นาข้าวหมายเลข ๙ ชาวนาสำนึกในแนวทางเกษตรพอเพียง

นาข้าวหมายเลข ๙ ชาวนาสำนึกในแนวทางเกษตรพอเพียง

ชาวนาบ้านเต็งสำนัก ต.ดอนทอง อ.เมืองพิษณุโลก ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่เป็นสัญลักษณ์เลข ๙ พร้อมข้อความ ขอเป็นข้ารองพระบาทในทุกชาติไป

ที่แปลงนาข้าวของนางประทิน ครองศิล อายุ54ปี เกษตรกร ม.7บ้านเต็งสำนัก อ.เมือง จ.พิษณุโลก พื้นที่ไร่นาสวนผสมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง นางประทิน ครองศิล พร้อมครอบครัว รักเรือง ได้ร่วมกันปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ในแปลงนาขนาดเนื้อที่ประมาณ2งาน โดยมีสัญลักษณ์เลข๙อยู่ด้านบน ด้านล่างเป็นข้อความตัวอักษรว่า ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป ซึ่งขณะนี้ ต้นข้าวอายุประมาณ2เดือน กำลังเขียวขจี ปลูกช่วงเดือนธันวาคม2559ที่ผ่านมา และในแปลงนาแห่งนี้ ยังมีปลาอีกหลากหลายชนิด

นางประทิน ครองศิล เปิดเผยว่า ที่ดินแห่งนี้เป็นเป็นที่นาของบิดาตน นายฝ้าย รักเรือง ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ต่อมาได้ แบ่งให้ลูก ๆ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นาของนางลออ เชยเทิบ อายุ65ปี พี่สาวของตน แต่ไม่ได้ทำนา ตนจึงขอมาทำเป็นพื้นที่ปลูกพืชตามแนวทางเกษตรพอเพียง ที่ในหลวงรัชกาลที่9ได้พร่ำสอนชาวไทย ในปี2559ที่ผ่านมา ได้เริ่มมาปรับพื้นที่บริเวณนี้ประมาณ7ไร่ เริ่มจากปลูกต้นทานตะวันก่อน เริ่มขุดบ่อเพื่อกักเก็บน้ำและเลี้ยงปลา และ จัดสรรพื้นที่ปลูกพืชหลากหลายชนิด ทั้งแปลงปลูกดอกทานตะวัน แปลงปลูกข้าว แปลงปลูกพืชผักล้มลุก ถั่ว คะน้า และสระน้ำสำหรับเลี้ยงปลา และได้ใช้น้ำจากคลองชลประทานโครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ที่ในหลวงรัชกาลที่9ทรงมีพระราชดำริให้ก่อสร้าง ซึ่งปัจจุบัน ชาวนาละแวกนี้สามารถมีน้ำเพื่อการเกษตร สามารถปลูกข้าวได้เพิ่มขึ้นปีละ2-3ครั้ง จากเดิม ที่ปลูกข้าวได้ครั้งเดียว ในหน้าแล้ง จะไม่มีน้ำทำนา ต้องปล่อยพื้นที่ว่างเปล่า

นางประทิน เผยต่อว่า ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อยากจะทำนาข้าว เป็นรูปสัญลักษณ์หมายเลข๙เพื่อแสดงออกถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่9จึงปรึกษาครับครัวรักเรือง ได้พี่เขยตน อาสาทำให้ ในแปลงนาข้าวเนื้อที่ประมาณ2งาน ได้ค่อย ๆ ใช้กระจอบมาขุดเป็นรูปเลข๙และปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และ อยากได้ข้อความตัวอักษร พี่เขยตนก็ดำเนินการทำให้ ในแปลงนาข้าวก็เลี้ยงปลานิล ปลาดุก ผสมผสานไปด้วย อาหารที่เลี้ยงก็เป็นปุ๋ย และไม่ต้องให้อาหารมาก ปลาก็กินแมลงศัตรูพืชอย่างเพลี้ยกระโดด ที่ตกลงไปในน้ำ ซึ่งคาดว่า จะเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนเมษายน2560นี้ ก็จะนำเมล็ดพันธุ์ในแปลงนี้เก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ในการทำข้าวปลอดสารเคมีต่อไป

แรก ๆ ทำการเกษตรแบบพอเพียงที่แปลงนี้ ชาวบ้านก็หาว่าเราบ้า แต่เรามองว่า เป็นแนวทางที่ทำได้ อย่างปีที่แล้ว ปลูกดอกทานตะวัน เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ต้นทุนประมาณ10,000กว่าบาท ก็มีนักท่องเที่ยวแวะเข้ามาชม เก็บค่าชมรายละ10บาท ก็คุ้มทุน ปีนี้ ปลูกดอกทานตะวันอีกประมาณ3-4ไร่ ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ดอกก็ขายได้ มีคนมาติดต่อซื้อแล้วดอกแก่ ดอกละ5บาท นำเลี้ยงนก เลี้ยงไก่ ต้นพันธุ์ก็ขายได้ต้นละ20-30บาท นอกจากนี้ ยังมีบ่อที่เลี้ยงปล่อยในสระแบบธรรมชาติ ไม่ต้องเล้ยงหัวอาหารมาก ก็มีคนมาติดต่อขอซื้อแล้ว ส่วนพื้นที่ว่างต่าง ๆ ก็ปลูกพืชล้มลุกสลับกันไป เป็นแปลงผักปลอดสารเคมี ขายได้ตลอด ใช้ประโยชน์ในพื้นที่หมุนเวียนไป

สำหรับนาข้าวอีกแปลงหนึ่งของนางประทิน ครองศิล เนื้อที่ประมาณ20ไร่ ที่อยู่ในตำบลดอนทอง ก็ได้ปลูกข้าวปลอดสารเคมี ได้ปลูกข้าวหอมนิล5ไร่ หอมมะลิ10ไร่ ไรซ์เบอร์รี่5ไร่ เมื่อเก็บเกี่ยวก็แยกประเภท มาสีในโรงสีของตนเอง แล้วนำมาแพ็คผสมกัน เป็นข้าวตราน้องส้มไก่ดำฟาร์ม ขายเป็นแพคละ1กิโลกรัม ในราคา40บาท ซึ่งดีกว่าทำนาทั่วไป ที่เกี่ยวเสร็จขายให้โรงสี ขายได้ตันละ6,000-7,000บาท ขณะที่แปลงปลูกเกษตรแบบพอเพียงแห่งนี้ ก็จะปลูกพืชแบบผสมผสาน ไม่ต้นทุนสูง ทำตามกำลัง แม้จะขายได้ไม่มาก แต่ก็ไม่ขาดทุน