ศก.เพื่อนบ้านจ่อแซงไทย ‘สังคมสูงวัย’ รั้งเติบโต

ศก.เพื่อนบ้านจ่อแซงไทย ‘สังคมสูงวัย’ รั้งเติบโต

"PwC" เผยผลสำรวจ เศรษฐกิจเพื่อนบ้านจ่อแซงไทย ระบุ "สังคมสูงวัย" รั้งเติบโต

สำหรับรายงาน The World in 2050 : The long view: how will the global economic order change by 2050? ที่ทำการศึกษาผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ที่คำนวณตามหลักความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (Purchasing power parities หรือ PPPs) โดยใช้ราคาสินค้าและบริการในสหรัฐ เป็นฐานในการคำนวณ และแสดงผลในสกุลเงินดอลลาร์ เพื่อเทียบมาตรฐานจีดีพี เป็นแบบเดียวกันทั่วโลกจาก 32 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรวมกันสูงถึง 85% ของจีดีพีโลก

โดย “ศิระ อินทรกำธรชัย” ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย นำเสนอรายงานดังกล่าวว่า โดยระบุว่า ในอีก 34 ปีข้างหน้า (ปี 2593) ประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียนอย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจแซงหน้าไทย

ทั้งนี้ จากการจัดอันดับการเติบโตของจีดีพี (พีพีพี) ในปี 2593 พบว่า ไทยจะตกไปอยู่ในอันดับที่ 25 จากอันดับที่ 20 เมื่อปี 2559 โดยคาดการณ์ว่า จีดีพี (พีพีพี) ของไทยในปี 2593 จะมีมูลค่า 2.78 ล้านล้านดอลลาร์ จากปี 2559 มีมูลค่า 1.16 ล้านล้านดอลลาร์

ขณะที่อินโดนีเซียจะขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับ 4 ของโลก โดยคาดการณ์ว่า มูลค่าของจีดีพี (พีพีพี) ปี 2593 จะอยู่ที่ 10.5 ล้านล้านดอลลาร์ จากปี 2559 อยู่ในอันดับที่ 8 มีมูลค่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนฟิลิปปินส์จะขึ้นมาอยู่อันดับที่ 19 โดยคาดปี 2593 จะอยู่ที่ 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ จากปี 2559 อยู่ในอันดับที่ 28 มีมูลค่า 8 แสนล้านดอลลาร์ เวียดนามขึ้นมาอยู่อันดับ 20 โดยจะมีมูลค่า 3.1 ล้านล้านดอลลาร์ จากปี 2559 มาอยู่อันดับ 32 ซึ่งมีมูลค่า 5.9 แสนล้านดอลลาร์

ส่วนมาเลเซียจะขึ้นมาอยู่อันดับ 24 โดยคาดการณ์ว่า มูลค่าของจีดีพี (พีพีพี) ในปี 2593 จะอยู่ที่ 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ จากปี 2559 อยู่ในอันดับ 27 มีมูลค่า 8.6 แสนล้านดอลลาร์

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อัตราการเติบโตจีดีพีของไทยลดลงอีก 30 ปีข้างหน้า เกิดจากการที่ไทยกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนประชากรวัยทำงาน โดยคาดอัตราการเพิ่มของประชากรไทยในปี 2593 จะติดลบ 0.3% หมายความว่า อัตราการเกิดจะน้อยกว่าอัตราการตาย ทำให้ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศจะชะลอตัวตามไปด้วย และวัยทำงานที่ลดลงอาจส่งผลให้ค่าแรงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และกดดันอัตราเงินเฟ้อในที่สุด”

จากรายงานอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรโดยเฉลี่ยระหว่างปี 2559-2593 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนพบว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ -0.3% ต่อปี ขณะที่อินโดนีเซียเฉลี่ยอยู่ที่ 0.6% ต่อปี ฟิลิปปินส์เฉลี่ยอยู่ที่ 1.1% ต่อปี มาเลเซียเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8% ต่อปี และเวียดนามเฉลี่ยอยู่ที่ 0.5% ต่อปี

**กลุ่มE7ขั้วอำนาจใหม่ศก.โลก

ทั้งนี้ในอีก 34 ปีข้างหน้าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกเฉลี่ย (ปี 2559-2593) จะอยู่ที่ 2.6% ต่อปี โดยขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก จะย้ายออกจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะยุโรป มาสู่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งตลาดเกิดใหม่นี้ จะมีประเทศในกลุ่ม E7 เป็นแรงสำคัญขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

โดยคาดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยของกลุ่ม E7 จะอยู่ที่ 3.5% ต่อปี เปรียบเทียบกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยของกลุ่ม G7 จะอยู่ที่ 1.6% ต่อปี

ในปี 2593 การเติบโตของจีดีพี (พีพีพี) ของประเทศในกลุ่ม E7 จะมีสัดส่วนสูงถึง 50% ของ GDP โลก ขณะที่กลุ่ม G7 จะมีสัดส่วนลดลงเหลือ 20% ขณะที่จีนจะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกแทนที่สหรัฐ โดยคาดมูลค่าจีดีพี (พีพีพี) ปี 2593 ของจีนอยู่ที่ 58.4 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่สหรัฐ อยู่ที่ 34.1 ล้านล้านดอลลาร์ หล่นไปอยู่อันดับ 3 ส่วนอันดับ 2 ตกเป็นของอินเดีย คาดอยู่ที่ 44.1 ล้านล้านดอลลาร์

**แนะตลาดเกิดใหม่ปรับตัว

รายงานยังระบุว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่ที่เพิ่มขึ้น จะมาจากความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรที่เติบโต ส่งผลให้แรงงานกลุ่มประเทศเหล่านี้ มีขนาดใหญ่ขึ้นตามไปด้วย โดยกลุ่มประเทศเหล่านี้ ยังต้องลงทุนด้านการศึกษา และพัฒนาปัจจัยพื้นฐานระบบเศรษฐกิจมหภาค เพื่อให้แน่ใจว่าตลาดแรงงานจะรองรับกับจำนวนคนรุ่นใหม่ที่เพิ่มขึ้นได้

แม้แนวโน้มเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ จะมีทิศทางที่ดี และเป็นกลุ่มประเทศที่น่าจับตามอง กลุ่มประเทศเหล่านี้ ต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับการเติบโตระยะยาว ทั้งการพัฒนาด้านการศึกษา การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการพัฒนาสถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และกฎหมาย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเติบโตยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจ

สำหรับไทย ต้องเร่งวางแผนเพื่อรับมือโครงสร้างประชากรที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอีก 30 ปีข้างหน้า โดยรัฐอาจมีมาตรการสนับสนุน ให้ภาคการผลิตนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อทดแทนแรงงานที่จะลดลงในอนาคต เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอีกทางหนึ่งด้วย

นอกเหนือจากมาตรการกระตุ้นให้ครอบครัวไทยมีบุตรมากขึ้น ผ่านมาตรการทางภาษี เพื่อลดปัญหาการเกิดที่มีแนวโน้มลดลง และกระตุ้นให้คนไทยออมเพื่อการเกษียณอายุให้มากขึ้น เพื่อลดภาระของรัฐบาลและการใช้จ่ายของผู้สูงอายุในปัจจุบัน ที่อาจไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต