ขุดทอง "เมืองรอง" หลังม่าน CLMV

ขุดทอง "เมืองรอง" หลังม่าน CLMV

ตกปลาในเมืองหลวง เมืองที่คนแข่งล่าปลาใหญ่ จึงต้องกระจายกองทัพ ตะลุย “เมืองรอง” ซีแอลเอ็มวี ขุมทองการค้า-ลงทุน ที่ซ่อนหลังม่านอาเซียน

อาเซียน ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 50 ของการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน (AEC- Asean Economic Community) ตั้งแต่ปี 2510 กลุ่มประเทศที่เต็มไปด้วยความหลากหลายชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษาพูดกว่า 2,000 ภาษาถือว่ามากที่สุดในโลก เคล้ารวมความต่างทางวัฒนธรรม

ยุคแรกนำร่องการค้าและลงทุน โดยกลุ่มอาเซียนเก่า 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน พบว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปรับตัวสูงขึ้น จูงใจให้อาเซียนใหม่อีก 4 ประเทศ หรือ ซีแอลเอ็มวี ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เข้ามารวมกลุ่มในยุคถัดมา จนปัจจุบันกลุ่มประเทศเนื้อหอมอย่าง ซีแอลเอ็มวี มีอัตราเติบโตของจีดีพี แซงหน้า ประเทศในกลุ่มอาเซียนเก่าไปแล้ว

อาเซียน โดยเฉพาะ ซีแอลเอ็มวี จึงถือเป็น อีกกลุ่มประเทศดาวรุ่งดวงใหม่ (Rising Star) บนแผนที่โลก ที่ทุนต่างชาติ เดินทัพเข้ามาแสวงโอกาสทางการค้าจากจำนวนประชากรเกือบ 600 ล้านคน

ภาวะการส่งออกไทยที่ชะลอตัว กระทรวงพาณิชย์ ยังวางยุทธศาสตร์เพิ่มเป้าหมายส่งออกในปีนี้ขยายตัว5% มูลค่า 226,093 ล้านดอลลาร์ โดยสัดส่วนส่งออกไปอาเซียน 25% ซึ่งเป็นตลาดความหวังหลักคาดหวังว่าขยายตัว 5% หรือมูลค่าประมาณ 56,700 ล้านดอลลาร์ จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะพยุงสถานการณ์ส่งออกไทย

ทว่า นอกจากวิธีการเดิมๆ ในการเปิดประตูการค้าผ่านเมืองหลวงของแต่ละประเทศแล้ว การเจาะตลาดเมืองรอง โดยเฉพาะในซีแอลเอ็มวี ไม่ควรมองข้าม 

จากผลวิจัย สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมเมืองรอง โอกาสขุมทองธุรกิจไทย ในซีแอลเอ็มวี ซึ่งวิจัยโดย C asean พบว่า 4 เมืองที่น่าเข้าไปทำธุรกิจ คือ เสียมเรียบในกัมพูชา, จำปาสักในลาว, มัณฑะเลย์ในเมียนมา และ ไฮฟองในเวียดนาม

เมืองรองที่นักธุรกิจยังเห็นภาพไม่ชัด แต่ที่สุดแล้วพบว่า เต็มไปด้วยโอกาส” !

เริ่มต้นที่เสียมเรียบ” ในกัมพูชา ที่ตั้งของนครวัด แหล่งท่องเที่ยวที่คนทั่วโลกมาร์กไว้เป็นจุดหมายปลายทางที่ต้องมาเยือนครั้งหนึ่งในชีวิต (Tourist Hotspot)อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในเมืองนี้กำลังบูม จึงเปิดรับการลงทุนเข้าไปช่วยพัฒนา โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน ถนน และแหล่งน้ำยังไม่พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว มีปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมประจำ

จุดที่น่าสนใจที่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายคือ จีดีพีเฉลี่ยปีละ 5.4%  อัตราค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับขนาดประชากรในเมืองแห่งนี้ที่มีเพียง 9 แสนคน ในจำนวนนี้ 80% เป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเขตชนบท สะท้อนให้เห็นว่ายังเกิดช่องวางทางการพัฒนาเมือง ที่กระจุกตัวเฉพาะในเมือง จึงถือเป็นโอกาสของนักลงทุนที่จะเข้าไปเติมเต็ม จากปัญหาด้านการการกระจายรายได้ กลุ่มประเทศที่จะเข้าไปลงทุน จึงเข้าไปพร้อมกับให้ความช่วยเหลือพัฒนาด้านสาธารณูปโภค เช่น องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(JICA)เข้าไปปักธงช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐาน

