจิทัลจะเติบโตขึ้นกว่า 30% ในปีนี้ไลน์ คาดว่าจะทำได้ดีเทียบเท่าหรือมากกว่าภาพรวมตลาด

พร้อมระบุว่า เอเชียเป็นตลาดปราบเซียนซึ่งแต่ละประเทศมีความเอกลักษณ์เฉพาะตัว วัฒนธรรม ศาสนา สร้างความต่างและความหลากหลายในพฤติกรรมผู้บริโภค แต่ทั้งนี้ด้วยไลน์เป็นบริษัทสัญชาติเอเชียจึงเชื่อว่ามีความเข้าใจตลาดเป็นอย่างดี

พร้อมปฏิบัติตามกม.ภาษีไทย

นายอริยะ ยังได้กล่าวถึงประเด็นภาษีธุรกิจออนไลน์ด้วยว่า ไลน์พร้อมปฏิบัติตามกฏระเบียบรวมถึงมาตรการทางภาษีที่รัฐบาลไทยกำหนด ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างการนำส่งรายได้ให้เหมาะสมกับกฎหมายไทย