‘สรรพากร’ย้ำหุ้นชินจบแล้วหมดช่องเอาผิด!!

‘สรรพากร’ย้ำหุ้นชินจบแล้วหมดช่องเอาผิด!!

"กรมสรรพากร" แจงคดีภาษีหุ้นชินคอร์ปสิ้นสุดแล้วตั้งแต่ 31 มี.ค.55 ยอมรับไม่มีกฎหมายใดสามารถเรียกเก็บได้อีก

ความพยายามในการเรียกเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ชินคอร์ป ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ดูจะล้มเหลว เพราะอายุความจะหมดลงในวันที่ 31 มี.ค.2561 ในขณะที่กรมสรรพากรเอง ยืนยันว่า อายุความของคดีนี้หมดไปตั้งแต่ปี 2555 แล้ว

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรคงไม่ดำเนินการใดๆ อีกเกี่ยวกับกรณีการเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นใน บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ชินคอร์ป ซึ่งปัจจุบันคือ บริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เพราะเรื่องนี้ กรมสรรพากรได้ดำเนินการมาถึงที่สุดแล้ว ซึ่งอายุความของคดีได้สิ้นสุดไปตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2555

ส่วนกรณีที่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ได้เสนอให้ใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่มีอายุความ 10 ปีนั้น ในกรณีเช่นนี้ กรมสรรพากรไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เนื่องจาก ตามหลักกฎหมายแล้ว เมื่อมีกฎหมายเฉพาะในเรื่องการกำหนดอายุความ จะต้องใช้กฎหมายเฉพาะนั้น จะใช้กฎหมายทั่วไป หรือ จะใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้

ตามประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากร ระบุไว้ว่า อายุความในกรณียื่นภาษีไม่ถูกต้อง มีอายุความ 5 ปี แต่กรณีผู้เสียภาษีไม่ได้ยื่นแบบนั้น มีอายุความ 10 ปี แต่สำหรับกรณีภาษีหุ้นชินคอร์ปนั้น นายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร ได้ทำการยื่นแบบชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2550 แล้ว ดังนั้น อายุความในกรณีนี้จึงอยู่ที่ 5 ปี และหมดอายุความไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2555

ทั้งนี้ ศาลภาษีอากรกลางได้พิพากษาเพิกถอนการประเมินภาษีในคดีหุ้นชินคอร์ปต่อนายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร ซึ่งหลังจากศาลภาษีอากรกลางพิพากษาแล้ว กรมสรรพากรในขณะนั้น ที่มีอดีตอธิบดีกรมสรรพากร นายสาธิต รังคสิริ ไม่ดำเนินการยื่นอุทธรณ์ และเสนอให้ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ในสมัยนั้น และอัยการสูงสุด ลงนามในการไม่อุทธรณ์ในครั้งนี้

แหล่งข่าวกล่าวว่า การเสนอให้ขยายอายุการประเมินภาษี ตามมาตรา 3 อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากร ที่เกี่ยวกับการขยายกำหนดเวลาการยื่นภาษี การอุทธรณ์ การเสียภาษีนั้น ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก ในมาตรานี้ การขยายระยะเวลา เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษี ไม่ใช่เป็นการลงโทษผู้เสียภาษี เช่น กรณี ภาษี มินิแบร์ ที่กรมสรรพากร ได้ขยายระยะเวลาการยื่นแบบให้แก่ทางบริษัท เนื่องจาก เป็นปัญหาการตีความที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างหน่วยงานรัฐ ดังนั้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อบริษัทเอกชน กรมฯจึงได้ขยายระยะเวลาการยื่นแบบให้แก่บริษัท เพราะหากไม่ขยายระยะเวลาการยื่นแบบ ทางบริษัทจะต้องถูกค่าปรับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นเงินกว่าหมื่นล้านบาท ขณะที่ เนื้อภาษีที่ต้องจ่ายจริงเพียงไม่กี่พันล้านบาท

ส่วนการที่จะขอใช้มาตรา 61 แห่งประมวลรัษฎากรนั้น คงไม่สามารถใช้มาตรานี้มาดำเนินคดีนี้ได้อีก เนื่องจาก ในช่วงที่คดีนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลภาษีนั้น กรมสรรพากร ได้ใช้มาตรานี้ เพื่อระบุว่า นายพานทองแท้ และพิณทองทา เป็นผู้ที่ลงนามในเอกสารสำคัญ ที่แสดงความเป็นเจ้าของทรัพย์สินคือหุ้นชินนั้นแล้ว แต่ศาลภาษี ยกประเด็นเรื่องที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ระบุว่า หุ้นทั้งหมด รวมหุ้นที่เป็นกรณีพิพาททางภาษีนี้ด้วย เป็นของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ดังนั้นจึงไม่สามารถยื่นฟ้องซ้ำในคดีเดียวกันนี้ได้อีก