สดร. ชวนชมดาวเคียงเดือน 14-15 มี.ค.นี้

สดร. ชวนชมดาวเคียงเดือน 14-15 มี.ค.นี้

เตรียมชม "ดาวพฤหัสบดีเคียงดวงจันทร์" 14-15 มี.ค.นี้ สว่างชัด สังเกตได้ตั้งแต่ 3 ทุ่มเป็นต้นไป ตลอดคืนถึงรุ่งเช้า สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

 "ดาวเคียงเดือน" เป็นปรากฏการณ์ปกติทางดาราศาสตร์ที่สวยงาม นับเป็นอีกหนึ่งอีกปรากฎการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยสังเกตการณ์ และเห็นได้ทุกพื้นที่ของประเทศไทย ผู้สนใจสามารถติดตามชมได้ด้วยตนเอง ในคืนวันที่ 14-15 มีนาคมที่จะถึงนี้ หลังจากนี้เดือนจะปรากฏในตำแหน่งที่ห่างจากดาวมากขึ้นเรื่อย ๆ

นายศุภฤกษ์  คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์  สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เปิดเผยว่า วันที่ 14-15 มีนาคม 2560 จะเกิดปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน ดาวพฤหัสบดี และดาวสไปกา (ดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวหญิงสาว) จะปรากฏสว่างเคียงข้างดวงจันทร์ ทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาประมาณ 21:00 น. และจะตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกในเวลารุ่งเช้า คืนวันที่ 14 มีนาคมดาวพฤหัสบดีจะปรากฏในตำแหน่งต่ำกว่าดวงจันทร์ และมีดาวสไปกาอยู่ถัดลงมา ดาวพฤหัสบดีและดวงจันทร์จะปรากฏในตำแหน่งใกล้กันมากที่สุด เวลาประมาณ 05:10 น. ของวันที่ 15 มีนาคม ห่างเพียง 2 องศา (หนึ่งนิ้วก้อยของเราเมื่อเหยียดสุดแขนจะมีระยะเชิงมุม 1 องศา)

สำหรับคืนวันที่ 15 มีนาคมยังคงสามารถชมความสวยงามของดาวพฤหัสบดีเคียงดวงจันทร์ได้อีก แต่ดวงจันทร์จะเคลื่อนลงมาอยู่ในตำแหน่งต่ำกว่าดาวพฤหัสบดีเล็กน้อย แม้ว่าช่วงดังกล่าวเป็นช่วงดวงจันทร์ข้างแรม 2-3 ค่ำ แต่เรายังสามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน เนื่องจากดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ และอยู่ในช่วงที่กำลังโคจรเข้ามาใกล้โลกอีกด้วย  จึงขอเชิญชวนประชาชนชมความสวยงามของวัตถุท้องฟ้าดังกล่าว

        นอกจากนั้น  ในช่วงปลายเดือนมีนาคมจนถึงต้นเดือนกรกฏาคม 2560 เราจะสามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำจนถึงรุ่งเช้าหากใช้กล้องโทรทรรศน์ช่วยสังเกตการณ์จะมองเห็นแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดีและดวงจันทร์บริวารได้อย่างชัดเจน ครู นักเรียนในโรงเรียนหรือสถานศึกษาต่าง ๆ ก็สามารถใช้โอกาสนี้จัดกิจกรรมสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าพร้อมกับให้ความรู้ทางดาราศาสตร์แก่นักเรียน ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ดาราศาสตร์แก่เยาวชนและประชาชนคนไทยให้เพิ่มมากขึ้น  ผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ สามารถติดตามได้ที่ www.narit.or.th หรือ www.facebook.com/NARITpage