ลดหย่อนภาษี300%ต่อเนื่อง3ปีหนุนวิจัย

ลดหย่อนภาษี300%ต่อเนื่อง3ปีหนุนวิจัย

บอร์ดสภาวิจัยฯไฟเขียวลดภาษี 300% ต่อเนื่อง 3 ปี จูงใจเอกชนรวมกลุ่มวิจัย ตอบโจทย์พัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 พุ่งเป้า 5 กลุ่มอุตฯเป้าหมาย

รัฐบาลออกมาตรการทางภาษีสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา(อาร์แอนด์ดี) ของประเทศ เพื่อรองรับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 และเป็นการสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการร่วมกันทำวิจัย โดยสามารถลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 300%

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ในฐานะหน่วยงานหลักที่ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาของประเทศ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามาตรการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของประเทศด้วยการให้บริษัทที่มีการรวมตัวกันทำการวิจัยและพัฒนาสามารถขอลดหย่อนภาษีนิติบุคคลได้ 300% หรือ 3 เท่าของวงเงินที่มีการใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2563

มาตรการการสนับสนุนการวิจัยในส่วนนี้จะทำควบคู่ไปกับการพัฒนานโยบายและปรับปรุงกฎระเบียบด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศในด้านอื่นๆ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรของประเทศให้สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ที่ต้องการการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในอนาคต

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่านอกจากนี้ยังมีกรอบเรื่องงบประมาณ ที่จะไปดูว่าจะระดมทุนเพิ่มเติมเพื่องานวิจัยอะไรได้บ้างของทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงเรื่องการพัฒนาบุคลากร และเรื่องการปรับแก้กฎหมายต่างๆให้เสร็จภายในปีนี้

หนุนผู้ประกอบการเล็ก-ใหญ่รวมกลุ่ม

ด้านนายกิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มของภาคเอกชนเป็นกิจการร่วมค้า (Consortium) ในการเข้ามาทำวิจัยและนวัตกรรมของประเทศจะเปิดโอกาสให้ทั้งเอกชนรายใหญ่ และรายเล็ก ซึ่งบางส่วนอาจเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพให้เข้ามารวมกลุ่มกันทำงานวิจัย

ภาครัฐได้เตรียมที่จะให้บุคลากรที่เรามีอยู่ไปทำวิจัยร่วมกับภาคเอกชนด้วย โดยในส่วนนี้จะให้สิทธิประโยชน์นำค่าใช้จ่ายสำหรับงานวิจัยไปหักภาษีได้ 300% ในกรอบเวลา 3 ปี คือปี 2560-2562 ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายที่เพิ่มเติมจากการลดภาษีนิติบุคคลสำหรับบริษัทใดบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นนโยบายที่ออกไปตั้งแต่ปี 2559

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทที่จะได้สิทธิลดหย่อนภาษีจะต้องมีการวิจัยและพัฒนาใน 5 อุตสาหกรรมหลักที่ส่งเสริมความสามารถแข่งขันของประเทศในอนาคต ได้แก่ 1.กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ 2.กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีการแพทย์ 3.กลุ่มอุปกรณ์อัจฉริยะและหุ่นยนต์ 4.กลุ่มดิจิทัล อินเทอร์เน็ต และปัญญาประดิษฐ์ และ5.กลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และไลฟ์สไตล์

หลังจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์จะหารือกับทางกระทรวงการคลัง ในรายละเอียดมาตรการทางภาษี พร้อมทั้งกำหนดรายละเอียดอีกครั้งว่าจะให้เอกชนรวมกลุ่มกันทำงานวิจัยในเรื่องใดบ้าง

งบวิจัยขยับใกล้ประเทศพัฒนาแล้ว

นายกิตติพงศ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบสัดส่วนของงบประมาณการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยโดยคาดว่าในปี 2561 งบประมาณในการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยจะเท่ากับ1%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยเป็นการลงทุนของรัฐบาล 30% และการลงทุนของภาคเอกชน 70%

ตัวเลขการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากในปี 2558 อยู่ที่ 0.62% ของจีดีพี มาอยู่ที่ 0.75% ในปี 2559 โดยเป็นการลงทุนของภาครัฐประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท และการลงทุนของภาคเอกชนอยู่ที่ประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท

สัดส่วนการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในไทยอยู่ที่ประมาณ 30 : 70 ใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ และอิสราเอล โดยการเพิ่มเปอร์เซ็นต์ของงบประมาณวิจัย และพัฒนาต่อจีดีพีจะทำให้ภาครัฐและเอกชนต่างต้องใช้งบประมาณในส่วนนี้มากขึ้น

นอกจากนี้ ในส่วนของการตั้งคณะกรรมการเพิ่มเติมอีก 5 ชุด ขึ้นมาขับเคลื่อนการทำงานของสภาวิจัยฯนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ไปจัดตั้งคณะกรรมการการตลาดและมาตรฐานเข้ามาเพิ่มเติมอีก1ชุด เพื่อทำให้การวิจัยของประเทศสามารถตอบโจทย์การตลาดและมาตรฐานการค้าได้ โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ทำเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมใน 3-6 เดือน

คาดเอกชนเข้าร่วมวิจัยเพิ่มขึ้น

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มการวิจัยของบริษัทเอกชนเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการทำวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศมากขึ้น และเป็นการสนับสนุนการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

“ก่อนหน้านี้มีการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชนในรูปแบบประชารัฐอยู่แล้ว และมีหลายกลุ่มที่มีการทำวิจัยในหลายเรื่องซึ่งการกำหนดเกณฑ์ในการส่งเสริมให้มีความชัดเจนจะช่วยส่งเสริมให้มีเอกชนเข้ามาร่วมมือในการทำการวิจัยมากขึ้น”

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการกำหนดกรอบวิจัยและการพัฒนาของประเทศเพื่อตอบโจทย์ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันรวมทั้งให้มีความสอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2560-2579) ซึ่งต้องการเพิ่มขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจของประเทศสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว โดยได้แบ่งกลุ่มวิจัยและพัฒนาออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.การวิจัยเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมุ่งให้การวิจัยตอบโจทย์ความต้องการในเรื่องการยกระดับเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ (Smart Famer) การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 โดยต้องเพิ่มงบประมาณการวิจัยและกำลังคนนักวิจัยในของประเทศ

2.การวิจัยเพื่อความมั่นคงและการพัฒนาแบบยั่งยืน เช่น การวิจัยเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ และการวิจัยเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ การวิจัยและการพัฒนาของประเทศ และ3.การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องต่างๆและการพัฒนาในเรื่องความร่วมมือกับสถาบันวิจัยในระดับโลก

“หลังจากมีการจัดกลุ่มงานวิจัยให้สอดคล้องกับประเด็นหลักตามยุทธศาสตร์ชาติแล้วในขั้นต่อไปก็จะมีการจัดลำดับความสำคัญของการวิจัย การสร้างบุคลากร และการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนงาน”