"ปากบารา" เมื่อ "ท่าเรือ" สวนทาง "อนุรักษ์"

"ปากบารา" เมื่อ "ท่าเรือ" สวนทาง "อนุรักษ์"

มองหาจุดร่วมระหว่าง “โครงการหมื่นล้าน” กับ “ทรัพยากรธรรมชาติ” ของเวิ้งอ่าวปากบาราอยู่ตรงไหน

ความคึกคักของผู้คนพากันแวะเวียนสับเปลี่ยนมาจับจ่ายข้าวของที่ตลาดสดประจำอำเภอตั้งแต่หัวรุ่ง
ห่างกันไม่มากนาที รถยนต์เปลี่ยนหน้าหาที่จอดก่อนผ่องถ่ายสัมภาระขึ้น-ลงเรือ เลยออกไปทาง “ปากน้ำ”
เรือประมง และเรือโดยสารน้อยใหญ่ สวนทางเข้า-ออก
ทุกอย่างล้วนเป็น “ชีพจร” หล่อเลี้ยง “ปากบารา” ให้มีชีวิตชีวาตลอดมา


ท่าเทียบเรือปากบาราแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่ อ.ละงู จ.สตูล เป็นท่าเดียวกันกับประตูสู่ขุมทรัพย์การท่องเที่ยวแห่งมันดามัน ไม่ว่าจะเป็น เกาะตะรุเตา หรือหมู่เกาะอาดังราวี (หลีเป๊ะ) ที่สร้างมูลค่าทางการท่องเที่ยวนับพันล้านให้กับประเทศ

อีกทั้งยังเป็นท่าเดียวกันกับพื้นที่ "โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา" โครงการที่มีข้อพิพาทยืดเยื้อ และเรื้อรังที่สุดอีกแห่งหนึ่งของบ้านเรา ซึ่งกำลังจะมีเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 หรือเวที ค.1 ขึ้นที่โรงเรียนปากบาง ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูลในวันที่ 16 มีนาคม 2560 นี้

ย้อนรอยสะพานเศรษฐกิจ อันดามัน-อ่าวไทย

โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ (Logistics Master Plan) ที่มีเงินลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท เพื่อเชื่อมโครงข่ายการขนส่งระหว่างอันดามัน และอ่าวไทยภายใต้ชื่อ “โครงการแลนด์บริดจ์ สะพานเชื่อมเศรษฐกิจสองฝั่งทะเล สงขลา-สตูล"

ภายใต้โครงการนี้จะมีโครงการย่อยอื่นๆ อีกหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็น การสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่ง โดยมีท่าเรือน้ำลึกเป็นหนึ่งในนั้น โครงการก่อสร้างรถไฟเชื่อมท่าเรือหัวท้ายระยะทาง 142 กิโลเมตร โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ หรือ เขื่อน รวมถึงการพัฒนาแหล่งพลังงาน หรือโรงไฟฟ้า

สำหรับท่าเรือน้ำลึกนั้นมีการผลักดันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 โดยได้รับการบรรจุให้อยู่ในยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม ปี 2555-2559 มีกรมเจ้าท่าเป็นผู้พัฒนาโครงการ

พื้นที่โครงการ 4,734 ไร่ถูกกำหนดไว้ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล และมีการศึกษามาตั้งแต่ปี 2552 ด้วยหวังจะให้ชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่างเป็นศูนย์กลางในกิจกรรมขนส่งทะเลที่มีศักยภาพ เมื่อเชื่อมโยงกับภูมิภาค ทั้งท่าเรือในเขตภาคกลางคือ ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล และท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ซึ่งถูกกระแสคัดค้านมาโดยตลอด ทั้งในแง่ของความคุ้มค่าการลงทุน และผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้โครงการไม่มีความคืบหน้า

จนกรมเจ้าท่าเจ้าของโครงการพัฒนาท่าเรือได้นำขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง โดยขออนุมัติงบเพื่อจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ โดยจะศึกษาผลกระทบในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม ในภาพรวมของพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด จากการมีท่าเรือน้ำลึกปากบาราและท่าน้ำลึกเรือสงขลา

รวมทั้งการพัฒนาระบบขนส่งทางรถไฟ ทางถนน เพื่อให้เกิดสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) ที่จะเป็นการพัฒนาระบบขนส่งเชื่อมไปยังท่าเรือน้ำลึก จากนั้นจึงทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) พร้อมกับทบทวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ผ่านการประเมินแล้วในบางประเด็น

บทบาทของท่าเรือน้ำลึกที่ถูกวางไว้นั้น จะเป็นประตูทางภาคใต้สู่ทะเลอันดามัน เน้นขนส่งสินค้าไปยังตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป รวมทั้งภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะร่นระยะทางการขนส่งกว่า 2,000 กิโลเมตร โดยไม่ต้องอ้อมผ่านช่องแคบมะละกา ตรงนี้จะช่วยย่นระยะเวลาจากต้องใช้เวลาเดินทางเป็นวัน เหลือเพียง 6 ชั่วโมง ซึ่งจะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 12 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสให้ชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่างเป็นศูนย์กลางในกิจกรรมขนส่งทะเลที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะเมื่อเชื่อมโยงกับภูมิภาค ทั้งท่าเรือในเขตภาคกลางคือ ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล และท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2

ตามแนวทางดังกล่าว มีการคาดหมายว่า การดำเนินงานทุกด้านจะแล้วเสร็จในปี 2560 และเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2561 โดยใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี และเปิดให้บริการในปี 2565

EIA ที่หายไป

"ท้องทะเล ที่ปากบารา ไม่ธรรมดาจริงๆ ” เป็นคำยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญทางทะเลอย่าง ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง จากคณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ถึงความพิเศษของนิเวศอ่าวปากบารา

ชายฝั่งตะวันตกใต้สุดของประเทศไทยที่มีความยาวกว่า 140 กิโลเมตร ติดพื้นที่ 4 อำเภอ มีเกาะน้อยใหญ่ 104 เกาะ ร่องน้ำลึก และสันดอนเป็นภูมิประเทศสำคัญ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 12.37 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด โดยเฉพาะ “ปะการัง” ที่เขาเขียนอธิบายไว้ในโซเชียลเน็ตเวิร์กของตัวเองเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า

...พวกเราถูกปลูกฝังมาว่า บริเวณปากแม่น้ำ เป็นบริเวณที่ไม่เหมาะสมกับระบบนิเวศแนวปะการัง
ทั้งตะกอน และน้ำจืดที่ไหลหลากลงมา เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของปะการัง
แต่ที่อ่าวปากบารา ที่เป็นแนวต่อเนื่องจากปากแม่น้ำ ผมกลับพบความมหัศจรรย์ของท้องทะเลในบริเวณนี้ หน้าคลองปากบารามีแหล่งหญ้าทะเล ต่อเนื่องมาจากชายฝั่งที่เป็นป่าชายเลนผืนใหญ่ ขณะที่รอบเกาะเขาใหญ่ ที่อยู่หน้าคลองปากบารา เต็มไปด้วยกัลปังหามากมาย...

การระบุว่า ผลกระทบที่อยู่ในระดับ “ต่ำกว่าเกณฑ์” ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ระยะที่ 1 เกี่ยวกับคุณภาพน้ำทะเล และชายฝัง ตั้งแต่ปี 2552 จึงกลายเป็นข้อกังขาของสังคมขึ้นมาทันที


“สิ่งที่ตกหล่นไปใน EIA ฉบับที่แล้วก็คือ ข้อมูลทางสิ่งแวดล้อมไม่ครบ” เขาบอก

ข้อมูลที่ “ไม่ครบ” ในคำอธิบายเชิงวิชาการก็คือ อ่าวปากบารา ตั้งแต่ปากแม่น้ำ หมู่เกาะเขาใหญ่ ไปจนถึง เส้นทางเดินเรือที่ต้องมีการขุดลอก ซึ่งกินพื้นที่ตั้งแต่ ท่าเรือปากบารา เกาะเขาใหญ่ เกาะบุโหลน เลยไปจนถึงกองหินขาว

“บริเวณหัวเกาะตะรุเตาก็จะเป็นแหล่งลูกปลาเก๋า ข้างใต้มีโขดหินเต็มเลย ลูกปลาเก๋าเต็มไปหมด อีกด้านหนึ่งก็จะเป็นกลุ่มเกาะบุโหลน ก็จะมีกองหินขาวซึ่งมีทรัพยากรที่เป็นปะการังอ่อน กลัปังหาสีขาว ปะการังอ่อนสีขาว ปะการัง 7 สี อะไรอย่างนี้ ซึ่งจะเป็นความหลากหลายค่อนข้างสูง แล้วก็ดันไปอยู่ใกล้พื้นที่ที่มีการจัดทิ้งตะกอนด้วยซ้ำไป อย่างหินขาวอยู่ห่างจุดศูนย์กลางทิ้งตะกอนแค่ 3-4 กิโลเมตรเท่านั้นเอง

"ดังนั้น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตรงนี้ก็มีโอกาสมาถึงหินขาว แต่การศึกษาที่ผ่านมาเนี่ย ไม่ได้มีการรายงานว่ามีทรัพยากรเหล่านี้ ไม่ได้มีการศึกษาให้ครบถ้วนว่าเรามีทรัพยากรอะไรบ้างในพทื้นที่ที่เป็นอ่าวปากบารา เกาะเขาใหญ่ หินขาว ไปจนถึงหัวเกาะตะรุเตา พอเราศึกษาข้อมูลไม่ครบถ้วน การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมันก็เลยไม่ครบถ้วน ไม่มีมาตรการอะไรเลยที่จะป้องกันผลกระทบ ตรงนี้ ซ้ำร้ายกิจกรรมต่างๆ กลับมีแนวโน้มจะอยู่ในแนวการสร้างผลกระทบให้กับทรัพยากรต่างๆ เหล่านี้” เขาให้รายละเอียดในหมวกของที่ปรึกษาสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


ความจริง 2 ด้าน

ความคาดหวังของเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นที่จับตาของทุกฝ่ายทั้งที่เห็นด้วย และเห็นต่าง

แน่นอนว่า “ความโปร่งใส” กลายเป็น “เป้า” อันดับแรกๆ ที่ถูกหยิบขึ้นมามอง เพราะถึงวันนี้ คนในพื้นที่ต่างฝ่ายต่างได้ยินเรื่องของการ “เกณฑ์คน” เพื่อมา “ยกมือ” รวมทั้ง “เกมใต้โต๊ะ” อื่นๆ เพื่อให้เวทีนี้ “เข้าทาง” ของตัวเอง

"ไม่ต้องมองไกลถึงหินขาวหรอกครับ แค่เกาะเขาใหญ่ที่อยู่ปลายจมูกนี่ก็ตายแล้ว" ดีนเชาว์ ชูสกูล คณะกรรมการบริหารจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอ่าวปากบาราสะท้อน

ชุมชนแถบนี้โดยส่วนใหญ่พึ่งพิงกับการประมงเป็นหลัก ดังนั้นหากมีการปักเสาเข็มลงในท้องน้ำจริงๆ ความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าด้านไหนก็พวกเขานั่นแหละที่เป็นคนรับคนแรก


“คุณบอกว่าเศรษฐกิจจะพัฒนา ความเจริญจะเข้ามา ทุกคนจะกินดีอยู่ดีขึ้น แต่ผมถามว่า กว่าโครงการจะเสร็จชาวบ้านจะเอาอะไรกินครับถ้าไม่ได้เป็นลูกจ้างเขา”
ดีนเชาว์ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเป็น “ลูกจ้างโครงการ” กับ “ลูกจ้างตัวเอง” ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ เรื่องของวัย เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านถึงจะสูงอายุแล้วก็ยังนั่งเรือออกไปหาปลามาขายให้กับสะพานปลา ขณะที่หากมีโครงการเกิดขึ้นลูกจ้างก็ต้องมีการจำกัดอายุ ซึ่งทำให้หลายบ้านในชุมชนขาดแคลนรายได้ไปโดยปริยาย