ผลศึกษายังพบว่า เสียมเรียบเป็นโบราณสถาน อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงเติบโต ขณะเดียวกันยังต้องการการพัฒนาต่อเนื่อง ทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ โรงแรมที่ได้มาตรฐาน และโครงสร้างพื้นฐาน นั่นจึงเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยรายเล็กและกลาง ที่จะเข้าไปร่วมพัฒนาสิ่งที่เมืองนี้ยังต้องการ

ผลศึกษายังแนะนำให้เล็งเสียมเรียบไว้สำหรับการลงทุนด้านบริการที่เชื่อมโยงกับภาคการท่องเที่ยว เพื่อรองรับชาวตะวันตก ที่น่าสนใจคือ กลุ่มคนทำงานจากตะวันตก มีเงินเดือนและค่าครองชีพที่สูง จึงต้องการเงินทุนเข้าไปช่วยพัฒนาคน อุตสาหกรรม และเมือง 

จากจุดแข็งของเมืองนี้คือ “แหล่งท่องเที่ยว” ดังนั้น อุตสาหกรรมเป็นตัวชูโรง (Key Industries) คือ เกษตร ท่องเที่ยว โลจิสติกส์ ป่าไม้ ก่อสร้าง ป่าไม้ หัตถกรรมรวมถึงอาหารเพราะยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการ และบางด้านยังไม่ได้มาตรฐานตามที่นักท่องเที่ยวต้องการ 

ตามมาด้วยเมือง จำปาสักในลาว เมืองตอนใต้ที่เชื่อมต่อไปยัง 3 ประเทศเพื่อนบ้าน คือ ไทย กัมพูชา และเวียดนาม เมืองมีความเป็นธรรมชาติ น่าท่องเที่ยว เหมาะแก่การทำเกษตร ทั้ง สับปะรด กาแฟ

จำปาสัก ยังเป็นจังหวัดที่มีการเติบโตรายได้ต่อหัวของประชากร มูลค่า1,034 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปีในปี2558 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1,514 ดอลลาร์ต่อคนต่อปีใน 2561 ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่มีเศรษฐกิจดี ประชากรมีรายได้สูงกว่าเมืองหลวงเวียงจันทน์ ที่มีรายได้ต่อหัวเพียง 835 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี

เช่นเดียวกันกับจีดีพี สูงถึงปีละ 8% ในปี2552 ทำให้กลายเป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุนหลายโครงการจากต่างชาติ อีกทั้งกฎหมายยังเปิดกว้างรับเงินลงทุนต่างชาติ ที่สำคัญยังมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ แม้จะยังมีปัญหาและความท้าทายมีด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ยังรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ทัน แต่นั้นกลับกลายเป็นโอกาสในการเปิดรับทุนจากต่างประเทศ โดยอุตสาหกรรมที่เป็นโอกาส คือ เกษตร เช่น กาแฟ ชา ถั่วเหลือง และหวาย รวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร

นอกจากนี้ รัฐบาลลาวยังเปิดกว้างการลงทุน ด้านการผลิตแปรรูปสินค้าเกษตร โครงสร้างพื้นฐาน ท่องเที่ยวและบริการ อุตสาหกรรม โลจิสติกส์ รวมถึงการพัฒนาคน

มาที่ มัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เป็นเมืองด้านการค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากย่างกุ้ง เป็นเมืองที่ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ของ เมียนมา เพราะอยู่จุดศูนย์กลางทางผ่านไปยัง อินเดีย จีน และสามารถเชื่อมไปยังไทยได้โดยไม่ต้องผ่านเมืองหลวงย่างกุ้ง โดยใช้เวลาเดินทางรถยนต์ 21 วัน จากอินเดีย ผ่านมัณฑะเลย์ ลงมายังกรุงเทพฯ

