ผนวก 'ไฮสปีด-แอร์พอร์ตลิงค์' รับอีอีซี

ผนวก 'ไฮสปีด-แอร์พอร์ตลิงค์' รับอีอีซี

คมนาคมเตรียมปรับเส้นทางรถไฟความเร็วสูง รวมไฮสปีด "ระยอง-แอร์พอร์ต เรล ลิงค์" เชื่อมต่อสถานีกลางบางซื่อ หวังเพิ่มศักยภาพหนุนอีอีซี

รัฐบาลเร่งโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) โดยจะผลักดัน 2 โครงการแรก คือ การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างทบทวนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ระยะทาง 193.5 กิโลเมตร วงเงิน 152.528 ล้านบาท เพราะมีบางช่วงซ้อนทับกับโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ส่วนต่อขยาย ช่วงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ-ท่าอากาศยานอู่ตะเภา จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง

นายอาคม กล่าวว่า ในเบื้องต้นการดำเนินโครงการรถไฟทางเร็วสูงมี 2 ทางเลือก แนวทางแรกคือรถไฟความเร็วสูงและรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ส่วนต่อขยายจะใช้ระบบรางร่วมกัน เพราะมีขนาดราง 1.345 เมตรเท่ากัน แต่รถไฟความเร็วสูงจะสิ้นสุดแค่สถานีรถไฟลาดกระบังและต้องต่อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ เพื่อเดินทางไปยังท่าอากาศยานดอนเมือง

แนวทางที่ 2 ให้รถไฟความเร็วสูงและรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ใช้ระบบรางร่วมกันทั้งหมดและจะจัดระบบจราจรใหม่เพื่อให้รถไฟความเร็วสูงสามารถเดินรถถึงสถานีกลางบางซื่อ

“ต้องการให้ได้ข้อสรุปเรื่องนี้เร็วที่สุด แนวโน้มคือต้องการให้รถไฟความเร็วสูงไปที่สถานีกลางบางซื่อ คืออาจจะรวมตัวรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต ลิงค์และรถไฟฟ้าความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง เข้าด้วยกันมันจะได้สะดวก เพราะตามหลักการแล้วรถไฟฟ้าความเร็วสูงต้องไปถึงสถานีกลาง” นายอาคม กล่าว

ชี้ต้องปรับแผนหนุนอีอีซี

นายอาคม กล่าวว่าสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง เป็นรูปแบบรัฐเอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) และขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการขออนุมัติโครงการ โดยกระทรวงคมนาคมมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กลับไปแก้ไขรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องแหล่งเงินกู้ เพราะ ร.ฟ.ท. เสนอให้รัฐเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ของเอกชน แต่กระทรวงคมนาคมต้องการให้เอกชนเป็นผู้หาแหล่งเงินทุนและรับความเสี่ยงในการลงทุนเองทั้งหมด

นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กรศ.) มีนโยบายให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมท่าอากาศอู่ตะเภา สุวรรณภูมิ และดอนเมืองเข้าด้วยกัน กระทรวงคมนาคมจึงต้องปรับแผนเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว

“สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำลังดูอยู่และโครงการยังปรับได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการอีอีซีว่าเลือกยังไง ส่วนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ส่วนต่อขยายไปสนามบินอู่ตะเภาก็อาจจะยุบรวมกับโครงการรถไฟความเร็วสูง แต่ตอนนี้ไม่ได้พิจารณา เพราะต้องทำภาพใหญ่ให้เรียบร้อยก่อน” นายพิชิต กล่าว

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ในปัจจุบัน เส้นทางพญาไท-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก็อาจเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าในเมือง (City Line Train) ได้ เพราะปัจจุบันก็มีการเดินรถลักษณะนี้อยู่แล้ว

ชี้ต้องปรับ‘ระบบจราจร-ชานชาลา’รองรับ

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ร.ฟ.ท. มีโครงการรถไฟในฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ถึง 3 โครงการได้แก่ รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ และโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (Missing Link) สีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพงซึ่งทำให้มีการแข่งขันกันเอง โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์และรถไฟฟ้าชานเมืองส่วนต่อขยาย อีกทั้งพื้นที่ก่อสร้างมีจำกัด เพราะฉะนั้นจึงต้องพิจารณายุบโครงการบางส่วนเข้าด้วยกัน

ทั้งนี้ ถ้ารถไฟฟ้าความเร็วสูงจะใช้รางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ เดินทางไปถึงสถานีกลางบางซื่อ ก็ต้องมีการปรับระบบจราจรและปรับชานชาลาใหม่ เพราะขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ เป็นประเภทลำตัวแคบ แต่ถ้าเลือกใช้รถไฟความเร็วสูงลำตัวแคบเช่นกันก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