“ทะเลบ้านเราอุดมสมบูรณ์มากนะครับ” เขาย้ำพร้อมอธิบายให้ฟังว่า ทุกวันชาวบ้านจะใช้เวลาเพียง 4-5 ชั่วโมงในการออกทะเล แลกกับรายได้เฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่าพันบาท เรื่องนี้เจ้าของแพปลาแห่งหนึ่งในชุมชนบ่อเจ็ดลูกยืนยันผ่านตัวเลขในบัญชีซื้อขายปลาจากชาวประมงพื้นบ้านที่ต่อวันมีไม่ต่ำกว่าหลักแสน

“หอยท้ายเภานี่ก็กิโลละ 600 บาทเข้าไปแล้ว” เธอชี้ไปยังกองหอยในตระกร้าที่ชาวบ้านเพิ่งเอามาขายให้

เมื่อความสมบูรณ์ของธรรมชาติสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ชุมชนเครือข่ายบริเวณนี้จึงพยายามชูเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขึ้นมาเพื่อสื่อสารกับสังคมอีกแรงหนึ่ง พร้อมๆ กับการนำเอา “ภาพถ่าย” ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่ง หรือภาพเคลื่อนไหวเผยแพร่ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งก็ได้รับกระแสตอบรับจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี

“เป็นทุ่งเลยนะครับ กัลปังหาที่เกาะเขาใหญ่ ไหนในรายงานบอกว่าไม่มีอะไร ผมก็เอาขึ้นมาให้ดูเลย” เขาบอก

หรือการรวมกลุ่มของช่างภาพ และนักวิชาการในโครงการรักษ์หินขาว ที่ดำน้ำบริเวณกองหินขาวเพื่อนำเอาความหลากหลายของระบบนิเวศในพื้นที่ขนาดเท่ากับสนามฟุตบอล 1 สนามขึ้นมาบอกเล่าผ่านคลิปวีดิโอความยาว 3 นาที

“ความมีคุณค่าไม่ใช่แค่ความสวยงามเพียงอย่างเดียว ตั้งแต่พื้นทรายไล่มาเนี่ย เราเจอทั้งปะการังอ่อน ปะการังแข็ง ฝูงปลาเล็ก ฝูงปลาใหญ่ ไล่มาจนผิวน้ำ เจอปลาอาศัยบนผิวน้ำ ขึ้นมาบนยอดหินเรายังเจอนกโจรสลัด ซึ่งเป็นนกหายาก เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งที่เราจะต้องปกป้องไว้ครับเมื่อเรารู้ว่ามันจะมีสิ่งที่มารบกวน” บารมี เต็มบุญเกียรติ ช่างภาพมือรางวัลอีกคนที่ได้มาร่วมโครงการอธิบายถึงหินขาวที่เขาได้สัมผัส

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ดร.ทนงศักดิ์ จันทร์เมธากุล ผู้เชี่ยวชาญด้านปะการังได้เขียนบทความผ่านโซเชียลมีเดียส่วนตัวให้หัวข้อ "ยังไม่รู้จักกันเลย น่าเสียดายที่ต้องจากกัน" ถึงความสำคัญของปะกังรังอ่อน และแหล่งของปะการังอ่อนหายากอย่าง Nephthyigorgia sp. ที่มีรายงานเฉพาะกองหินขาว และเกาะโลซิน จ.ปัตตานีเท่านั้น

ตลอดจนการเตรียมผนวก “กองหินขาว” เป็นแหล่งปะการังอ่อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อเพิ่มน้ำหนักในการพิจารณาผลกระทบจากโครงการก่อสร้างให้มากขึ้นก็เป็นอีกความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน

เวทีรับฟังความคิดเห็นคราวนี้จึงไม่ต่างจากการหาไม้บรรทัด และทางออกร่วมกันระหว่างการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ และผลกระทบต่อทรัพยากรในพื้นที่ว่า หากเกิดโครงการพัฒนาขึ้นมาจริงๆ สังคมต้องเสียทรัพยากรอะไรไปบ้าง หรือมีแนวทางการหาทางออกร่วมกันอย่างไร

เพื่อให้ปากบาราไม่เป็นทางเดินคู่ขนานที่ดูจะไม่มีจุดเชื่อมอย่างทุกวันนี้

ภาพ : ทัศน์พล ว่องกิตติพงษ์