ส่ง-รับ-คืน-จ่าย ฉบับ ‘สกายบ็อกซ์’

ส่ง-รับ-คืน-จ่าย  ฉบับ ‘สกายบ็อกซ์’

อยากให้สกายบ็อกซ์เป็นศูนย์กลางของโลก คนรู้จักเราและเมื่อได้ใช้ระบบของเรา แล้วเขามีความสุข

สกายบ็อกซ์ (Skybox)เวลานี้มีบริการค่อนข้างครบวงจร คือ เป็นทั้งจุดส่ง- รับ- คืนพัสดุหรือสินค้า และจ่ายเงิน ซึ่งจุดให้บริการในปัจจุบันมีอยู่ 7 สาขาตั้งอยู่บนสถานีบีทีเอส


นอกจากนี้ยังมีบริการรับฝาก-ส่งพัสดุด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ระบบไปรษณีย์ และผู้ให้บริการการขนส่งเอกชนต่างๆ


แต่ภายในปีนี้ สกายบ็อกซ์มีแผนจะขยายเพิ่มขึ้นอีก 5 พันสาขา ทั้งบนสถานีไฟฟ้าบีทีเอสและเอ็มอาร์ที รวมถึงจะใช้วิธีไปจับมือกับพาร์ทเนอร์ เป็นการนำเอาระบบไปวางที่ร้านค้าทั่ว ๆไป หมายถึงไม่เพียงแค่กรุงเทพฯ แต่มีเป้าหมายจะรุกคืบไปยังตลาดต่างจังหวัดทั่วไทยอีกด้วย


สกายบ็อกซ์ มีผู้ก่อตั้งทั้งหมด 3 คน ได้แก่ “อภิพัฒน์ เลิศฤทธิ์ศิริกุล” ซีอีโอ “อรชุลี วิศิษฐฎากุล” ซีโอโอ และ “ธนวัฒน์ ไล้ทองคำ” ซีเอ็มโอ

พวกเขาเล่าว่าเป็นความบังเอิญที่ทำให้ได้รู้จักกัน และพอได้พูดคุยกันก็พบว่าทุกคนล้วนพบเจอกับปัญหา ไม่มีจุดรับส่งของบนสถานีรถไฟฟ้าเหมือนเช่นที่ต่างประเทศเขามี จุดรับส่งพัสดุและสิ่งของบนสถานีรถไฟฟ้าก็เลยกลายเป็นไอเดียเริ่มต้นธุรกิจ


แม้ดูเป็นอะไรที่ตอบโจทย์ รวมไปถึงจำนวนผู้โดยสารที่ขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าแต่ละวันก็เป็นหลักล้านคน แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถลงมือทำได้ทันที
เนื่องจากที่เป็นสถานีรถไฟฟ้าเป็นพื้นที่สาธารณะเลยต้องมีความเข้มงวดในเรื่องของความปลอดภัยเป็นพิเศษ ทำนองว่า สินค้าหรือพัสดุที่ส่งรับนั้นจะต้องปลอดภัยไม่อันตรายต่อผู้คน เมื่อสร้างระบบจนมั่นใจ ในปี2557 สกายบ็อกซ์ได้เปิดจุดให้บริการบนรถไฟฟ้าทันที 4 สาขา จากนั้นในปี 2558 ก็เปิดเพิ่มอีก 2 สาขา และเมื่อปีที่แล้วเปิดอีก 1 สาขาที่บีทีเอสอโศก


พวกเขาบอกว่า ในการทำธุรกิจ 2-3 ปี ที่ผ่านมา ต้องเรียกว่า ทำไปปรับไป และต้องฆ่าไอเดียเดิม ต้องปรับแผนกันอยู่ทุกวัน เพื่อให้สอดคล้องกับโอกาสที่เกิดขึ้น เช่น เดิมทีที่เคยคิดว่าจะเป็นจุดรับส่งพัสดุ ให้กับคนทั่วๆไป แต่เมื่อเทรนด์กำลังเป็นเรื่องของการค้าออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซ ก็ต้องคว้าโอกาสนั้นไว้


"เพราะมีคนที่ขายของผ่านโซเชี่ยลมีเดีย เข้ามาสอบถามตรงจุดบริการสกายบ็อกซ์มากขึ้นทุกวัน จากบีทูซีเราก็เลยขยับมาทำบีทูบีด้วย มีการเชื่อมกับร้านค้าออนไลน์มากขึ้น รวมถึงออฟไลน์ด้วยเพื่อให้เขาเอาสินค้ามาดร็อบไว้ที่จุดบริการของเรา"


ในส่วนของรายได้นั้น มาจากค่าบริการจากผู้ส่งสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซ สินค้ายอดนิยมที่มักจัดส่งก็คือ เครื่องสำอาง เสื้อผ้า ไอที ของขวัญวันเกิด ไมโครเวฟ ราวตากผ้า ของจิปาถะ ฯลฯ และมีข้อแม้เช่นเดียวกับธุรกิจโลจิสติกส์อื่นๆ ว่าจะไม่รับสินค้าอันตราย วัตถุของมีคม สิ่งมีชีวิตต่างๆ หรือสินค้าที่เน่าเสียง่าย


อย่างไรก็ดี ในสนามแข่งขันเวลานี้ถือได้ว่าค่อนข้างมีความร้อนแรง เนื่องจากมีทุนต่างชาติเข้ามาแข่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถามว่าจะแข่งอย่างไร?


ยุทธศาตร์หลักของสกายบ็อกซ์ มีอยู่ด้วยกัน 3 คำ คือ บิวด์หรือ สร้าง ,พาร์ทเนอร์ และจอยเวนเจอร์


บิวด์ คือ การสร้างระบบที่สามารถบูรณาการได้กับทุกธุรกิจ พาร์ทเนอร์ คือ การเร่งสร้างพันธมิตร ทั้งร้านค้าออนไลน์ เจ้าของร้านค้า เจ้าของพื้นที่ และ จอยเวนเจอร์ คือ การไปร่วมมือกับธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญด้านอื่น ๆเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและเติบโตไปพร้อม ๆกัน


ทั้งยังมี “คีย์เวิร์ด” การให้บริการเป็นคำว่า “SUPER” เพื่อผู้ใช้บริการจะได้รับประโยชน์ ดังต่อไปนี้
S-Seven Days Operations เปิดบริการทั้ง 7 วัน
U- Ultimate Value ค่าบริการเริ่มต้นที่ 35 บาท และฝากส่งไปได้ทุกจุดบริการ
P-Perfect Timing สามารถเลิอกกำหนดเวลาในการมารับสินค้าได้เร็วที่สุดคือ 45 นาที หลังจากที่สินค้ามาถึงจุดบริการของสกายบ็อกซ์
E-Ecommerce Supporting เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการออนไลน์ ให้ได้รับความคุ้มค่าในการจัดส่ง และรับประกันสินค้าถึงมือผู้รับ 100%
R-Reliability System ลูกค้าสามารถตรวจสอบสินค้า เป็นรายวัน รายเดือน และรายปี ดูสถานะว่าสินค้าถึงมือลูกค้าได้แบบเรียลไทม์ ตลอด 24 ชั่วโมง


เมื่อถามถึงการสเกลอัพ อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ภายในปีนี้สกายบ็อกซ์มีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนสาขา 5 พันแห่ง ซึ่งจะเห็นผลลัพธ์นับตั้งแต่แต่ไตรมาสสองเป็นต้นไป และวิธีที่จะบรรลุเป้าได้อย่างรวดเร็ว ก็คือการไปเจรจากับร้านที่เป็นเครือข่ายแฟรนไชส์ ซึ่งถ้าทุกแผนสามารถดำเนินการไปได้อย่างราบรื่น ภายในสิ้นปีนี้สกายบ็อกซ์ก็อาจจะได้ไปเปิดสาขาที่ประเทศอินโดนีเซีย