นอกจากนี้ต้องรอให้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณใหม่เป็นแบบเปิด จากปัจจุบันใช้ระบบอาณัติสัญญาณซีเมนส์ เพื่อให้ใช้ระบบอาณัติสัญญาณร่วมกันได้

“สมคิด”เร่งอู่ตะเภา-ไฮสปีด

วานนี้ (13 มี.ค.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม กรศ. โดยได้ติดตามความคืบหน้าระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ใน 5 โครงการ หลัก ได้แก่ 1.การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา 2.โครงการรถไฟความเร็วสูง และรถไฟรางคู่ในพื้นที่อีอีซี 3.การพัฒนาท่าเรือ 4.การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย และ5.การพัฒนาเมืองใหม่

นายสมคิด กล่าวว่า จะเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการอีอีซี ให้เสร็จภายใน 3 เดือน โดยจะนำ 2 โครงการ คือ การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และโครงการรถไฟความเร็วสูง ขึ้นมาผลักดันก่อนเป็นอันดับแรก โดยจะพัฒนาพื้นที่อู่ตะเภาให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก มีเนื้อที่ 6.5 พันไร่ ซึ่งจะเป็นเขตส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในอีอีซีเป็นแห่งแรก โดยใช้กลไกอีอีซีผลักดันเมืองการบินภาคตะวันออกให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

“สนามบินอูตะเภาจะมีความสำคัญในการสนับสนุนสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ เพื่อให้เกิด 3 สนามบินรวมกันเป็นศูนย์กลางการบินนานาชาติของไทย รวมทั้งรองรับความแออัดของสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง”

ในการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก จะเร่งขยายทางวิ่งที่ 2 ของสนามบินอู่ตะเภา คาดว่าทีโออาร์จะเสร็จภายในช่วงกลางปี และจะเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลได้ภายในปลายปีนี้ รวมทั้งจะผลักดัน 5 กิจกรรมหลัก ได้แก่ กลุ่มอาคารผู้โดยสาร และการค้า เพื่อรองรับผู้โดยสารให้ได้ 15 ล้านคนภายใน 5 ปี รองรับ 30 ล้านคนภายใน 10 ปี และรองรับให้ได้ 60 ล้านคนภายใน 15 ปี

“รัฐบาลจะเร่งรัดโครงการร่วมทุนศูนย์ซ่อมสร้างอุตสาหกรรมอากาศยาน ที่ได้มีการลงนามระหว่างการบินไทย และแอร์บัส รวมทั้งจะจัดทำระเบียบเอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) ที่จะลดเวลาการดำเนินงานในพื้นที่อีอีซี ให้เสร็จภายใน 3 เดือน”

เผยไฮสปีดกทม.-ระยองผ่านอีไอเอแล้ว

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (ครศ.) กล่าวว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง ผ่านการทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้ว และจะประกาศทีโออาร์ให้เสร็จก่อนกลางปีนี้ และจะเปิดประมูลได้ภายในปีนี้อย่างแน่นอน โดยได้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย และกระทรวงคมนาคม ศึกษาการเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งจะได้ข้อสรุปรายงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 5 เม.ย.นี้

“รถไฟความเร็วสูงจะมีระยะเวลาการเดินทางจากกรุงเทพมาสนามบินอู่ตะเภาไม่เกิน 45 นาที ซี่งเร็วกว่าสนามบินอินชอน กับเมืองโซล ของเกาหลีใต้ และสนามนาริตะ กับกรุงโตเกียว ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เมืองการบินภาคตะวันออกกลายเป็น“มหานครการบิน”โดยเร็วที่สุด”

ลงทุน6.8หมื่นล้านดันดิจิทัลพาร์ค

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในพื้นที่ อีอีซี นี้ จะมีการตั้งดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์โดยมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้ดำเนินการ ใช้ที่ดินของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) 621 ไร่ มาพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลให้สอดรับกับกิจกรรมในอีอีซี ซึ่งจะมีการสร้างอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ผลิตซอฟต์แวร์ นักออกแบบดีไซด์แอลพิเคชั่นต่างๆ เป็นแหล่งบ่มเพาะดิจิทัลสตาร์ทอัพ

“โครงการนี้จะใช้เงินลงทุน 6.8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนเงินลงทุนของภาครัฐ 80% และเอกชน 20% โดยจะเชิญชวนผู้ผลิตซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ชั้นนำ เช่น เฟสบุ๊กเข้ามาตั้งบริษัท และยกระดับเป็นแหล่งบ่มเพาะสตาร์ทอัพด้านดิจิทัล รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย”