“Candy Crepe” เกมบุกโลกของ “เจนนิสา คูวินิชกุล”

“Candy Crepe”  เกมบุกโลกของ “เจนนิสา คูวินิชกุล”

ทายาทธุรกิจหมื่นล้าน แต่เริ่มลงทุนด้วยเงินแค่หลักหมื่น ใช้เวลา 2 ปี มีรายได้กว่า 20 ล้าน ทำกำไรตั้งแต่ปีแรก ติดตามคมคิด “เจนนิสา คูวินิชกุล"

เป็นอีกครั้งที่กรุงเทพธุรกิจได้มีโอกาสพูดคุยกับทายาทคนเก่งแห่งตระกูล คูวินิชกุล ธุรกิจอลูมีเนียมรายใหญ่ของไทย อลูเมท ที่วันนี้ขยับขยายใหญ่โตเป็น Holding company ภายใต้ชื่อ เมตตากรุ๊ป” (METTA Group) ครอบคลุมทั้งธุรกิจด้านเทคโนโลยี (แกร็บแท็กซี่) อลูมีเนียมและวัสดุอื่นๆ ธุรกิจสีเขียว สุขภาพ การเงิน อสังหาริมทรัพย์ และ ธุรกิจเกี่ยวกับเอกลักษณ์ความเป็นไทย (METTA Heritage) ซึ่งเป็นความสนใจส่วนตัวของ แจน-เจนนิสา คูวินิชกุล ทายาทคนโตของ ธเนศ และอัญชัน คูวินิชกุล พี่สาวของ จูน-จุฑาศรี แห่ง แกร็บแท็กซี่

เธอมีปณิธานที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า อยากต่อยอดความเป็นไทยไปสู่สายตาชาวโลก ที่มาของการปลุกปั้นแบรนด์เครื่องหอมจากดอกไม้ไทย “Primmalai”(ปริมมาลัย) และโรตีสายไหมพันธุ์ใหม่ “Candy Crepe” (แคนดี้เครป)

วันนี้ธุรกิจทั้งกลุ่มจากการร่วมกันต่อยอดของทายาทมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท แต่วันที่พี่สาวคนโตมาเริ่มแบรนด์ขนมหวานชื่อ “Candy Crepe” เพื่อหวังปลุกปั้นโรตีสายไหมของไทยให้โกอินเตอร์ เธอใช้เงินลงทุนแค่ “หลักหมื่นบาท”

ตอนนั้นเริ่มจากไปขอซื้อสูตรโรตีสายไหมเจ้าดังจากอยุธยามา และนำมาวิจัยพัฒนาต่อยอด ตอนแรกก็เอาพนักงานในออฟฟิศนี่แหล่ะ รวมถึงตัวแจนเองด้วย ไปนั่งกับชาวบ้านที่อยุธยาเลย ไปดูเขาทำตั้งแต่ต้น

เธอบอกการทำงานในวันแรก ที่เริ่มต้นด้วยเงินทุนก้อนเล็ก ปลุกปั้นธุรกิจขึ้นมาด้วยสองมือ ไปแสวงหาสูตรขนมด้วยตัวเอง แม้แต่วันที่เปิดเป็นร้านคาเฟ่น่ารักชื่อ Candy Crepe เธอก็ยังลงมือออกแบบกว่า 30 เมนู ด้วยตัวเองทั้งสิ้น 

ถ้าไม่นับรวมว่า ครอบครัวมีธุรกิจเป็นหมื่นล้าน ลองดูแค่แบคกราวน์ที่ผ่านมา หลายคนก็อาจเกิดคำถามว่าทำไมคนระดับนี้ถึงอยากลุกมาขายขนม โดย เจนนิสา เรียนจบ Harvard Business School ที่สหรัฐอเมริกา เธออยู่ต่างประเทศมา 8 ปี มีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาธุรกิจอยู่ในบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารชั้นนำของโลก แมคคินซี แอนด์ คอมพานี (McKinsey & Company) เคยทำบริษัทเทรดดิ้งของสวิสเซอร์แลนด์ และเคยฝึกงานในช่วงสั้นๆ ที่ซิตี้กรุ๊ปในฮ่องกงด้วย

เพื่อนๆ ชอบแซวว่า จบ Harvard มาขายโรตีสายไหม ตอนแรกคนก็หัวเราะ แจนบอกว่า ไม่ใช่นะ ไม่ได้มาขายแค่โรตีสายไหม แต่แจนมีวิสัยทัศน์มากกว่านั้น"

วิสัยทัศน์ของเธอ คือการนำขนมที่ทุกคนมองข้ามอย่าง “โรตีสายไหม” ไปเฉิดฉายอยู่ในตลาดโลก ด้วยจุดแข็งที่มองเห็นอย่าง เป็นขนมจากภูมิปัญญาไทย ที่ใครก็ทำเลียนแบบยาก ต่างชาติชอบ ถูกใจทั้งรสชาติ และความใหม่ล้ำของสายไหมในรูปแบบของเส้นผม ขณะที่ขนมสายไหมยังเป็นตัวแทน “ความสุข” ของคนทั่วโลกอีกด้วย

“เราจะเปลี่ยนวิธีใช้ประโยชน์ของสายไหมใหม่ ที่เปิดร้านนี้ขึ้นมา ก็เพื่อสอนให้ลูกค้ารู้ว่า วิธีการกิน Candy Crepe นั้น มีมากกว่าแค่โรตีสายไหมม้วนๆ แต่แคนดี้ของคุณสามารถเอาไปใส่ในกาแฟแทนน้ำตาลก็ได้ ซื้อเก็บไว้ที่บ้านก็ทั้งสวยและอร่อย หรือจะใส่ไอศกรีม โรยหน้าเค้ก ใส่ในโดนัท ก็สามารถทำได้ ซึ่งในอนาคตเราจะเป็นเหมือน นูเทลล่า ที่วางขายอยู่บนเชลฟ์ในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลก เพื่อให้คนซื้อกลับไปใช้ที่บ้าน” เธอบอกความมุ่งมั่น

นั่นคือที่มาของการทำงานยากตั้งแต่วันแรก โดยระหว่างทางของการขายผ่านออนไลน์ ฝากขายในหน้าร้านคนรู้จัก พัฒนามาขายเป็นคีออส จนมามีหน้าร้านของตัวเอง ถึง 4 สาขา ทั้งในกรุงเทพและเชียงใหม่ เธอก็มุ่งทำเรื่องวิจัยและพัฒนามาตลอด โดยร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำเรื่อง การพัฒนาเครื่องจักร และยืดอายุของตัวแป้งและสายไหม เพื่อให้อยู่ได้นานขึ้น รองรับตลาดส่งออกโดยเฉพาะ 

เวลาเดียวกันก็ทำเรื่องมาตรฐาน เพื่อยกระดับขนมข้างทางให้สะอาด ปลอดภัย ผ่านทั้ง อย., GMP, ฮาลาล และ HACCP พร้อมยกทัพบุกตลาดโลก 

เวลาเดียวกันก็พัฒนาโมเดลแฟรนไชส์ และเตรียมเปิดขายแฟรนไชส์ “Candy Crepe” ให้กับนักลงทุนที่สนใจเป็นครั้งแรกในปลายปีนี้ หลังทดลองทำสาขาของตัวเองในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเรียนรู้สูตรสำเร็จมาแล้ว ทั้งสาขาที่ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี, เดอะ ซีซั่นส์ พหลโยธิน, ห้างฯ เมญ่า ที่เชียงใหม่ และกิ่งแก้ว ซอย 40/2 ซึ่งจะใช้เป็นศูนย์สำหรับฝึกอบรมแฟรนไชซีด้วย สำหรับแฟรนไชส์มี 2 รูปแบบ คือคีออส และหน้าร้าน เงินลงทุนตั้งแต่หลักแสนถึงล้านต้นๆ ในระยะเวลาคืนทุนที่คาดว่า ไม่น่าจะเกิน 1 ปี 

เป้าหมายในปีแรก เธอบอกว่า ถ้าไปได้สัก 5 สาขา ใน 5 ประเทศ ก็ถือว่าพอใจแล้ว เพราะไม่ได้อยากโตเร็วมากนัก ขณะที่คนที่จะซื้อแฟรนไชส์ Candy Crepe ก็ไม่ใช่ใครก็ได้ แต่ต้องมีใจ และลงมือรันธุรกิจด้วยตัวเอง

“แจนถามคนสิงคโปร์ที่สนใจซื้อแฟรนไชส์ของเราว่า คุณพร้อมจะลงทุนปีแรกเท่าไร เขาบอก 2 ล้านเหรียญ ถามเขาว่า จะบริหารเองไหม เขาบอกเขาเป็นซีอีโอ มีธุรกิจหลายตัว ฉะนั้นเขาจะจ้างคนมาบริหาร แจนบอกอย่างนั้นไม่เอา เพราะถึงแม้คุณจะมีเงิน แต่คุณไม่ได้ดูแลเอง มันไม่เหมาะกับธุรกิจแบบนี้ แจนต้องการคนที่ลงมือรันธุรกิจด้วยตัวเอง” เธอบอก

เพราะโตแบบรอบคอบ และคิดทุกอย่างให้ครบตั้งแต่ต้น ทำให้ Candy Crepe มีรายได้โตขึ้นทุกปี โดยในปีที่ 2 สามารถขยับธุรกิจที่ลงทุนเริ่มต้นหลักหมื่นบาท มามียอดขายอยู่ที่ 20 ล้านบาท และตั้งเป้าจะเติบโตทุกปี ปีละไม่ต่ำกว่า 20% และ ภายใน 2-3 ปี ข้างหน้า คาดว่าจะมีรายได้แตะหลัก 100 ล้าน! และเป้าหมายในวันนั้นคือการเดินหน้าเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ตามหลังรุ่นพี่อย่างอาฟเตอร์ยู เพื่อระดมทุนมาขยายสาขาและทำตลาดต่างประเทศ ดังเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ต้น

“ถ้ามี 10 ก้าว ตอนนี้เราก็คงอยู่ประมาณก้าวที่ 2 เพราะยังต้องทำอะไรอีกเยอะมาก ต้องไปอีกหลายประเทศ และทำให้คนได้รู้จักมากกว่านี้ มองว่า เราจะเข้าตลาดฯ ให้ได้ภายใน 3 ปี และจะไปทั่วโลกได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า” เธอบอกเป้า

ดูจากวิธีคิดและผลงานที่ทำไว้ ก็บอกได้ชัดเจนว่า เธอไม่ได้แตกแถวทายาท “คูวินิชกุล” เลยสักนิด พอถามว่า ผู้เป็นพ่อ “ธเนศ” สอนอะไรไว้บ้าง เธอบอกแค่ สอนเรื่องความซื่อตรง ไม่เอาเปรียบ และมีน้ำใจ ทั้งกับลูกค้า คู่ค้า และพนักงาน

คุณพ่อห้ามไม่ให้พวกเราไปทำไม่ดีกับคนอื่น ท่านพูดเสมอว่า ยอมให้คนอื่นมาเอาเปรียบ ดีกว่าไปเอาเปรียบเขา เมื่อก่อนก็ไม่เข้าใจหรอก แต่ทุกวันนี้เข้าใจแล้ว ท่านพูดเพราะทุกคืนเราจะได้นอนตาหลับไง” เธอบอกสิ่งที่ได้จากคำสอนพ่อ 

วันนี้ทายาททั้ง 3 มาร่วมกันสานต่อธุรกิจของครอบครัว โดยมีพ่อและแม่คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ด้วยความมุ่งมั่นของทายาท และการเปิดโอกาสของครอบครัว เลยทำให้ธุรกิจยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งในวันนี้

เช่นเดียวกับ Candy Crepe ขนมไทยที่กำลังจะไปประกาศความอร่อยให้ก้องโลก ด้วยฝีมือของทายาทคนโตแห่ง คูวินิชกุลคนนี้

……………………………………

Key to success

สูตรปั้นขนมไทยบุกตลาดโลก

๐ เลือกขนมที่ทำยาก มีภูมิปัญญา ฝรั่งร้องว้าว

๐ พัฒนาวิจัยเพื่อยืดอายุ ยกระดับให้ได้มาตรฐาน

๐ ใช้โลโก้ที่สื่อถึงความเป็นไทย

๐ แนะนำวิธีใช้ประโยชน์ ขยายโอกาสใหม่

๐ ขยายสาขาด้วยโมเดลแฟรนไชส์

๐ เฟ้นแฟรนไชซีที่เข้าใจธุรกิจ และลงมือทำเอง

๐ ตั้งเป้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ ปูทางสู่ตลาดโลก