ที่น่าสนใจคือ เป็นเมืองที่มีจีดีพี เติบโตถึง 11.4% มีประชากรกว่า 1.2 ล้านคน เงินลงทุนจากต่างประเทศขยายตัว 8% หรือมูลค่า 8,000 ล้านดอลลาร์ ระหว่างปี 2557-2558

จุดแข็งของเมืองนี้อยู่ตรงที่ค่าที่ดินราคาถูกกว่าย่างกุ้ง ที่สำคัญยังมีแรงงานมีทักษะจำนวนมาก และกำลังเติบโตด้านการลงทุนภายใน3ปีข้างหน้า โดยจะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และด้านการบริการภาครัฐ เรื่องที่ยังเป็นปัญหาก็เช่นเดียวกันกับเมืองย่างกุ้ง ที่มักเกิดปัญหาไฟฟ้าตก

โดยพื้นที่อุตสาหกรรมที่น่าสนใจซึ่งภาครัฐส่งเสริมให้เข้าไปลงทุนที่ใกล้เมืองมัณฑะเลย์มี 3 แห่ง คือ Myingyan Industrial Zone ,Meiktila Industrial Zone และ Myotha industrial park project

อุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมาย ยังใกล้เคียงกับประเทศอื่น เพราะเป็นสิ่งที่ไทยถนัด คือ ด้านการเกษตร และป่าไม้ การท่องเที่ยว และเหมืองแร่ ที่แตกต่างจากประเทศอื่นคือ กำลังส่งเสริมด้านการตั้งฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ส่วนอุตสาหกรรมที่เป็นโอกาส คือ ผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร และอาหารแปรรูป การค้าและการขนส่ง

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมที่รัฐบาลกำลังโปรโมทและเชิญชวนให้คนไปลงทุน มีตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำยันปลายน้ำ เพราะเป็นเมืองที่เพิ่งเริมต้นเปิดประเทศ จึงพร้อมรองรับให้เข้าไปสร้างฐานการผลิตในทุกสินค้า เช่น โลจิสติกส์ คลังสินค้าเพื่อกระจายสินค้าไปยังต่างประเทศ อุตสาหกรรมเส้นใยผ้า และเครื่องนุ่งห่ม พลังงานทางเลือก บริการ ค้าปลีก การศึกษา สุขภาพและพยาบาล รวมถึงการบริหารต่าง เช่น การเงินและการธนาคาร

ไฮฟองในเวียดนาม เมืองที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือของเวียดนาม และยังติดชายทะเล มีทำเลที่ตั้งที่น่าสนใจ เพราะเชื่อมต่อกับจีนได้โดยทางรถยนต์ระยะทางไม่เกิน 200 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง ไปยังเมืองหลวงฮานอย หรือ120 กิโลเมตร มีการบริหารจัดการของรัฐบาลท้องถิ่นที่วางแผนอย่างเป็นระบบ น่าสนใจที่สุดตรงจีดีพี สูงถึง12.78%ในปี 2549- 2551 และจีดีพีด้านการก่อสร้างและอุตสาหกรรมเติบโตถึง13.7%หากแยกเป็นเฉพาะอุตสาหกรรมเติบโตถึง14.2% เป็นเมืองเป้าหมายของนักลงทุนในปี 2551 มีมูลค่าการลงทุนรวมถึง1,615ล้านดอลลาร์

รัฐบาลเวียดนาม ยังโปรโมทอย่างหนักให้เป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีชั้นสูง จึงสนับสนุนให้สิทธิพิเศษเต็มที่เพื่อเชิญชวนให้อุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่จากต่างชาติมาลงทุน เช่น แอลจี ซัมซุง และไมโครซอฟต์ ก็ปักธงในเมืองนี้ เป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่จะส่งชิ้นส่วนประกอบที่ผลิตในเวียดนาม ไปประกอบในจีน

ตามผลศึกษาระบุว่า เป็นเมืองยุทธศาสตร์ ที่กำลังขยายการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน สนามบินยกระดับให้เป็นสนามบินนานาชาติ(International Airport)เพราะในอนาคตเมืองจะขยายอีกเท่าตัวใน10-15ปี ข้างหน้า ทั้งด้านสนามบิน และท่าเรือ ถนน รวมถึงนิคมอุตสาหกรรม

รัฐบาลเวียดนามยังเตรียมพร้อมเพื่อพัฒนาเมืองให้เป็นอุตสาหกรรมในหลากหลายด้าน โดยต้องการพัฒนาให้เป็นซิลิคอน วัลเลย์ แห่งอาเซียน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต รวมถึงการมีมาตรการรองรับ บรรยากาศของกากรดึงคนเก่งๆ ทั้งอาจารย์ และวิศวกรรมจากต่างชาติ เข้ามาทำงานในไทย รวมถึงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์รองรับโดยอุตสาหกรรมที่โดดเด่น คือ ด้านทรัพยากรมนุษย์ วิศวกร

โดยสรุปหากให้มองทั้ง4เมืองใน4ประเทศ ผลวิจัยระบุว่า หากแยกยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับสินค้า ที่ต้องการก่อนแล้วจึงเลือกเมืองให้เหมาะกับโอกาสธุรกิจที่เริ่มต้น ที่สำคัญต้องรู้ตำแหน่งสินค้าของตัวเองว่าต้องการเจาะตลาดเฉพาะ หรือ เจาะตลาดทั่วไป หากต้องการเจาะตลาดเฉพาะควรเน้นเจาะกลุ่มคนรวย โดยในกัมพูชา และในเวียดนาม คล้ายกันตรงที่กลุ่มคนรวยยังกระจุกตัว แตกต่างจากเมียนมา ที่มีอัตรารายได้และการพัฒนาใกล้เคียงกันทั้งประเทศ

---------------------

ส่อง เมกะเทรนด์อาเซียน

อรุณวิชญ์ วัฒนาพัฒน์กิตติ” เจ้าหน้าที่ํพัฒนาธุรกิจ สำนักงาน ดรีม ออฟฟิศ ซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานร่วม (Co-Working space) ภายใต้ C asean หนึ่งในทีมร่วมทำวิจัยสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมเมืองรอง โอกาสขุมทองธุรกิจไทย ในซีแอลเอ็มวี อธิบายถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในซีแอลเอ็มวีว่ามี 5 กระแสแรง ได้แก่ 

1.ฐานประชากรชนชั้นกลางและเศรษฐีใหม่กำลังเพิ่มสัดส่วนขึ้น (Growing Middle Class Rise of New Riches) เมื่อมีคนรวยมากขึ้นแต่ยังอยู่ในวงจำกัด และฐานชนชั้นกลาง ที่มีจำนวนสูงกว่าคนรวย ก็นำไปสู่การเพิ่มรสนิยมอยากใช้สินค้าดี ราคาแพงขึ้นเพื่อให้สมกับฐานะ ที่มีอำนาจจับจ่ายมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของเหล่าสินค้าพรีเมี่ยม

“สินค้าไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีมาก หากเทียบกับสินค้าจากจีน แค่เพียงเห็นตัวอักษรไทยบนสินค้า ทัศนคติของคนในประเทศเพื่อนบ้านก็เชื่อในสินค้าไทยมากกว่าตัวหนังสือจีนบนแพ็คเกจ หนึ่งในรสนิยมที่ต้องเห็นแล้วต้องฉกฉวยโอกาส”

2.ประชากรในเพื่อนบ้านที่ย้ายถิ่นฐานไปเติบโตในประเทศที่ 3 (Oversea Aseaners have return home) เช่น อังกฤษ อเมริกา หรือ ยุโรป จนได้รับสัญชาติและพลเมืองของประเทศเหล่านี้ กลุ่มคนเหล่านี้กลับมาบ้านเกิดมากขึ้น และเป็นหนึ่งปรากฎการณ์ของความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความคิด ของคนตะวันตกผสมกับตะวันออกในตัวคนเดียว ดังนั้นกลุ่มคนเหล่านี้ยังมีส่วนในการเพิ่มช่องว่างทางสังคมของวัฒนธรรรมหลากหลาย แต่มีอิทธิพลในการติดต่อธุรกิจที่นักธุรกิจในบ้านเราจะมองข้ามไม่ได้

มีโอกาสที่กลุ่มคนเหล่านี้จะเปิดกว้างรับวัฒนธรรมหลากหลายมากขึ้นและชาตินิยมน้อยลง จึงสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ของไทยหรือคนต่างชาติได้เข้าใจอย่างไม่มีแพงเชื้อชาติกั้น

