ThaiGAP มาตรฐานพืชผักดีต่อใจ

ThaiGAP มาตรฐานพืชผักดีต่อใจ

ITAP ร่วมยกระดับและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสินค้าผักผลไม้โดยอ้างอิงมาตรฐาน ThaiGAP เฟส 2 ระยะเวลา 3 ปี ตั้งเป้าหมาย 50 ราย ใช้งบ 10 ล้านบาท

ยอดขายกล้วยหอมทองของคิง ฟรุทส์โตกว่า 100% ยอดการสั่งซื้อส้มของนันธาวรรณฟูดส์ก็เพิ่มขึ้น 80% คือผลสำเร็จของมาตรฐานไทยแก็ป (ThaiGAP) ในเฟสแรก ที่ช่วยดันยอดขายและสร้างมั่นใจให้กับผู้บริโภค สวทช.จึงตัดสินใจเปิดเฟสสองเพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรผู้ผลิตเข้ามาร่วมสร้างมาตรฐาน


ThaiGAP คือมาตรฐานระบบการผลิตสำหรับภาคเกษตรของไทยที่กำหนดขึ้นโดยภาคเอกชน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้าและผู้บริโภคว่า สินค้าเกษตรที่ผลิตในไทยปลอดภัยจากสารเคมีและเชื้อโรคที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค รวมถึงสัตว์และสิ่งแวดล้อม โดยมีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าของมาตรฐานนี้


โอกาสของผักผลไม้ไทย


สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ดำเนินโครงการยกระดับและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสินค้าผักผลไม้โดยอ้างอิงมาตรฐานไทยแก็ป มีผู้ประกอบการเข้าร่วมนำร่อง 26 ราย ซึ่งรวมถึงคิงฟรุทส์โตกและนันธาวรรณฟูดส์ สำหรับโครงการเฟส 2 ระยะ 3 ปี ตั้งเป้า 50 ราย ใช้งบ 10 ล้านบาทเพื่อให้การสนับสนุนการบริหารจัดการระบบการผลิต เช่น การใช้สารเคมี การจัดเก็บ การบันทึกการปฏิบัติ เพื่อให้สามารถทวนสอบผลผลิตย้อนกลับได้ 


ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับผักและผลไม้ส่วนใหญ่ เป็นองค์กรขนาดเล็กหรือเป็นลูกค้ารายย่อยที่ขาดศักยภาพทางด้านการแข่งขันและการพัฒนาเทคโนโลยี ขาดบุคลากรที่มีความรู้และความสามารถเฉพาะทาง รวมถึงขาดแคลนเงินทุนที่จะพัฒนาและยกระดับมาตรฐานสินค้า 
เช่น GlobalGAP มาตรฐานการส่งออก ซึ่งมีข้อกำหนด 26 ข้อใหญ่ 234 ข้อย่อย ขณะที่ ThaiGAP มีข้อกำหนด 17 ข้อใหญ่ 167 ข้อย่อยและ มาตรฐาน Primary ThaiGAP ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับพื้นฐานสำหรับในประเทศ ที่มีข้อกำหนดเพียง 6 ข้อใหญ่ 24 ข้อย่อย เน้นเฉพาะระบบความปลอดภัยในการผลิต ที่จะทำให้เกษตรกรเข้าใจง่ายและนำไปปฏิบัติได้ถูกต้อง


ล่าสุดลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพริกในสกลนคร เข้าร่วมโครงการ Primary ThaiGAP ผลที่ตามมาคือ ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ของไทยสนใจรับซื้อผลผลิตเพื่อใช้แทนพริกนำเข้าจากอินเดีย ปีละ 1 พันตัน จากเดิมที่เจอปัญหาพริกที่ผลิตในไทยไม่มีมาตรฐาน จึงกลายเป็นโอกาสที่กลับสู่เกษตรกรไทยอีกครั้ง


ขยายตลาดลูกค้ากว้างขึ้น


เสาวณี วิเลปะนะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิง ฟรุทส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายกล้วยหอมรายใหญ่ของประเทศ กล่าวว่า ThaiGAP ช่วยสร้างความแตกต่าง และกลายเป็นผู้เลือกจากเดิมที่เป็นผู้ถูกเลือกว่า จะขายที่ไหน ด้วยคุณภาพการผลิตที่มีมาตรฐาน ลูกค้าจึงให้การตอบรับทำให้สามารถขยายธุรกิจได้เร็วมาก ช่องทางการขยายตลาดเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือปีนี้สามารถต่อยอดด้วยการเปิดไลน์การผลิตจากที่จำหน่ายผลสดแตกไลน์เป็นเบเกอร์รี่ส่งให้ห้างแมคโคร และอนาคตจะเปิดหน้าร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เบเกอร์รี่และขนมขบเคี้ยวที่ใช้วัตถุดิบจากสวนเกษตรของบริษัท


ขณะเดียวกัน สุธา เทศทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท นันธาวรรณฟูดส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายส้ม มะเขือเทศราชินี พาสลี่ย์ โรสแมรี่ กล่าวว่า ผลการตอบรับหลังจากเข้าร่วมโครงการ มีโอกาสที่คู่ค้าจะสั่งของเพิ่ม ยกตัวอย่าง ห้างแมคโครสั่งเพิ่ม 80% อย่างไรก็ตาม แนวทางการทำตลาดต้องดูว่า ผลิตภัณฑ์ไหนที่คู่แข่งน้อยหมายความว่า เวลาที่ขาดไม่สามาถนำเข้ามาได้ เราจะไปโฟกัสที่ตัวนั้น เช่น ผักบางตัวหน้าหนาวปลูกไม่ได้ เราก็พยายาที่จะปลูกให้ได้ ด้วยการปรับอุณหภูมิภายในโรงเรือน ยกตัวอย่าง โรสแมรี่ ชอบอากาศร้อน ฉะนั้น ก่อนหน้าหนาว 4 เดือนบริษัทจะวางแผนการปลูกล่วงหน้าเพื่อตอบรับกับความต้องการของตลาด


นอกจากนี้ การทำเกษตรยุคนี้ต้องไวเรื่องข้อมูล อย่างของบริษัทจะให้ความสำคัญเรื่องของข้อมูลอากาศ อยู่ทางภาคเหนืออากาศผันผวนมีผลต่อการใส่ปุ๋ย พ่นยา ต้องเช็คทุกสัปดาห์ว่า ต้องรดน้ำหรืองดน้ำ การติดตามการพยากรณ์อากาศล่วงหน้าจึงจำเป็น พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแลและควบคุมผลผลิต เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด