ส่งหมายเรียกเก็บภาษี 'ทักษิณ'

ส่งหมายเรียกเก็บภาษี 'ทักษิณ'

สรรพากรเตรียมออกหมายเรียกเก็บภาษี "ทักษิณ" ภายในสิ้นมี.ค.นี้ ยันยึดหลักกฎหมาย-ประโยชน์แผ่นดิน ลั่นไม่จ่ายเจ้าหน้าที่มีอำนาจสืบทราบและยึดทรัพย์

วานนี้ (15 มี.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มีการหารือกับนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ถึงแนวทางการเรียกเก็บภาษีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)ในปี 2549 หลังจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา

นายวิษณุ กล่าวว่ากรมสรรพากรได้มารายงานความคืบหน้าการประเมินภาษีขายหุ้นชินคอร์ป ซึ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยกรมสรรพากรจะประเมินภาษีก่อนหมดอายุความในวันที่ 31 มี.ค.

“ในขั้นตอนจะมีการแจ้งให้นายทักษิณได้ทราบว่าต้องชำระเสียภาษีเท่าใด และหากไม่เสียภาษีก็ต้องเสียค่าปรับ”
นายวิษณุ กล่าวว่าการประเมินภาษีของนายทักษิณจะต้องดำเนินการด้วยความถูกต้องก่อนอายุความ 10 ปียุติลง และกระบวนการเรียกเก็บภาษีจะเริ่มนับหนึ่งใหม่ ไปอีก 10 ปี

"การส่งหนังสือให้รับทราบเพื่อเสียภาษีนั้น ไม่ขอบอกว่าจะส่งไปที่ไหน”

เผยรู้สาเหตุเจ้าหน้าที่ไม่ยอมประเมิน

นายวิษณุ กล่าวว่าหากนายทักษิณไม่ยอมจ่ายภาษี ก็ยังมีโอกาสยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการประเมินภาษีได้ภายใน 30 วัน ซึ่งขณะนี้กรมสรรพากรได้มีความพร้อมในการประเมินภาษีอยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลไม่อยากจะตั้งธงว่าต้องชนะคดี แต่ขอให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และในคดีนี้จะไม่มีการออกกฎหมายเพื่อมาคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐไม่ไห้ถูกฟ้องกลับเหมือนคดีจำนำข้าว ที่ใช้มาตรา 44 ช่วยเจ้าพนักงานในการปฎิบัติหน้าที่

“การดำเนินการเรื่องนี้รัฐบาลใช้กฎหมายปกติในการดำเนินการ และปฎิเสธว่าไม่ได้ใช้อภินิหารของกฎหมายแล้วทำให้รัฐได้เปรียบ แต่ประเมินแล้วว่า ยังมีช่องทางที่พอจะเสี่ยงและหาทางออกได้ โดยทำตามกระบวนการที่มีอยู่ และดำเนินการด้วยความรอบคอบ” นายวิษณุ กล่าว

ส่วนการตั้งคณะกรรมการสอบเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรนั้น นายวิษณุ กล่าวว่ามีการตั้งคณะกรรมการสอบมาตั้งแต่เดือน ธ.ค.2559 แล้ว ซึ่งการสอบสวนต้องใช้เวลา เพราะต้องรอฟังข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปี 2550-55 โดยยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ไม่ปฎิบัติหน้าที่ก็ถือว่าทำไม่ถูกต้อง

“รับทราบเหตุผลที่ก่อนหน้านี้กรมสรรพากรไม่ได้ประเมินภาษีแล้วมี 3 ประเด็น แต่ไม่ขอเปิดเผย”

สรรพากรยันทำทันก่อนหมดอายุความ

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่าขณะนี้ กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการดำเนินตามมติคณะรัฐมนตรีที่สั่งการให้กรมฯไปดำเนินการจัดเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)โดยกรมสรรพากรจะต้องพิจารณาในแง่กฎหมายให้มีความรอบคอบ

นายประสงค์ กล่าวว่าขั้นตอนยังไม่สามารถเปิดเผยในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวได้ เพราะตามประมวลกฎหมายสรรพากรมาตรา 10 มีข้อห้ามเรื่องการเปิดเผยข้อมูลผู้เสียภาษี หากเปิดเผยจะถือว่ามีความผิด

“การพิจารณาเรื่องนี้ กรมฯจะยึดหลักการดำเนินการภายใต้กฎหมายที่สามารถดำเนินการได้ และ รักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นอายุความในวันที่ 31 มี.ค.นี้”

ชี้ยึดทรัพย์หากไม่เสียภาษี

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรเปิดเผยว่าขั้นตอนการเรียกเก็บภาษีจากนี้ไป กรมสรรพากรจะมีการประเมินภาษีที่เรียกเก็บทั้งหมด จากนั้นจะออกหมายเรียกเก็บภาษีจากนายทักษิณ

“การออกหมายเรียกเก็บ ต่างจากหมายศาล โดยสามารถส่งไปที่ไหนก็ได้ให้รับทราบหรือประกาศทางหนังสือพิมพ์ก็ได้ จากนั้นหากยังไม่มีการชำระตามที่กำหนดไว้ ทางเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรก็มีหน้าที่สืบทรัพย์ของผู้เสียภาษีว่ามีอยู่ที่ไหนบ้าง และขายทอดตลาดเพื่อนำมาชำระภาษี”

สรรพากรใช้ข้อมูลเดิมประเมิน

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรเปิดเผยว่า กรมฯจะอิงคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อประเมินภาษีทักษิณ ในธุรกรรมการการขายหุ้นชินคอร์ป

ทั้งนี้ การรื้อคดีการขายหุ้น ดังกล่าว เป็นการดำเนินคดีภายใต้ คดีเดิม ที่กรมสรรพากร ได้เคยออกหมายเรียกประเมินภาษีนายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร บุตรของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2550 แต่คนทั้งสอง ได้ยื่นฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลาง เพื่อให้กรมสรรพากร ถอนการประเมิน

อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมือง ได้ตัดสินยึดทรัพย์พ.ต.ท.ทักษิณ โดยทรัพย์ส่วนหนึ่งนั้น อยู่ในคดีภาษีดังกล่าว ซึ่งต่อมาศาลภาษีอากรกลางได้ใช้คำตัดสินของศาลฎีกา ที่ระบุว่า ทรัพย์นั้นไม่ใช่ของนายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ทำให้ทั้งสองไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีจากการซื้อหุ้นดังกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า การดำเนินคดีใหม่ ในคดีภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้นชินคอร์ปดังกล่าว จะอยู่บนข้อมูลเดิม โดยอิงคำพิพากษาของศาลฎีกาและเปลี่ยนชื่อคนที่ถูกประเมินใหม่ เป็นพ.ต.ท.ทักษิณ

สำหรับการออกหมายเรียกเพื่อประเมินภาษีจากพ.ต.ท.ทักษิณนั้น กรมฯไม่สามารถออกหมายเรียกได้ เนื่องจากพ้นกำหนด 5 ปี ในปี 2555แล้ว

สำหรับวิธีการประเมินภาษีจากนายทักษิณนั้น ยังคงประเมินจากการที่แอมเพิลริชได้ขายหุ้นชินคอร์ปในราคา 1 บาท ให้แก่นายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ซึ่งเป็นนอมินีของพ.ต.ททักษิณ ขณะที่ราคาตลาด ณ วันที่ขายนั้น อยู่ที่ 49.25 บาท มีผลต่างที่เป็นประโยชน์ต่อนายทักษิณ 7.94 พันล้านบาท ซึ่งกรมสรรพากร ในขณะนั้น ประเมินภาษีบวกค่าปรับ จากพานทองแท้ เป็นเงิน 5.90 พันล้านบาท และพิณทองทาเป็นเงิน 5.67 พันล้านบาท รวมเป็นเม็ดเงินที่ต้องจ่าย 1.15 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาที่ผ่านมาถึง 10 ปี เมื่อรวมดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากภาระหนี้ภาษีก้อนนี้ ทำให้ ผู้ถูกประเมินภาษีต้องจ่ายเป็นเงินในปัจจุบัน 1.6 หมื่นล้านบาท

จ่อเอาผิดเจ้าหน้าที่ช่วงประเมินภาษี

แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำให้รัฐเสียหาย ตามมาตรา 157 ของกฎหมายอาญา ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้รัฐเสียหาย จะดำเนินคดีกับบุคคล ที่อยู่ในช่วงของการประเมินภาษีในคดีนี้

ทั้งนี้ นายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร เป็นผู้เซ็นอนุมัติไม่ยื่นอุทธรณ์ในคดีนี้ และเป็นคนเซ็นยุติเรื่องการประเมินภาษีในกรณีนายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ทั้งๆที่น.ส.สุภา ปิยะจิตติ อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ในขณะนั้น ได้แทงหนังสือให้กรมสรรพากรดำเนินการต่อคดีนี้ต่อไปก่อนที่จะหมดอายุความในการออกหมายเรียกประเมินภาษีในปี2555

คลังชี้รัฐเสียหายมีความผิดทางวินัย

ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อสอบข้อเท็จจริงกรณีที่กรมสรรพากรไม่มีการจัดเก็บภาษีกาาซื้อขายหุ้นในบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตามที่สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ตั้งคำถามมา โดยได้ตั้งคณะกรรมการชุดนี้มาเป็นระยะเวลาร่วม 2 เดือนแล้ว ส่วนระยะเวลาการสอบขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง

นายสมชัย กล่าวว่ากรอบการพิจารณาจะดูในประเด็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า กรณีดังกล่าวได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐหรือไม่ มีบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการพิจารณาตัดสิน ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการสอบสวนทางวินัย หากพบว่า การกระทำดังกล่าว ได้สร้างความเสียหายต่อรัฐ