แบงก์ชาติประเมินเฟดขึ้นดอกเบี้ยไม่กระทบไทย

แบงก์ชาติประเมินเฟดขึ้นดอกเบี้ยไม่กระทบไทย

ธปท.ประเมินเฟดขึ้นดอกเบี้ยไม่กระทบไทย เหตุตลาดคาดการณ์ไว้แล้ว รวมทั้งยังไม่พบเงินทุนเคลื่อนย้ายผิดปกติ เตือนเร่งบริหารความเสี่ยงรับมือค่าเงินป่วน

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการประชุมในวันที่ 14-15 มี.ค.นี้ โดยมีการคาดการณ์กันว่า เฟดจะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับ0.50-0.75% มาสู่ระดับ 0.75-1.00% ในการประชุมรอบสองของปี 2560 เนื่องจากพัฒนาการเศรษฐกิจสหรัฐยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ ระหว่างวันที่ 14-15 มี.ค.ซึ่งมีการคาดการณ์ว่ามีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยว่า หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อตลาดเงินไทยมากนัก เพราะเป็นไปตามกลไก และตลาดรับรู้ไปแล้ว

ส่วนเรื่องการไหลเข้าออกของเงินทุนนั้น หลังตลาดรับข่าวเกี่ยวกับแนวโน้มเฟดจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ยังไม่พบการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผิดปกติ ซึ่งการที่เงินทุนไหลออกขณะนี้เป็นไปตามกลไกของตลาดที่นักลงทุนจะนำเงินออกไปแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามหากมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผิดปกติเกิดขึ้น ธปท.ก็มีเครื่องมือในการรองรับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว

“ผมมองเรื่องผลกระทบของตลาดเงินไทยยังไม่มีความน่ากังวล แม้ว่าแนวโน้มเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดการณ์ และตลาดก็รับข่าวไปแล้ว ทำให้มีเงินทุนไหลออก แต่ที่เราดูๆ ก็ยังไม่มีอะไรผิดปกติที่นักลงทุนจะนำเงินออกไปหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งเงินไหลออกไปก็กระทบกับค่าเงินบาทที่อ่อนตัว แต่มันก็เป็นไปตามกลไกของตลาด ซึ่งก็ต้องติดตามการเคลื่อนไหวต่างๆไปอย่างต่อเนื่อง”

ด้านนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย ก็เป็นไปตามความเข้าใจของตลาดอยู่แล้ว ดอกเบี้ยไทยก็อย่างที่ทางการพูดว่าคงไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยไทยก็ยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ซึ่งก็อยู่ในระดับที่เราประมาณการไว้ และอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย ซึ่งทางการก็ดูแลให้เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพให้มีอัตราแลกเปลี่ยนไทยมีความมั่นคง

“ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า มองว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยยังคงไว้ ตอนนี้ก็ยังคิดว่าไม่มีปัญหาอะไร อัตราดอกเบี้ยอยู่ในเสถียรภาพที่ดี ค่าเงินก็ไม่มีปัญหา และการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดก็ไม่ควรกระทบต่อเศรษฐกิจไทย”

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ทุกคนมีการคาดการณ์อยู่แล้วว่าเฟดจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งภาคเศรษฐกิจเมื่อทราบว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยก็มีการเตรียมตัว ไม่น่าจะเป็นประเด็นปัญหา ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทย ตามที่หลายสำนักคาดการณ์ก็น่าจะคงไว้ โดยมีอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์พี)ที่ 1.5% เพราะยังมีช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐอยู่ ทางเฟดไม่ได้ปรับขึ้นมาใกล้ดอกเบี้ยของไทย อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไทยก็ต้องมีการป้องกันความเสี่ยงไว้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจส่งออก เพื่อรองรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

ขณะที่นักค้าเงิน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทปิดตลาดเย็นวานนี้ (13 มี.ค.) ที่ 35.32 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัวในระดับเดียวกับเปิดตลาด โดยระหว่างวันค่าเงินบาทแข็งค่าสุดที่ระดับ 35.23 บาทต่อดอลลาร์ และ อ่อนค่าที่ระดับ 35.36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งวานนี้มีแรงซื้อขายดอลลาร์ในตลาดอย่างเบาบาง เพื่อรอผลการประชุมเฟด

ศูนย์วิจัยคาดกระทบบาทอ่อนค่า

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยเฟด คงสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งเงินบาทของไทย ให้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่อ่อนค่าอันอาจเป็นตัวกระตุ้นให้มีการไหลออกของเงินทุน และอาจกดดันต้นทุนทางการเงินในช่วงสั้นให้ปรับตัวขึ้นได้

อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า ประเทศไทยถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางการเงินจากระดับทุนสำรองที่อยู่ในระดับสูง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังคงเกินดุลแข็งแกร่งต่อเนื่อง รวมทั้งสภาพคล่องในประเทศที่ยังมีอยู่มาก ทำให้ผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดต่อเศรษฐกิจไทย น่าจะอยู่ในระดับที่จำกัด แต่ก็คงต้องจับตาผลกระทบของการปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยของเฟดต่อประเทศที่มีมาตรวัดเสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในระดับที่ไม่แข็งแรงมากนัก อาทิ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมถึงสถานการณ์เงินทุนไหลออกของจีน ที่อาจจะย้อนกลับมาสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินหยวนและสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค

ตลาดรอผลประชุมเฟด

ขณะที่การเคลื่อนไหวตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก อยู่ในภาวะค่อนข้างมีเสถียรภาพในการซื้อขายเมื่อวานนี้ (13 มี.ค.) จากการที่นักลงทุนพากันมีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้นว่า ที่ประชุมเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันสุดท้ายในวันพรุ่งนี้(15 มี.ค.)

ดัชนีนิกเคอิ ของญี่ปุ่น ปิดซื้อขายแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 เดือน จากการปรับขึ้น 0.2% มาอยู่ที่ 19,633.75 จุด ขณะดัชนีหั่งเส็งของฮ่องกง เพิ่มขึ้น 1.1% ปิดซื้อขายที่ 23,829.67 จุด และดัชนีเซี่ยงไฮ้ ของจีน ขยับขึ้นมา 0.8% ที่ 3,237.02 จุด

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ตลาดเอเชียได้รับแรงหนุนการเข้าลงทุนโดยตรง จากรายงานการจ้างงานของสหรัฐที่ออกมาเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (10 มี.ค.) อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งยิ่งเพิ่มความมั่นใจว่า ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลกรายนี้ กำลังอยู่ในเส้นทางการฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง และพุ่งความสนใจไปยังการประชุมเฟด ท่ามกลางความคาดหวังว่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไป

ตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่งดังกล่าว ประกอบกับข่าวที่ว่า เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กำลังหารือถึงวิธีการที่จะขึ้นดอกเบี้ย หลังอัตราเงินเฟ้อเริ่มมีการขยับขึ้น ยังช่วยหนุนให้ดัชนีหลักๆ ของยุโรป และสหรัฐ อยู่ในแดนบวกช่วงเปิดซื้อขายวานนี้ด้วย

ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ ในตลาดเอเชียแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยระหว่างวันซื้อขาย แต่ไม่สามารถรักษาระดับที่ 115 เยนต่อดอลลาร์ไว้ได้ ทำให้อ่อนค่าลงมาปิดตลาดที่ 114.60 เยนต่อดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์เมื่อเทียบกับยูไร แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ 1.0705 ดอลลาร์ต่อยูโร