'ไออาร์พีซี'คาดกำลังผลิตปีนี้อยู่ที่ 1.72แสนบาร์เรล/วัน

'ไออาร์พีซี'คาดกำลังผลิตปีนี้อยู่ที่ 1.72แสนบาร์เรล/วัน

"ไออาร์พีซี" คาดกำลังผลิตปีนี้ลดลงอยู่ที่ 1.72 แสนบาร์เรล/วัน หลังปิดซ่อมโรงกลั่น 30 วัน พร้อมตั้งงบลงทุนปีนี้ที่ 1.15 หมื่นล้านบาท

นางรัชดาภรณ์ ราชเทวินทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายบัญชีและการเงิน บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)หรือ IRPC กล่าวว่า บริษัทตั้งงบลงทุน 5 ปี (60-64) วงเงิน 2.07 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าปีนี้จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.15 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นผลิตโพลีโพพิลีน วงเงินลงทุน 4.14 พันล้านบาท โครงการ UHV วงเงิน 1.7 พันล้านบาท โครงการ Everest วงเงิน 826 ล้านบาท ซ่อมบำรุง วงเงิน 3 พันล้านบาท และอื่นๆ อีกประมาณ 1.6 พันล้านบาท ส่วนการลงทุนในปี 61-64 ส่วนใหญ่จะเป็นการซ่อมบำรุง โดยใช้งบ 2 พันล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ บริษัทเตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทพิจารณาลงทุนผลิตพาราไซลีน กำลังผลิต 9 แสนตันต่อปี และเพิ่มกำลังผลิตเอทธิลีน อีก 3 แสนตันต่อปี รวมมูลค่าลงทุน 1-1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ฯ หากได้รับการอนุมัติ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 62-63 ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าวยังไม่รวมอยู่ในงบลงทุน 5 ปี ของบริษัท

สำหรับกำลังการผลิตปีนี้ คาดอยู่ที่1.72 แสนบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากปี 59 ที่อยู่ 1.83 แสนบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น เป็นเวลา 30 วัน

นางรัชดาภรณ์ กล่าวว่า ปีนี้บริษัทตั้งเป้าโครงการ Everest จะสร้าง EBITDA มูลค่า 7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 59 ที่มี 2.31พันล้านบาท แต่จากที่บริษัทหยุดซ่อมโรงกลั่น 30 วัน ทำให้คาด EBITDA ปีนี้อยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 1.74 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาขายหรือให้เช่าที่ดิน ที่มีอยู่ 7 พันไร่ แบ่งเป็นที่ อ.จะนะ จังหวัดสงขลา 3 พันไร่ และที่เหลืออยู่ที่ จ.ระยอง เนื่องจากบริษัทต้องการมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจหลัก ซึ่งปัจจุบันมีผู้สนใจขอเช่าที่ดินที่ อ.จะนะ เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าโซล่าร์ฟาร์ม

ทั้งนี้ ในเดือน พ.ค.นี้ บริษัทจะต้องชำระคืนเงินกู้ที่ครบกำหนด วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้จัดหาแหล่งเงินเรียบร้อยแล้ว โดยได้เซ็นสัญญากู้เงินจากสถาบันการเงิน 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY ธนาคารออมสิน ธนาคารทหารไทย หรือTMB และธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย หรือ CIMBT วงเงินรวม 1.5 หมื่นล้านบาท และเซ็นสัญญากู้เงินกับธนาคารธนชาต มูลค่า 5 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทลดลงเหลือ 3 % จากเดิมอยู่ที่ 4% นอกจากนี้ได้เซ็นสัญญาวงเงินกู้กับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)หรือ PTT มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อสำรองไว้หากบริษัทต้องการใช้เงินทุนในระยะสั้น