"ที่มองอินโดนีเซียก่อนเป็นประเทศแรก เพราะมีประชากรมากกว่าไทยถึงสี่เท่า ตลาดอีคอมเมิร์ซก็ใหญ่กว่าเราหลายเท่า เราจะเริ่มที่จาร์กาตาร์ที่มีประชากร 8.3 ล้านคนก่อน เพราะมีโครงสร้างเมืองคล้ายกรุงเทพ"


แน่นอน พอคิดการณ์ใหญ่ หนีไม่พ้นที่สตาร์ทอัพต้องนึกถึงการระดมทุน พวกเขาบอกว่า เวลานี้ก็พูดคุยกับนักลงทุนหลายเจ้า แต่ยังไม่ได้ตกลงปลงใจกับใคร


"อยากได้นักลงทุนที่เป็น Strategic Partner เงินอาจตอบโจทย์แต่ตอบได้ไม่หมด เราต้องการคนมาช่วยคิด และสนับสนุนเราไปสู่ความยั่งยืนด้วย ถ้าถามถึงเป้าหมายสูงสุด พวกเราอยากให้ชาวโลกได้ใช้ประโยชน์จากระบบของสกายบ็อกซ์ อยากให้สกายบ็อกซ์เป็นศูนย์กลางของโลก คนรู้จักเราและเมื่อได้ใช้ระบบของเรา แล้วเขามีความสุข"


ธุรกิจนี้มีเสน่ห์ตรงไหน? อภิพัฒน์ บอกว่า เป็นธุรกิจที่ทำให้เขาได้รู้จักกับคนหลายๆคน และแต่ละคนก็ทำธุรกิจที่แตกต่างกันออกไป ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดกันและกัน และนำมาพัฒนาธุรกิจหรือได้พาร์ทเนอร์มาทำธุรกิจร่วมกัน เป็นอะไรที่น่าสนุกมาก

คนครอบครัวเดียวกัน


สกายบ็อกซ์มองทุกคนที่อยู่ในบริษัทซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 40 ชีวิต เป็นเหมือนคนในครอบครัว ผลดีที่เกิดขึ้นก็คือ พนักงานที่อยู่กับบริษัทตั้งแต่วันเริ่มต้นเมื่อกว่าสองปีที่แล้วก็ยังอยู่ด้วยกันเหมือนเดิม มิหนำซ้ำยังดึงเพื่อนๆ และญาติพี่น้องที่ฝีมือดีเข้ามาช่วยกันทำงานอีกด้วย


"ในความเป็นจริงคือ พวกเราจะรู้ทุก ๆเรื่องเหมือนกัน เรามีการปรึกษารือกัน และจะแสดงความโง่ออกมาเลยไม่ต้องมีฟอร์ม เพราะไอเดีย ความคิดเห็นที่โง่ๆของเราอาจนำไปสู่สิ่งดีๆบางอย่างได้วัฒนธรรมองค์กรของเราเป็นแบบนี้ ซีอีโอของเราก็ไม่ได้เป็นคนถือตัว เขาเป็นคนรุ่นใหม่ น่ารัก ทำให้ทีมงานทุกคนเข้าถึงง่ายๆ คนก็ไม่กลัวพลาดแม้จะแสดงความคิดที่โง่ออกมา มันเลยเกิดนวัตกรรมในออฟฟิศเรามากมาย" เป็นความเห็นของ ธนวัฒน์และอรชุลี


การทำธุรกิจย่อมต้องเผชิญกับความท้าทายอยู่เสมอ แต่พวกเขาบอกว่าทุกอุปสรรคกลับถูกสลายไปเพราะแนวทางการบริหารงาน วัฒนธรรมองค์กรที่ยอมให้คนได้โชว์โง่


"มันเหมือนการสร้างบ้าน ถ้าแบบมันผิด ซึ่งเจ้าของบ้านจำนวนไม่น้อยคงไม่กล้าทุบทิ้ง แต่คุณอภิพัฒน์กล้าทุบทิ้งและเริ่มใหม่ เพราะฉะนั้นปัญหาที่เราคิดว่ามีปัญหา จากการไม่กล้าทำ ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงอะไร มันก็เลยหมดไปขณะที่มีแต่เรื่องของการดีเวลลอปอยู่ตลอดเวลา"