ลุยตั้งอนุบอร์ดเกาะติดสัญญารถไฟรางคู่

ลุยตั้งอนุบอร์ดเกาะติดสัญญารถไฟรางคู่

"ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง" ไฟเขียวเดินหน้า 2 เส้นทางรถไฟรางคู่ ตั้งอนุกรรมการติดตามการทำตามสัญญา ส่วนอีก 5 เส้นทางให้ "คง" ไว้ก่อน

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยหลังการประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท. วานนี้ (3 มี.ค.) ว่า ที่ประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท. ชุดใหม่ได้หารือเรื่องเงื่อนไขการประมูล (TOR) รถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ต่อเนื่องจากการประชุมแรกเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา

การประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท. ครั้งนี้ได้ทำความเข้าใจและหาจุดอ่อนของTORพร้อมเสนอแนวคิดในการปรับปรุงTORให้ดีขึ้นและคำนวณระยะเวลาที่ต้องใช้ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติจึงควรเดินหน้าหาข้อสรุปโดยเร็ว โดยจะนำเรื่องที่หารือเสนอให้คณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง (ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง) พิจารณาต่อไป

แต่เบื้องต้นบอร์ด ร.ฟ.ท. ยังไม่พบช่องโหว่สำคัญในTORแต่เห็นว่าสามารถเปิดTORให้กว้างขึ้นได้อีก เช่น ถ้าซูเปอร์บอร์ดต้องการให้ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมมากขึ้น ก็ต้องแยกงานที่เอกชนไทยทำได้ออกมาประมูลต่างหาก ซึ่งประเมินว่าถ้ามีการปรับTORก็ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 4-6 เดือน แต่ถ้ามีการปรับราคากลางหรืองบประมาณก็ต้องใช้ระยะเวลามากกว่านั้น

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด รฟท. วานนี้ว่า ที่ประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท. อยู่ระหว่างพิจารณาข้อดี-ข้อเสียและแนวทางการปรับTORรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง โดยไม่ได้พิจารณายกร่างTORใหม่แต่อย่างใด โดยบอร์ด ร.ฟ.ท. ต้องนำข้อมูลที่หารือไปรายงานให้ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้างพิจารณาชี้ขาดต่อ

“ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรกับTORจะแบ่งช่วงสัญญาการก่อสร้างออกเป็นช่วงๆ หรือไม่ หรือจะปรับในส่วนไหนเพื่อให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเข้ามาดำเนินการได้มากขึ้น ซึ่งทางซูเปอร์บอร์ดจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้แนวทางไหน”นายอานนท์ กล่าว

สำหรับ TOR เดิมได้กำหนดให้ผู้รับเหมาที่จะร่วมทุนประมูลโครงการ ต้องมีประสบการณ์ดำเนินโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งหากพิจารณาในส่วนของผู้รับเหมาก่อสร้างที่เคยร่วมงานกับกรมทางหลวง (ทล.) จะมีถึง 50 ราย โดยทั้งหมดสามารถไปจับคู่กับบริษัทที่เชี่ยวชาญในเรื่องของการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟทางคู่ทั้ง 5 เส้นทางได้

แต่ถ้ามีการเปิดประกวดราคาใหม่นั้น ร.ฟ.ท. จะต้องประกาศเชิญชวนให้ต่างชาติเข้ามาร่วมโครงการให้มากขึ้น หลังจากโครงการเดิมได้เปิดให้ต่างชาติเข้ามาร่วมดำเนินการด้วยเช่นเดียวกัน แต่มีไม่มากนัก โดยมีจากจีน และเกาหลีใต้เท่านั้นที่เข้ามาร่วมกับผู้รับเหมาไทยยื่นซองประกวดราคา

“จริงๆ ผู้รับเหมาที่สามารถก่อสร้างรางรถไฟได้ในประเทศไทยก็จะมีประมาณ 7-8 ราย ดังนั้นการที่จะเพิ่มจำนวนผู้รับเหมาให้มากขึ้น ก็จะต้องเชิญต่างชาติเข้ามาร่วมกับผู้รับเหมาไทยให้มากขึ้นด้วย”นายอานนท์ กล่าว

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง กล่าวภายหลังการประชุมวานนี้ว่า บอร์ดร.ฟ.ท.ได้เข้ามาให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการลงทุนรถไฟรางคู่ทั้ง 7 เส้นทาง แยกเป็นโครงการที่เซ็นสัญญาและดำเนินการก่อสร้างแล้ว 2 โครงการ ซึ่งให้เดินหน้าก่อสร้างไปได้ แต่ต้องมีการติดตามความคืบหน้า การทำตามเงื่อนไขสัญญา โดยทางบอร์ดรถไฟจะมีการตั้งอนุกรรมการเพื่อปรับปรุงกลไกการติดตาม 2 โครงการนี้

ส่วนอีก 5 โครงการ ให้คงไว้ก่อน จนกว่าจะได้ข้อสรุปในเรื่องการปรับเงื่อนไขรายละเอียดโครงการ ซึ่ง คาดว่าจะมีการสรุปรายละเอียดหรือทีโออาร์ในการประชุมครั้งหน้าในวันที่10 มี.ค.นี้ หลังจากนั้นจะรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบต่อไป

“เราได้ศึกษาข้อกังวลต่างๆ บางเรื่องก็ไม่มีนัยสำคัญ ซึ่งทางบอร์ดรถไฟก็ชี้แจงได้ แต่บางเรื่องก็เป็นนัยสำคัญจริงๆ ซึ่งวันนี้ทางบอร์ดรถไฟก็ได้เสนอแนวทางมาให้พิจารณาด้วย แต่ก็ยังเป็นทางเลือกอยู่ ก็ขอเวลาในการสรุปทางเลือกที่ดีให้มีความรัดกุมรอบคอบ ทางบอร์ดรถไฟเองก็มองการณ์ไกล ไม่ได้มองแค่ 7 โครงการนี้ เพราะต่อไปยังมีโครงการอื่นๆ ซึ่งแนวทางที่สรุปก็อาจจะนำมาใช้ในโครงการอื่นด้วย”

นายประสาร กล่าวว่า คณะกรรมการกำกับฯจะพยายามหาข้อสรุปให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งแต่ละแนวทางก็มีข้อดีข้อเสีย หากให้โครงการทำได้เร็ว แต่ยังมีเรื่องคาใจอยู่ ต่อไปก็จะมีการร้องเรียนโครงการอื่นๆอีก เราก็ต้องมีการแก้ไขข้อกังวลให้คาใจ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับโครงการอื่นๆด้วย

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการทบทวนโครงการก็มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น อาจจะล่าช้าไปอีกหลายเดือน ซึ่งก็ได้มอบให้ทางกรมบัญชีกลางไปคำนวณเรื่องความล่าช้า อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับการก่อสร้างโครงการที่ใช้เวลา 3 ปี การล่าช้าที่เป็นเดือน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์อาจจะไม่สูง