3.พลังของผู้หญิงที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทในสังคมและเป็นผู้นำมากขึ้น (Woman Power) จากอดีตที่สังคมยอมรับลูกผู้ชายเป็นผู้สืบสกุล ทำให้ลูกผู้หญิงต้องเป็นกองหลังในครอบครัวฝ่ายทำงานบ้าน ดูแลบ้าน จึงต้องรับบทหนักที่ทำให้เติบโต การถูกหล่อมหลอมเช่นนี้ทำให้ผู้หญิงมีความตั้งใจในการทำงาน มีพลัง และก้าวมาเป็นผู้นำระดับแถวหน้าขององค์กร

4.มีผู้ประกอบการพันธุ์ใหม่ (Rise of Startups)ในสังคมมีเด็กรุ่นใหม่อยากเป็นเจ้าของกิจการสนใจทำธุรกิจ ที่มีวิธีคิด และสร้างธุรกิจใหม่มากขึ้น รวมถึงภาครัฐ ทั้งในเวียดนาม และรัฐบาลไทยก็ส่งเสริมการแบบอัดแน่นให้คนทำสตาร์ทอัพเกิดขึ้นมาเป็นกองกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล

5.กลุ่มสังคมคนเมืองขยายตัวมากขึ้น (Urbanization & Urban Lifestyle) วิธีชีวิตการจับจ่ายของคนเมืองที่มีกำลังการบริโภคเพิ่มขึ้น และมีรสนิยมใกล้เคียงกัน ทั้งช็อปปิ้ง แต่งตัว เช่น ที่เห็นในห้างพนมเปญเปิดเพิ่มขึ้น มีสินค้าแบรนด์เนม ร้านกาแฟ ไม่ต่างจากเมืองไทย

-------------------

พลังหนุ่มสาวเคลื่อนตลาด

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการ C asean ย้อนรอยวิวัฒนาการความเปลี่ยนแปลงภายหลังปรากฎการณ์การรวมอาเซียนเป็นหนึ่งเดียว นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เติบโตรวดเร็วอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่ประชากรเติบโตจาก50ปีก่อน มีประชากร216ล้านคน ปัจจุบันประชากรอาเซียนรวมกันกว่า630.5ล้านคน ที่สำคัญในจำนวนประชากรเหล่านี้สัดส่วนกว่า “ครึ่งหนึ่ง” เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในวัยทำงาน นั่นหมายถึงอาเซียนมีพลังของคนหนุ่มสาว อยู่ในวัยทำงานเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอาเซียนให้ร้อนแรงต่อเนื่อง

ที่สำคัญ สัดส่วนของประชากรอาเซียนที่มีกลุ่มคนเมืองเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ จาก 39.9 ล้านคน เพิ่มเป็น 300 ล้านคนใน 50 ปี เมื่ออำนาจการบริโภคจับจ่ายซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นมา อาเซียนจึงเป็นที่หมายปองของสินค้าและบริการ จึงเกิดการค้าระหว่างกันในอาเซียนค่อยๆเพิ่มขึ้นจาก 18.8% ในปี 2540 เพิ่มเป็นสัดส่วน 23.8% ในปี2550 ล่าสุดปี 2559ยอดการค้าเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน23.9%

“เป้าหมายน่าจะเพิ่มขึ้นถึง40 %เป็นอัตราที่จะสะท้อนถึงความทรงพลังในอาเซียนผนึกกำลังกัน” ดร.การดี ระบุ

นั่นจึงทำให้อาเซียนดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ อัตราการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI-Foreign Direct Investment)ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 35,000ล้านดอลลาร์ ในปี2540 เพิ่มขึ้นเป็น 82,000 ล้านดอลลาร์ในปี2550 ล่าสุดปี 2559 เงินลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 125,700 ล้านดอลลาร์

ในปี 2563 คาดการณ์ว่าอาเซียนจะเป็นภูมิภาคที่น่าลงทุนเป็นอันดับ 5 ของโลก

นั่นจึงเป็น ขุมทองบ่อใหญ่ หลังม่านอาเซียนที่ทั้งธุรกิจขนาดเล็ก กลางใหญ่ สตาร์ทอัพต้องไม่พลาดเกาะขบวนไปพร้อมตลาด