ส่องเทรนด์สื่อ-คอนเทนท์รับ‘ดิจิทัลไลฟ์’

ส่องเทรนด์สื่อ-คอนเทนท์รับ‘ดิจิทัลไลฟ์’

สถิติการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรไทยที่สัดส่วน 56% ขณะที่อัตราการครอบครองมือถืออยู่ที่ 122% ในจำนวนนี้ 87% เป็น “สมาร์ทโฟน”

จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคม “โมบาย เฟิร์ส” ที่ผู้บริโภคใช้งานมือถือเป็นอุปกรณ์แรก เพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เสพคอนเทนท์ และการใช้งานในชีวิตประจำวัน ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ที่บรรดา “แบรนด์” ต่างๆ ต้องปรับกลยุทธ์ด้านการนำเสนอคอนเทนท์และการใช้สื่อ

บริษัท ทรีซิกตี้ไฟว์ จำกัด (มหาชน) หรือ TSF สัมมนาเรื่อง “Winning The Last Mile” เพื่ออัพเดทเทรนด์ผู้บริโภคและสื่อในยุคดิจิทัล

พงศ์วิวัฒน์ ทีฆคีรีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาดและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ บริษัทคาร์มาร์ท จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจนำเข้า ผลิต และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง กล่าวว่าในยุคที่ผู้บริโภคเข้าถึงสื่อออนไลน์และมีพฤติกรรมเสพคอนเทนท์หลากหลายช่องทาง ส่งผลให้แบรนด์ต้องวิเคราะห์และปรับตัว “เลือกใช้สื่อโฆษณา” ในยุคนี้ เพื่อทำให้การใช้งบประมาณและกลยุทธ์สื่อสารแบรนด์เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

หากวิเคราะห์ “เทรนด์สื่อและคอนเทนท์”  ที่สามารถดึงความสนใจจากผู้บริโภคในยุคนี้ จะต้องเป็น “งานปัง” รูปแบบสั้นๆ เรียบง่าย ไม่ยืดเยื้อ เป็นงานที่เรียกความสนใจจากผู้ชมให้ดูตั้งแต่ต้นจนจบ เกาะติดเส้นทางการใช้ชีวิตผู้บริโภคในทุกช่องทาง อีกทั้งต้องเป็น ที่สามารถ “สอดไส้คอนเทนท์ของแบรนด์ไปได้ทุกที่” เพื่อทำให้การใช้สื่อได้ประโยชน์กับแบรนด์สูงสุด

ในยุคที่สื่อออนไลน์ และโซเชียล มีเดีย ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ดังนั้นคอนเทนท์และสื่อต้องสามารถเกาะกระแส “ดราม่า” ที่สามารถสร้างจุดสนใจและดึงให้ผู้บริโภคอยู่กับคอนเทนท์

ปัจจุบันผู้บริโภคเปิดกว้าง รับสื่อและคอนเทนท์ที่หลากหลาย เรียกว่าเป็นสื่อที่ “ดีต่อใจ” รูปแบบเบาสมอง เฮฮา ขำขัน เข้าใจง่าย ในยุคนี้แบรนด์ จึงต้องกล้าสร้างสรรค์งานที่ “แตกต่าง” จากตลาดและคู่แข่ง ตัวอย่างกลยุทธ์สื่อสารของ เครื่องสำอาง “คาร์มาร์ท”  ที่มีกลุ่มเป้าหมายผู้หญิง แต่เลือกใช้ พรีเซนเตอร์ผู้ชาย มาดึงความสนใจจากผู้บริโภค ซึ่งพบว่าได้ผลลัพธ์ที่ดีด้านยอดขาย เช่นเดียวกับการเลือกใช้ บิวตี้ บล็อกเกอร์และเน็ต ไอดอล ที่ไม่ใช่คนดังมารีวิวสินค้า พบว่าได้รับความสนใจและความน่าเชื่อถือจากผู้บริโภค ที่เห็นว่าเป็นข้อมูลที่เกิดจากการใช้งานจริง

ด้วยพฤติกรรมคนไทยที่สนใจติดตามกระแสดราม่าใน โลกออนไลน์ ทำให้สื่อและคอนเทนท์ แนวงาน”ขุดเผือก” ในประเด็นที่น่าสนใจ รวมทั้งเพซบุ๊คเพจ ที่นำเสนอคอนเทนท์แนวติดตามประเด็น ดารา คนดัง และกระแสต่างๆ ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ดังนั้นแบรนด์ต่างๆ ต้องให้ความสำคัญวางกลยุทธ์สื่อสารผ่านช่องทางสื่อใหม่เหล่านี้

ปัจจุบันทั้งเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เรียกว่าเป็นเทรนด์สื่อ “เร็วแรงแซง4G” ดังนั้นแบรนด์ต้องเกาะกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งเทรนด์การใช้งาน วีดิโอ คอนเทนท์  ที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เพราะพฤติกรรมคนไทยชอบดูภาพ มากกว่าการอ่าน เช่นเดียวกับแนวโน้ม โซเชียล อินฟลูเอนเซอร์ ที่สามารถดึงความสนใจจากผู้บริโภคได้ไม่ต่างจาก พรีเซนเตอร์ดาราดัง

ดังนั้นแบรนด์ต้องสร้างสรรค์การสื่อสารผ่านทุกช่องทางสื่อ ที่อยู่ในความสนใจของผู้บริโภคในยุคที่เทคโนโลยีและพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

  ทางด้าน พงศกร คอวนิช ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารและกิจกรรมการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่าในยุค “ดิจิทัล ไลฟ์” ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในทุกด้าน ทั้งรูปแบบการใช้ชีวิต การเสพสื่อและคอนเทนท์ที่แตกต่างจากเดิม วันนี้ผู้บริโภคใช้เวลาอยู่กับสมาร์ทโฟนวันละ 4 ชั่วโมงต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัล สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและคอนเทนท์ตลอดเวลาผ่านสมาร์ทโฟนที่อยู่ติดตัว กลายเป็น “แอคทีฟ คอนซูเมอร์”  ที่ค้นหาข้อมูลด้วยตัวเอง จึงมีแนวโน้มไม่เชื่อโฆษณา การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้แบรนด์ ต้องปรับกลยุทธ์สื่อสารและสร้างสรรค์คอนเทนท์ให้สอดคล้องไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคนี้

ปัจจุบันสื่อดิจิทัล มีอิทธิพลเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากตัวเลขผู้ใช้สื่อโซเชียล สัดส่วน 60% ของประชากรไทย จำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊ค ราว 40 ล้านราย ,ไลน์ 33 ล้านราย ,ยูทูบ เข้าถึงผู้เสพคอนเทนท์วีดิโอ กว่า 20 ล้านราย ใกล้เคียงกับจำนวนผู้ชมฟรีทีวี ช่อง 3 และช่อง 7 ที่เข้าถึงผู้ชมราย 23-24 ล้านคน

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเสพสื่อของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ทำให้แบรนด์ ต้องปรับรูปแบบการสื่อสาร ผสมผสานสื่อทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อสร้างความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณและมีประสิทธิภาพเข้าถึงผู้บริโภคในทุกช่องทาง