นักรบ มูลมานัส นักตัดแปะความแตกต่าง

นักรบ มูลมานัส นักตัดแปะความแตกต่าง

สักครั้งหนึ่งในการท่องโลกโซเชียล คุณอาจได้เห็นงานของ นักรบ มูลมานัส นักทำภาพประกอบหน้าใหม่ผสมความแตกต่างด้วยงานคอลลาจที่แปลกล้ำ

นักรบกล้าหยิบภาพของสิ่งที่แทนค่าความเป็น “ไทย” ตามประเพณีมาอยู่กับวัฒนธรรมตะวันตก ส่งให้เกิดเสียงวิพากษ์จากฟากหนึ่งถึงความเหมาะสมในการหยิบจับความเป็นไทยลงจากหิ้งมาคลุกกับสิ่งต่าง (ซึ่งแท้ที่จริงก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงของสังคม) อีกด้านหนึ่งก็สร้างความสนใจให้พุ่งเข้าหา ค่าที่ว่าเป็นนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ที่นานๆ ครั้งจะมีการพูดถึงความเป็นไทยในมุมมองนี้

ชั่วเวลาที่ผลงานของนักรบปรากฏออกมาเพียงราว 1 ปี เขาก็ได้รับเชิญไปพูดใน TED X Bangkok 2016 และมีนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกที่ HUBBA-TO เมื่อปลายปีที่แล้ว และกำลังจะมีงานแสดงอีกครั้งที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในกลางปีนี้ มาทำความรู้จักมุมมองของหนุ่มวัย 26 ดีกรีอักษรศาสตรบัณฑิต เอกภาษาไทยคนนี้ ที่ถือว่าเป็นศิลปินคอลลาจผู้มีงานชุกมากคนหนึ่ง

 

เรียนอักษรฯ แต่จริงๆ ชอบงานศิลปะ

ครับ แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างทำให้เราไม่ได้เลือกเรียนศิลปะ คือตอนที่เราอยู่มัธยม เรารู้สึกว่าระบบการศึกษาไม่ได้เอื้อให้เด็กค้นพบตัวตน หรือรู้ว่าเราชอบอะไร ก็นั่งเรียนวิทย์ – คณิตไป ไม่ได้มีวิชาเฉพาะทาง เช่น อยากเป็นนักข่าว หรืออยากดีไซน์ ก็ไม่มีอะไรให้เรียนรู้ว่าเป็นอย่างไร มันไม่มีที่ว่างให้กับความคิดความฝันของเด็กเท่าไหร่ เราก็ไม่กล้า เพราะไม่รู้ว่ามีหนทางอะไรรอเราอยู่ ตอนนั้นผมก็เรียนสายวิทย์ แต่ได้ไทย สังคม อังกฤษ และชอบเรื่องอ่านๆ เขียนๆ อยู่บ้าง ก็เลยเข้าอักษรฯ จุฬาฯ

การเรียนอักษรฯ ให้อะไรกับเราบ้าง

จริงๆ เรียนอักษรฯ ไม่ว่าเอกไทย หรือเอกอะไร ก็ไม่ได้เรียนภาษาอย่างเดียว แต่เหมือนเปิดคลังให้เรารู้ว่าโลกนี้มีอะไรบ้าง มีภาษา วัฒนธรรม มีความคิด ความเชื่อ มีปรัชญาอะไรบ้าง ทำให้เรามีคลังอะไรสักอย่าง ที่สามารถนำไปใช้ในแบบของตัวเอง เด็กอักษรส่วนใหญ่จะเอาคลังนี้เป็นวัตถุดิบของการเขียน แต่คลังที่เราได้เรียนรู้จากคณะ หรือจากชีวิตของเรานั้นเป็นวัตถุดิบในการทำงานสร้างสรรค์ของเรา ก็เลยเลือกที่จะทำงานภาพประกอบ หรือกราฟิกของเรา ซึ่งก็ใช้คลังแบบเดียวกับที่นักเขียนใช้

เรารู้สึกว่าคุณเลือกวัตถุดิบมาผสมผสานได้อย่างมีความรู้

สิ่งที่เราหยิบแต่ละอย่างก็มีความหมายในตัวเองอยู่แล้ว ถ้าเราหยิบอะไรที่อยู่กันคนละโลกเลยมาเจอกันจะเป็นอย่างไร เราทำงานของเราส่วนหนึ่ง แต่คนดูก็ต้องทำหน้าที่ของเขาส่วนหนึ่ง ในการรับรู้ตีความ ซึ่งเราโอเคกับการรับรู้ถึงความหมายในระดับต่างกัน ถ้าคนเห็นว่าสวยหรือไม่สวยเราก็โอเคแล้ว หรือเขาจะคิดต่อว่าอันนี้หมายความว่าอย่างไร เราก็แฮปปี้มากขึ้นที่คนดูได้ตีความ ได้เห็นไปอีกแบบหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วก็เหมือนหนังสือ ที่คนอ่านแล้วสนุกก็ระดับหนึ่ง แต่คนอ่านสนุกแล้วคิดต่อว่าอันนี้แฝงอะไรบ้าง ก็อีกระดับหนึ่ง ซึ่งเราก็แฮปปี้ในทุกระดับ

คุณชอบอะไรที่ขัดแย้งกัน?

ไม่ได้ชอบอะไรที่ขัดแย้งกันขนาดนั้น แต่รู้สึกว่าชีวิตหรือบ้านเมืองเราเป็นแบบนี้ มีความสะเปะสะปะ ซึ่งบางคนอาจไม่ชอบ แต่เรารู้สึกว่าเป็นเสน่ห์ ที่ทุกอย่างไม่ได้เหมือนกันแต่มาอยู่รวมกัน บางคนคิดว่าทุกอย่างต้องเหมือนกัน จะได้มีความสามัคคี มีความปรองดองกัน แต่เราคิดว่า ความแตกต่างนี่แหละทำให้สนุก ถ้าทุกคนแต่งตัวเหมือนกัน ทำผมเหมือนกันหมดก็จำเจ แต่ความแตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะทางวัฒนธรรมนั้นน่าสนใจ

ก็เลยเข้ากับเทคนิคคอลลาจที่เราเลือก?

ใช่ จริงๆ แล้วเทคนิคนี้ ไม่ต้องหรูหราถึงขนาดเรียกว่าคอลลาจ (Collage) แต่เพราะเราอยากสร้างงานศิลปะด้วยการวาด การระบายสี แต่เราทำแล้วไม่เวิร์คสักอย่าง เลยหาวิธีการที่...พอเรามีความคิด แล้วเราวาดไม่ได้ จะทำยังไงดี เราก็เลยค้นพบว่าเราชอบอ่านหนังสือ และเก็บคลังแมกกาซีนมานานแล้ว พอเราเห็นรูปสวยๆ เราก็มาตัดๆ แปะๆ ไว้ แล้วก็กลายเป็นสิ่งใหม่ที่มาจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว นี่แหละคือสิ่งที่เราทำได้ ซึ่งไม่รู้ด้วยซ้ำว่า สิ่งนี้จะเรียกว่างานศิลปะหรือเปล่า หรือจะเป็นสิ่งที่คนยอมรับหรือเปล่า แต่เรารู้สึกว่าตัวงานสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้ จริงๆ ก็เป็นภาพตัดปะธรรมดาที่ทุกคนสามารถทำได้อยู่แล้ว

โทนสีในงานของคุณเหมือนส.ค.ส.สมัยก่อน คุณซึมซับแนวทางนี้มาจากไหน

สิ่งหนึ่งที่ผมชอบคือของเก่าๆ เรารู้สึกว่าคนสมัยก่อนเขาทำอะไรสวยดี ประณีต กว่าจะออกมาได้ แต่คนสมัยปัจจุบันอาจทำงานสวยบ้างไม่สวยบ้าง ทุกคนสามารถทำได้ แต่คนสมัยก่อน คนที่ทำงานด้านนี้ก็ต้องทำด้านนี้จริงๆ แล้วก็ทำสิ่งที่ดีที่สุดออกมารับใช้สิ่งที่เขาเชื่อ เราเลยรู้สึกว่านี่แหละความเชื่อ ความศรัทธา ความรัก ทำให้เกิดศิลปะที่ดี สวยงาม และมาจากใจ จึงซึมซับสิ่งที่มาจากสมัยก่อนเยอะ งานของเราก็เลยออกมาแบบนั้น มาจากความชอบของในอดีต ไม่ว่าจะเป็นตึกรามบ้านช่อง สื่อสิ่งพิมพ์ หรืออะไรก็ตาม สวยหมดเลย

ใช้เวลานานไหมในการเลือกรูปมาเจอกัน

จริงๆ ตอนเลือกไม่นาน แต่ขั้นตอนที่นานคือการเก็บสะสมรวบรวม กว่าเราจะมีคลังของเราสักคลังหนึ่งมันยากพอสมควร เนิ่นนาน เราเป็นคนชอบสะสม ตอนเด็กๆ เก็บเหรียญ เก็บแสตมป์ โตขึ้นมาก็เก็บโปสการ์ด หนังสือเก่าใหม่ ตอนแรกเราใช้วิธีตัดออกมาเลย แต่พอนานๆ ไป บางเล่มเราเก่าแก่ หรือแบกมาจากเมืองหนอก ก็เสียดาย เลยทำอะไรให้เป็นดิจิทัลมากขึ้นโดยเอาไปสแกน ต้องมีคลังในหัว ในคอมพิวเตอร์ มีคลังในแฟ้ม ในตู้ของเรา เวลาเราคิดอะไรไม่ออกก็เอาสิ่งนั้นมากางแล้วก็ดูว่าอะไรอยู่กับอันไหนดี

ในช่วงปีที่ผ่านมางานของนักรบอยากบอกเล่าเรื่องอะไร

เป็นช่วงที่เราเริ่มต้น  เราก็อยากพูดถึงเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนเข้าใจ อยากให้ทุกคนยอมรับ ก็คือเรื่องวัฒนธรรม เรื่องความแตกต่างของคน ความแตกต่างของความคิด ซึ่งมันเบสิคมากเลย แต่ในสังคมปัจจุบัน จะมีใครก็ไม่รู้อยากให้ทุกคนคิดเหมือนกัน ทำตัวเหมือนกัน ซึ่งเราคิดว่าเป็นเรื่องพื้นฐานมากเลยที่ทุกคนต้องค้นหาความเป็นตัวของตัวเอง เชื่อในสิ่งนั้น แล้วทำในสิ่งที่เราอยากทำ หรือเรื่องของความแตกต่างหลากหลายในงานของเรา ที่มีความไทย มีความจีน มีความฝรั่ง ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว เราไม่ได้อยู่ในโลกเมื่อกี่ร้อยปีก่อนที่เราจะต้องเป็นคนนู้นคนนี้ แล้วเราต้องสู้รบกับประเทศเพื่อนบ้าน เรารู้สึกว่าเราอยู่ในโลกกลมๆ ที่ทุกคนใช้วัฒนธรรมของตัวเองผสมกับวัฒนธรรมของคนอื่น เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนจะฟอร์มอัตลักษณ์จากสิ่งที่เราชอบได้ เราเป็นตัวของตัวเองได้ จากการที่เราซึมซับเอกลักษณ์ของคนอื่น มันเป็นแบบนั้นเอง

คิดว่าจะพูดเรื่องนี้อีกนานไหม หรือ “ต้อง” พูดเรื่องนี้อีกนานเท่าไหร่

ก็คงต้องพูดอีกนานเนอะ เพราะเรายังรู้สึกว่าในสังคมเรา ทุกคนยังอยากเป็นอะไรสักอย่างอยู่เลย แล้วเราก็ถูกทำให้เชื่อว่าเราต้องเป็นแบบนั้นเป็นเหมือนกันทั้งหมดอยู่เลย แล้วเรารู้สึกว่ามันทำให้คนอื่นหรือตัวเราเองรู้สึกแย่นิดนึง จึงเป็นสิ่งที่เราต้องพูดต่อไปเรื่อยๆ แต่เราไม่ได้พูดตรงๆ จริงๆ เราไม่ได้อยากให้คนเห็นงานแล้วรู้สึกว่า เอ๊ะ นี่มันหมายถึงสิ่งนี้ แต่อย่างที่บอกแหละครับ ว่าคนรับทราบในระดับที่ต่างกัน และบอกได้ตามความรู้สึกจริงๆ ว่าชั้นชอบหรือไม่ชอบ ไม่ใช่ชั้นชอบเพราะรูปนี้ดัง ชอบเพราะรูปนี้เพื่อนชอบ ซึ่งจริงๆ ก็ควรจะต้องทำได้ทุกคนอยู่แล้ว แต่รู้สึกว่าคนในบ้านเมืองนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้น แล้วเราไม่สามารถตอบได้ว่าชั้นชอบสิ่งนี้หรือเปล่า จริงๆ ต้องบอกออกมาจากใจได้ว่าชั้นว่าไม่เห็นสวยเลย  เราก็โอเค เพราะเขาพูดออกมาจริงๆ แล้วเราก็มาคุยกัน ก็อาจได้สะท้อนมุมมองของกันและกัน และได้พัฒนาไปทั้งคู่

คนดูภาพของนักรบแล้วรู้สึกอย่างไร

ผมทำเพจเฟสบุ๊คซึ่งเปิดให้คนแสดงความเห็นได้ ก็มีคนมาดราม่าเหมือนกัน ว่าทำแบบนี้ไม่สมควร เอารูปพระ รูปเจ้ามาใช้ แต่เราคิดว่าสิ่งที่เราทำกลับเป็นการช่วยต่อยอด หรือเปล่า? ไม่งั้นรูปพระ รูปเจ้าก็ต้องวางไว้ในบริบทเดียวเท่านั้น คนรุ่นใหม่ก็จะไม่เห็นความเป็นไทย เช่น โขนหรือการรำไทยในบริบทอื่น นอกจากโรงละครแห่งชาติ ซึ่งแบบไม่ค่อยมีใครไปดู หรืออยู่ในสารคดีมรดกทางวัฒนธรรมเท่านั้น ผมรู้สึกว่าการที่คนรุ่นใหม่หยิบสิ่งเหล่านั้นมาทำเป็นงานศิลปะ ทำให้ได้เห็นสิ่งใหม่ๆ แล้วก็เกิดการต่อยอดสิ่งเหล่านี้มากกว่า เหมือนเป็นการได้แรงบันดาลใจจากรากเหง้าของเรามาทำเป็นยุคปัจจุบัน ซึ่งถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่ถูกปรับประยุกต์มาใช้ในปัจจุบันก็จะเป็นแค่ต้นฉบับ แล้วก็ไม่มีใครสนใจ สิ่งที่เราทำคนอื่นอาจมองว่าไม่เหมาะสม ไม่ดี หรือไม่ควร แต่เราคิดว่าการที่เราทำแบบนี้เพื่อให้คนรุ่นใหม่เห็นสิ่งเหล่านี้ในบริบทใหม่มากกว่า

ทำไมงานคอลลาจถึงดูน่าสะพรึงนิดๆ อยู่เสมอ

เพราะมันถูกตัด แล้วก็แปะ ผมรู้สึกว่าการถูกตัด เช่น รูปคนถูกตัดหัว รูปคนถูกตัดแขน รูปบ้านเมืองถูกตัดครึ่ง มันเป็นการทำลายล้างแบบหนึ่ง ไม่ได้ทำลายล้างในโลกจริง แต่ทำลายล้างในโลกเสมือน ถ้าเป็นโลกแห่งความจริงอาจเป็นการฆ่าหั่นศพ แต่ในโลกเสมือนกลายเป็นการสร้างศิลปะ จริงๆ การตัดก็คือการทำลาย อย่างหนังสือเราก็มีความเชื่อว่าเราไม่ควรตัดหนังสือ แต่เราก็ตัด หลังๆ ผมเสียดายก็เลยสแกนไปตัดในคอม ก็เหมือนการตัดในโลกเสมือนของโลกเสมือนอีกทีหนึ่ง

คนรุ่นคุณแสวงหาอะไรกัน

คนรุ่นผมก็ยังแสวงหาความฝันอยู่เนอะ พูดในฐานะคนอายุ 26 นะครับ ด้วยความที่เราอยู่ในยุคคาบเกี่ยวระหว่างยุคอินเตอร์เน็ท แต่ก็ไม่ได้โตมากับอินเตอร์เน็ทขนาดนั้น เด็กที่เขายังเรียนอยู่ตอนนี้ เขารับรู้ถึงตัวตน แสวงหาตัวตนได้มากกว่ารุ่นเรา เพราะเขาเข้าถึงข้อมูลได้เยอะ แต่รุ่นเราไม่ขนาดนั้น ทำให้บางคนเจอบ้าง ไม่เจอบ้าง ว่าสิ่งที่อยากทำเพื่อความฝันของเราคืออะไร ช่วงนี้เราเรียนจบมหาวิทยาลัยมาแล้ว 2 - 3 ปี เป็นช่วงที่เราแสวงหาจริงๆ ว่าเราคืออะไร คนรุ่นผมก็แสวงหาตัวตนและความฝันของตัวเองนั่นแหละ แต่อาจมีคนโชคร้ายจำนวนมาก ที่ไม่ได้รู้ว่าตัวเองชอบหรือรักอะไร หรือมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ก็รู้แหละว่าตัวเองชอบอะไร แต่ด้วยสิ่งที่ถูกหล่อหลอมมา ก็ทำให้เราไม่ได้กล้าที่จะออกไปทำเพื่อสิ่งนั้นมากเท่าไหร่

แล้วนักรบมองงานของตัวเองต่อไปอย่างไร

เราอยากทำอะไรไปเรื่อยๆ อยากจะเขียนด้วย อยากทำหลายอย่าง แต่ตอนนี้เราทำได้แค่นี้ก่อน สมมติว่าอยากทำหนัง ก็อาจต้องสะสมประสบการณ์ก่อน แต่หวังว่าในอนาคตจะได้ทำอะไรในบทบาทอื่นๆ อีก เพราะเราว่างานเราก็ไปอยู่ได้ในหลายสิ่ง ไม่แน่ใจว่าอนาคตจะนำพาเราไปทางไหน แต่เราก็อยากทำอีกหลายอย่างเท่าที่มีโอกาสครับ