หลังพวงมาลัย โชเฟอร์สายสตรอง

หลังพวงมาลัย โชเฟอร์สายสตรอง

สำรวจความเป็นไปหลังพวงมาลัยอูเบอร์ ในวันที่ยุทธการดัก-จับ-ปรับ กำลังเข้มข้น

ในประเทศไทยชัดเจนว่า หากผู้ใดให้บริการเป็นแท็กซี่อูเบอร์ (UBER) ถือว่าพวกเขากระทำผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 เพราะใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียน การไม่ใช้มาตรวัดค่าโดยสารตามที่ราชการกำหนด ไม่มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ กระทั่งไม่เคยผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และเข้าสู่ระบบทะเบียนของศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะ

ชัดขนาดนี้ แต่ทำไมยังได้รับความนิยม?... นั่นเพราะการให้บริการแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่นนี้คือทางเลือกของการให้บริการที่มีคุณภาพ เหมาะสมทั้งราคาและบริการ

“ไม่ต้องฟังข้ออ้างว่าไปส่งรถ หรือขอไปเติมแก๊สก่อน” ผู้โดยสารขาประจำคนหนึ่งสรุปง่ายๆ พร้อมกับยืนยันว่า จะใช้บริการต่อ

เมื่อความต้องการยังไม่ลด เวลาเดียวกับที่ความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่กำลังเพิ่มเป็นทวีคูณ ทั้ง ดัก-จับ-ปรับ นี่จึงเป็นเรื่องราวหลังพวงมาลัยอีกมุม

LINE Uber ชุมชนคนขับ

ไม่ได้ขอเข้าข้างใครหรือเชียร์ฝ่ายใดให้ฝืนกฎหมาย แต่เท่าที่สังเกตการณ์อยู่ในกรุ๊ป LINE Uber พอได้ข้อสรุปว่า จะเป็นโชเฟอร์ขาประจำ หรือขาจร Part-Time ไม่มีใครอยากฝ่าฝืน ถูกตามจับ แต่ต้องหาทางหลบเลี่ยงขับต่อเพราะลงทุนไปแล้ว และนี่คือแหล่งรายได้ที่ 2 ที่ตัวเลขงดงาม

“ผมไม่อยากต้องหลบแบบนี้นะ อยากให้เจ้าของอูเบอร์คุยกับขนส่งสักที จะเอายังไงกันแน่ ข่าวล่อซื้อ ตั้งด่านค้นจะจบไปเสียที” โชเฟอร์ Full-Time คนหนึ่งพูด

ระหว่างที่แผนซ้อนแผนของเจ้าหน้ากรมขนส่งยังดำเนินไป อีกด้านหนึ่งใน LINE กรุ๊ป และ Facebook ของชุมชนคนขับอูเบอร์ก็มอนิเตอร์ความเป็นไปอยู่ตลอดเช่นกัน

เปรียบเป็นการแก้เกมระหว่างตำรวจกับผู้ร้ายก็ไม่ผิด จะต่างกันตรงที่ว่า เกมนี้ไม่มีใครคือตัวร้ายแบบชัดๆ ฝั่งคนขับก็ไม่ได้เป็นโจรโดยสันดาน ส่วนคนดูและผู้โดยสารอย่างเราๆ ก็ไม่ต่างจาก 'ตัวประกัน' ที่ยังกังขาถึงการแก้ปัญหา หวังจะเห็นทางออกสมกับอยู่ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม แบบเดียวกับที่ “อูเบอร์” (Uber) และ “แกร็บ” (Grab) ทำ

คนขับอูเบอร์รู้ดีถึงเบอร์สายด่วนกรณีต้องการคำแนะนำเมื่อถูกจับ เส้นทางไหนปลอดภัย จุดเฝ้าระวัง เบอร์แปลกปลอม กระทั่งการแชร์ข้อมูลต่อๆ กันว่า หากถูกจับและปรับ 2,000 บาทครั้งแรก ให้อัพโหลดใบเสร็จค่าปรับมา ทางอูเบอร์จะชดเชยค่าเสียหายให้

“สุวรรณภูมิขาเข้าสนามบินโดนตรวจทุกคันระวังกันด้วย”

“หลานหลวงเลยแยกจักรพรรดิพงษ์ด่านใหญ่มาก”

“ดึกแล้ว ด่านเลิก ออกมาขับกันได้”

“กลัวจังเลยว่าจะใช้ ม.44 จัดการ” "จับแค่อูเบอร์นะ แต่ Grab ไม่” คือตัวอย่างข้อความ Chat ที่อยู่ในกรุ๊ปตลอดทั้งวัน

โต้ง โชเฟอร์แท็กซี่อูเบอร์ บอกว่า ตนเคยขับแท็กซี่ป้ายเหลืองมาก่อน และเมื่อลองขับอูเบอร์พบว่ามีรายได้ดีกว่า สามารถวางแผนการทำงานได้ด้วย เพราะไม่ต้องตระเวนหาผู้โดยสารให้สิ้นเปลืองพลังงาน ทั้งยังสามารถประเมินพฤติกรรมผู้โดยสารผ่านดาวเครดิต และปัจจุบันนี้สามารถหาเช่ารถขนาดบุคคลทั่วไป 4 ประตูได้ในราคา 600-800 บาทต่อวัน ซึ่งมีราคาสูสีกับค่าเช่าแท็กซี่แบบปกติที่อยู่ระหว่าง 700-900 บาท

โปรโมชั่นอูเบอร์ยังช่วยให้คนขับมีรายได้เพิ่มในแต่ละช่วงวัน เช่น หากขับเข้าไปยังพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน ซึ่งกำลังมีความต้องการผู้โดยสารมาก จะได้ค่าโดยสาร 1.3-1.8 เท่า จากค่าโดยสารปกติ(บางทีอาจสูงถึง2-3เท่า ตามระดับความเข้มของสีแดง ซึ่งหมายถึงมีความต้องการมาก) หากขับถึงจำนวนรอบที่โปรโมชั่นระบุก็จะได้โบนัสเพิ่ม ขณะที่ยอดรายรับทั้งหมดจะถูกหักค่าดำเนินการ 25% แต่นั่นก็คุ้มกว่าอยู่ดี เมื่อเทียบกับรับจ้างวิถีเก่าที่ต้องอาศัยความขยัน-ถึก-ทน –ดวงดี และมีวิธีเจรจากับผู้พิทักษ์กฎหมาย

 “คุณไปดูคนขับรถรุ่นใหม่ๆ พวกเขาใช้แอพพลิเคชั่นช่วยหาผู้โดยสารกันหมด เพราะขืนใช้วิธีขับไปเรื่อยๆ แบบเดิม มันขาดทุนแน่นอน ในความคิดผมคนรวยอาจเป็นเจ้าของอู่แต่ไม่ใช่คนขับ ต่อให้มีโปรโมชั่นเช่า 7 วันฟรี 1 วัน มันก็ไม่ไหวแล้ว ขับรถหลายวันมันเหนื่อยก็ต้องพัก ขับแบบเดิมไม่เวิร์คก็ต้องหาทางออก ผู้โดยสารก็เช่นกัน บางทีค่าโดยสารไม่ได้ถูกกว่ากันเลยนะ แต่เพราะแบบเก่ามันไม่ได้ทำให้เขาสะดวกขึ้น ทุกคนต้องหาบริการแบบใหม่ๆ ที่สนองความต้องการตัวเองมากกว่า” โชเฟอร์รายนี้พูด พร้อมๆ กับโชว์ข้อความแจ้งระวังเบอร์โทรศัพท์ที่ส่งต่อกันมาในกรุ๊ป

 “เบอร์นี้ไม่ใช่ผู้โดยสาร แต่เป็นเจ้าหน้าที่ล่อซื้อ ผมไม่ไปหรอก” เขาพูดทิ้งท้าย

คิดจะขับต้อง“รู้”

ถ้านักเดินป่าต้องรู้ว่า เส้นทางเดินใดจะไม่พลาดชมธรรมชาติ และยังคงความปลอดภัยของคณะเดินทาง คนขับรถอูเบอร์ก็เช่นกัน หากคิดจะหากินต่อไป พวกเขาต้องรู้ว่าที่ใดปลอดภัย พฤติกรรมใดควรหลีกเลี่ยง และข้อควรระวังตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาสามารถรวบรวมได้ดังนี้

สนามบิน ถิ่นอันตราย…ใช่แล้วนี่คือที่ที่อันตรายที่สุด ก่อนที่จะปรากฏเป็นข่าวดังตลอดสัปดาห์ ฝั่งผู้โดยสารขาออกเคยเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพราะยากที่ใครจะมาเปิดประตูถามเมื่อรถมาส่งผู้โดยสาร แต่วันนี้มันไม่ใช่อีกต่อไปแล้วเพราะเจ้าหน้าที่ดักตรวจทั้งขาออกและขาเข้า และวิธีการอย่างหนึ่งที่โชเฟอร์เอาตัวรอด คือการให้ผู้โดยสารนั่งหน้าแทนการแบ่งหน้า-หลังแบบผู้ให้และผู้รับบริการ เพื่อ“เนียน”ให้ได้ว่านี่คือการมาส่งเพื่อนจริงๆ

ขตขาใหญ่ต้องระวัง…คิดจะวนมารับในโรงแรม, ใกล้คอนโด ในเมืองท่องเที่ยวอย่างพัทยา, เชียงใหม่,ห้างสรรพสินค้าดังต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะพื้นที่นี้มีขาใหญ่คุมวินที่ต้องระวังคูณสอง

โชเฟอร์อูเบอร์คนหนึ่ง ยืนยันว่า คนขับรถต้องนัดแนะกับผู้โดยสารให้ดี ไม่ว่าจะเป็นจุดที่จะขึ้น, ความพร้อมของสัมภาระ ที่ดีที่สุดคือผู้โดยสารต้องพร้อมขึ้นรถทันทีเมื่อผู้ขับเดินทางมาถึง นั่นเพราะหากเสียเวลาวนหาที่จอด หรือจอดรถคอยพร้อมๆ กับหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาพูดกันบ่อยๆ นั่นก็อาจจะถูกคนจัดคิวเดินมาเคาะกระจกถามเอาได้ ทั้งนี้แน่นอนว่า พวกเขาไม่สามารถเอาผิดอะไรกับคนขับได้ในตอนนั้น เพราะแขกของโรงแรมเป็นคนเรียกอูเบอร์เข้ามาเอง แต่ความน่ากลัวอยู่ที่ครั้งต่อไปที่พวกเขาจะเรียกอูเบอร์มารับตรงที่เดิม แล้วติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อจัดแผนล่อซื้อ โดยที่โชเฟอร์ชะล่าใจเพราะเคยรับผู้โดยสารที่จุดนี้มานับครั้งไม่ถ้วน

ชื่อและเบอร์โทร…จดจำชื่อและเบอร์โทร ของผู้โดยสาร “ตัวจริง”ให้ได้ และ “อ่าน”ให้ออกว่าเบอร์นี้ คือเบอร์ของใครกันแน่ ระหว่างการล่อซื้อกับเบอร์ของลูกค้าตัวจริง โดยโชเฟอร์ที่ “เป็นงาน” จะพิจารณาจากชื่อที่จดทะเบียน และเบอร์โทรศัพท์ที่โทรเข้ามา หากเป็นเบอร์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศก็จะยิ่งดี เพราะนั่นหมายถึงคุณจะได้ผู้โดยสารที่เป็นชาวต่างชาติจริงๆ ไม่ใช่คนไทยที่ปลอมชื่อเป็นต่างชาติ แต่โทรออกด้วยเบอร์จดทะเบียนในประเทศไทย ทั้งๆ ที่เพิ่งลงสนามบิน

สังเกตดาวเครดิต...คนขับอูเบอร์คนหนึ่งเคยสอนวิธีการตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่มีเครดิต 5 ดาวในแอพฯอูเบอร์ มักเป็นลูกค้าที่เพิ่งสมัครใหม่ ซึ่งอาจตีความได้ว่า เขาอาจเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งเพิ่งสมัครใช้บริการหาข้อมูล มากกว่าจะเป็นผู้โดยสารทั่วๆ ไป ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วมักจะมีเครดิตอยู่ในระดับ 3-4 ดาว ที่เป็นค่าเฉลี่ยของผู้ใช้บริการทั่วๆ ไป นั่นเพราะเป็นธรรมดาที่ดาวเครดิตจะลดลงไปบ้างเมื่อมีการใช้งานบ่อยครั้งขึ้น

“ยังมีอีกเยอะ ที่เป็นเทคนิคการเลือกรับลูกค้าในช่วงนี้ และผมยังบอกไม่ได้ สถานการณ์ตอนนี้อันตรายมาก เราต้องระวังมากที่สุด” โชเฟอร์อีกรายบอก

อูเบอร์ไทย เอาไงดี

ตอนที่เรื่องราวปัญหาของอูเบอร์ จำกัดแค่ที่เชียงใหม่ และในกรุงเทพเพียงไม่กี่ราย อูเบอร์ส่งอีเมล์ตอบคำถาม “จุดประกาย” ว่า พวกเขายืนยันที่จะดำเนินการต่อไป เพื่อให้เป็นทางเลือกหนึ่งของการเดินทาง

ส่วนสื่อสารอูเบอร์ ประเทศไทย ชี้แจงว่า อูเบอร์ ได้เข้าหารือและชี้แจงกับกรมการขนส่งทางบกมาโดยตลอดว่าอูเบอร์ไม่ใช่บริการรถแท็กซี่ แต่เป็นรูปแบบบริการใหม่ที่เรียกว่าบริการร่วมเดินทาง (Ridesharing) ซึ่งกฎหมายในปัจจุบันยังไม่ได้รองรับการให้บริการรูปแบบนี้ที่พึ่งพาเทคโนโลยีผ่านแอพพลิเคชั่น และมีความแตกต่างจากการให้บริการขนส่งสาธารณะ ทำให้อูเบอร์ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นรถสาธารณะได้

เฉลิมพล จอนห์ โคลลินส์ ที่ก่อตั้งแคมเปญ “ร่วมกันผลักดันแก้ไขกฎหมายรถร่วมบริการอย่าง Uber และ GrabCar ให้ถูกกฎหมาย” ใน www.change.org มองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้คือการมองต่างมุมของข้อกฎหมาย และผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่อย่างไรก็ดีทั้งอูเบอร์และกรมขนส่ง ต้องหาข้อยุติให้ได้ เพื่อประโยชน์ของประชาชน

“ต้องหาทางออกให้ได้ว่าจะทำให้พวกเขาถูกกฎหมายได้อย่างไร หรือถ้ายืนยันว่าอย่างไรก็ผิด ก็ต้องเปลี่ยนคำถามมาว่า แล้วจะทำอย่างไรให้ขนส่งมวลชน หรือแท็กซี่ที่มีอยู่พัฒนาคุณภาพให้ได้ ผมเชื่อว่าถ้ามีบริการที่ดีนอกจากมีผลในเรื่องเศรษฐกิจแล้ว ทุกคนจะเลิกใช้รถส่วนตัว และแก้ปัญหาจราจรได้อีกทางหนึ่ง”

แต่ถ้ากี่ปีก็ยังเหมือนเดิม จะกี่ครั้งก็ยัง ขอส่งรถ-ไปเติมแก๊ส-พูดห้วนๆ-ขับห้าวๆ แบบไม่แคร์ผู้โดยสาร

พอหมดจากดัก-จับ-ปรับอูเบอร์ ก็จะมีเจ้าใหม่มาให้ไล่ตามอีก