นึกถึงสินเชื่อ นึกถึง ‘เอบอร์โรว์’

นึกถึงสินเชื่อ นึกถึง ‘เอบอร์โรว์’

เพื่อกิน เพื่อใช้ เพื่อการชำระหนี้ อยากซื้อบ้าน อยากซื้อรถ ฯลฯ ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้คนต้องลงเอยด้วยการกู้เงิน

 ขณะที่มันได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของฟินเทคสตาร์ทอัพชื่อว่า “เอบอร์โรว์ ” (aBorrow) ด้วย


“วรภพ วิริยะโรจน์” ซีอีโอ&ฟาวเดอร์ เล่าว่า ตัวเขาเรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรมอุตสาหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ทำไปทำมากลับสนใจในเรื่องหุ้น เลยเปลี่ยนสายไปเรียนปริญญาโทด้านไฟแนนซ์ ที่ประเทศอังกฤษ กลับมาเมืองไทยก็ไปทำอาชีพเป็นนักวิเคราะห์หุ้นอยู่ 4 ปี

"ศาสตร์วิศวะทำให้เรารู้ลึกในอุตสาหกรรมเดียว แต่การวิเคราะห์หุ้นเราจะได้รู้ในหลายๆอุตสาหกรรม ผมมองว่าสนุกมากกว่า สมัยเป็นนักวิเคราะห์หุ้น ธนาคาร สถาบันการเงินและไฟแนนซ์ คือหุ้นที่ผมดูหลัก ๆ แต่พอศึกษาไปศึกษามาได้เจอว่าตลาดสินเชื่อนั้นมีโอกาส"


เพราะคนแต่ละคนมีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน และสถาบันการเงินที่สามารถกู้ได้ก็มีข้อเสนอต่างกัน บางที่ดอกเบี้ยถูก บางที่ดอกเบี้ยก็แพง บางที่วงเงินสูงอนุมัติเร็ว ซึ่งโดยปกติแล้วคนที่กู้เงินก็ไม่ได้กู้กันทุกวัน จึงไม่มีใครที่เชี่ยวชาญ เรื่องการกู้ ดังนั้นเวลาจะกู้แต่ละทีก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร จะไปขอกู้ที่ไหนดี?


เขาปิ๊งไอเดียนี้เมื่อปลายปี 2558 และตัดสินใจลาออกจากงานมาสร้างฝันให้เป็นจริงเมื่อกลางปี 2559 โดยสร้างเว็บไซต์ “เอบอร์โรว์” สำหรับคนที่สนใจอยากจะสมัครสินเชื่อกับธนาคาร หรือสถาบันการเงินต่างๆ ให้สามารถเช็คได้ ว่ามีสินเชื่ออะไร ที่ไหน ที่เหมาะกับตัวเองมากที่สุด และต้องทำอย่างไร


ผู้ที่สนใจกู้พอเข้ามาในเว็บไซต์ก็แค่กรอกคุณสมบัติของตัวเอง เพื่อให้ระบบแนะนำว่า ด้วยข้อมูลทั้งหมดนี้เขาจะสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินใดได้บ้าง และแต่ละแห่งมีข้อเสนออย่างไร


คือแทนที่จะต้องไปสืบเสาะค้นหาข้อมูลจากเว็บหรือแอพของทุกแบงก์ หรือทุกสถาบันการเงิน แค่มาที่เอบอร์โรว์ ก็จะได้ข้อมูลทุกอย่างครบ จบในที่เดียว


อย่างไรก็ดี การสตาร์ทอัพธุรกิจได้จำเป็นต้องมีตัวช่วย แรกสุดก็คือต้องมีทีม ซึ่งเพื่อน ๆ ของวรภพได้แนะนำให้เขารู้จักกับ “ชลทิศ เขื่อนแก้ว” ซึ่งเรียนจบทางด้านโปรแกรมเมอร์มาโดยตรงจากสหรัฐอเมริกา


ปรากฏว่าทั้งสองคนมีความสนใจและมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน ชลทิศจึงตกลงมาร่วมขับเคลื่อน เอบอร์โรว์ ในฐานะของ “ซีทีโอ”


"ตอนนี้ธุรกิจของเรายังอยู่ในเฟสแรก และเริ่มต้นด้วยสินเชื่อส่วนบุคคลก่อน เพราะสินเชื่อมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท ที่เริ่มจากสินเชื่อส่วนบุคคลเพราะค่อนข้างเป็นแมส มีตลาดเล็ก วงเงินกู้แต่ละรายไม่สูงมากประมาณแสนบาทเท่านั้น


แต่คนกู้มีจำนวนมาก จากนั้นเราจะขยายไปยังสินเชื่ออื่นๆ เช่น บ้านซึ่งพยายามจะให้เกิดขึ้นภายในกลางปีนี้ รวมไปถึงสินเชื่อรถ สินเชื่อธุรกิจ"
สำหรับลูกค้าทาร์เก็ตนั้น เอบอร์โรว์ กำหนดไว้ว่าน่าจะมีอายุระหว่าง 25-35 ปี มีความสนใจในเทคโนโลยี มักใช้สมาร์ทโฟนในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต และหาข้อมูลช่องทางออนไลน์


สร้างความรับรู้อย่างไร? พวกเขาบอกว่า ใช้วิธีสื่อสารในช่องทางออนไลน์อย่างเช่น กูเกิล เฟสบุ๊ค เป็นหลัก ฟีดแบ็คเป็นอย่างไร? ส่วนใหญ่มีเสียงตอบรับดี เพราะตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริง


ขณะที่ทางฝั่งของแบงก์ และสถาบันการเงินนั้น แม้มองว่าเอบอร์โรว์มีความสนใจ แต่เพราะธุรกิจยังใหม่ จึงมักตั้งข้อสงสัยในเรื่องของยอดสินเชื่อ ที่สุดจะสามารถหาลูกค้าได้จริงและมากเพียงไร ในปัจจุบันมีอยู่ 8 แบงก์ที่เอบอร์โรว์ดอทคอมรับส่งเอกสารให้ และจะทำหน้าที่แค่ส่งรายชื่อผู้สนใจกู้เงินให้กับ 3 สถาบันการเงิน เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินนั้นๆ เป็นผู้ดำเนินการเอง


"เราต้องพยายามพิสูจน์ตัวเอง อย่างล่าสุดเว็บเรามีคนสนใจเข้ามาสมัครสินเชื่อวันละเกือบ 40 ราย ยอดขอสินเชื่อวันละเกือบ 4 ล้านบาท ตัวเลขอาจยังน้อยถ้าเทียบกับแบงก์ใหญ่ๆ แต่ก็มองว่าเว็บเราเริ่มทำมาแค่ 4 เดือน ได้เท่านี้ถือว่าโอเคแล้ว"


แม้คอนเซ็ปต์ธุรกิจนี้ทำให้เกิดโมเดลที่วินวิน ทั้งฝั่งผู้ที่สนใจกู้เงิน และทั้งฝั่งของสถาบันการเงินก็ตาม แต่รายได้ของเอบอร์โรว์ จะมาจากฝั่งของสถาบันการเงินเท่านั้น เป็นค่าบริการในการหาลูกค้า


"มีอีกโมเดลหนึ่งที่ตั้งใจจะเปิดภายในปีนี้คือ เราจะไปจับมือกับเว็บไซต์ที่ให้คำแนะนำทางการเงิน ซึ่งเมื่อคนที่ได้อ่านบทความถ้าสนใจอยากได้สินเชื่อ ใต้บทความจะมีลิงค์ให้เข้ามาในเว็บเรา ซึ่งเราจะแบ่งรายได้ให้เขาสำหรับการส่งทราฟฟิคมาให้"


อีกเรื่องหนึ่งที่วางแผนว่าต้องเกิดขึ้นภายในครึ่งปีหลัง ก็คือ เอบอร์โรว์ จะมี “แชทบอท” ไว้คอยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า เรียกว่าแทนที่จะคุยผ่านเฟสบุ๊ค ผ่านเมสเซนเจอร์ หรือผ่านไลน์ ก็คุยกับบอทได้เลยทันที ลูกค้าสามารถคุยกับบอทได้ว่ามีคุณสมบัติแบบนี้ เพื่อให้บอทแนะนำว่ามีสินเชื่ออะไรที่สามารถกู้ได้


" Peer to Peer Lending เป็นอีกเรื่องที่ผมรออยู่ ถ้าเกิดขึ้นได้ เขาก็สามารถมาเป็นลูกค้าของเรา รวมถึงในอนาคตถ้าสามารถสมัครสินเชื่อผ่านออนไลน์ได้เลย หรือขอดูเครดิตบูโรออนไลน์ได้เลย มันจะสะดวกขึ้น เพราะตอนนี้ยังต้องอิงกับกฏหมายว่าต้องส่งใบสมัครและสำเนาบัตรประชาชนกันอยู่ โปรเซสบางส่วนครึ่งหนึ่งยังเป็นออฟไลน์ ถ้าทุกอย่างปรับเป็นออนไลน์ได้หมด จะสะดวกและง่ายขึ้น"


วัดความสำเร็จอย่างไร? ในกรณีสินเชื่อส่วนบุคคลจากวันละ 40 ราย จะต้องปรับขึ้นเป็นวันละ 200-300 ราย ภายในสิ้นปีนี้ สำหรับสินเชื่อบ้านที่ตั้งใจจะให้เกิดขึ้นกลางปี ก็ควรต้องมีผู้ขอสินเชื่อวันละ 1-5 ราย ซึ่งถึงแม้จำนวนคนกู้อาจมีน้อย ทว่ามีวงเงินก้อนใหญ่กว่า เรียกว่าอนุมัติกันทีก็เป็นหลักสองสามล้านบาทขึ้นไป


"เป้าหมายใหญ่ของเราก็คือ ถ้าใครคิดจะกู้อะไร หรือถ้านึกถึงสินเชื่อก็ขอให้นึกถึงเอบอร์โรว์ ซึ่งเขาใช้เวลาเพียงแค่ 2-3 นาที ก็รู้เลยว่า ขอได้ที่ไหนบ้าง แบงก์แต่ละที่มีข้อเสนออย่างไร อนาคตเราตั้งใจอย่างนั้น และจะเน้นสินเชื่ออย่างเดียว"


ที่แน่ๆ คือต้องการทำตลาดในประเทศไทยก่อน วรภพบอกว่าหากเป็นเมื่อก่อนคงไม่ได้คิดแบบนี้ แต่ในวันนี้เขากลับมีมุมมองใหม่ว่า เรื่องการขยายไปต่างประเทศต้องอาศัยเวลา 


“สินเชื่อแต่ละประเภทมันก็มีรายละเอียดอยู่ระดับหนึ่ง แต่ละประเทศเขามีกฏหมาย มีระเบียบอย่างไร ลูกค้าแบบนี้โอเค แบบนี้ไม่โอเค เป็นสิ่งที่เราก็ต้องเรียนรู้”

ใส่ใจทุกรายละเอียด   


"สตาร์ทอัพมีทีมงานน้อย เป็นการบังคับให้เราต้องรู้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องการตลาด การทำเว็บ มาร์เก็ตติ้งออนไลน์ การจดทะเบียนบริษัท เรื่องของบัญชี การรีครูทคน ก็มีคนเตือนผมเยอะว่าจะทำได้ไหม ผมคิดว่ามันเรียนรู้กันได้ ก็ต้องไปศึกษาเอาก็ถึงจะรู้ ผมเชื่ออย่างนี้ก็เลยลองเลย เพราะถ้าไม่ลองทำก็คงไม่รู้สักที"


แต่ วรภพ มองว่าทีมงานที่ไม่ใหญ่ก็เป็นข้อดี เพราะพูดคุยกันได้ค่อนข้างง่าย แต่ต้องอาศัยการพูดคุยกันทุกวัน คุยกันแบบตรงไปตรงมา ต้องมีการตั้งกรอบเวลา รวมถึงตั้งเป้าหมายให้กันและกันด้วย ทั้งยังต้องแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน


"เวลานี้เรายังไม่มีจุดแข็งอะไรมาก แต่พวกเรากล้าลุย อะไรที่พอทำได้เราก็ทำเลย อะไรที่ทำไม่ได้ ก็รอ โฟกัสสิ่งที่เราทำได้ในวันนี้และทำให้มันดีก่อน มองว่าเป็นความกล้าก็กล้า หรือจะเรียกว่าบ้าก็ได้"


กลัวการแข่งขันแค่ไหน? เขาบอกว่าเจอมาเยอะกับคำถามนี้ คำตอบคือ ถ้าทำธุรกิจแล้วกลัวการแข่งขัน..ก็อย่าคิดทำดีกว่า


"ธุรกิจถ้ามีการแข่งขันแสดงว่าธุรกิจมันเวิร์ค ถ้าไม่มีแสดงว่ามันไม่เวิร์ค ตลาดสินเชื่อมันเป็นเค้กก้อนใหญ่มาก อย่างสินเชื่อส่วนบุคคลขนาดตลาดก็ 3 แสนล้านบาท สินเชื่อบ้านก็ 3 ล้านล้านบาท ตลาดรถ 9 แสนล้าน ตลาดเอสเอ็มอี 4 ล้านล้านบาท ซึ่งเราคิดขยายไปทั้งหมด เพราะไม่ว่าจะเป็นลูกค้ารถยนต์หรือเอสเอ็มอี ก็คงหนีไม่พ้นปัญหาว่าจะไปกู้เงินที่ไหนดี ซึ่งเราตอบเขาได้เหมือนกัน"