เขียนชีวิต ลิขิตหัวใจ...ให้ตัวละคร

เขียนชีวิต ลิขิตหัวใจ...ให้ตัวละคร

ว.วินิจฉัยกุล เคยพูดถึงความสำคัญของตัวละคร ในนวนิยาย ในงานอบรม ‘คิด อ่าน เขียน ฝัน ครั้งที่ 4 ตอน เขียนชีวิต ลิขิตหัวใจ...ให้ตัวละคร’

ว่า พล็อตกับตัวละครเป็นองค์ประกอบสำคัญ ถ้าเปรียบเป็นบ้าน พล็อตคือโครงสร้างบ้านที่จะต้องแข็งแรงได้สัดส่วน ส่วนตัวละครคือความสวยงามของบ้าน วรรณกรรมบางเรื่องคนอ่านนึกชื่อเรื่องไม่ออกแต่นึกชื่อตัวละครออก เช่น เดี๋ยวจะต้องกลับไปดู ‘แม่พลอย’ ให้ได้ ตัวละครจึงเป็นสัญลักษณ์ของเรื่องไปโดยปริยาย การสร้างตัวละครจะเป็นด่านสำคัญว่าเรื่องนั้นไปรอดหรือไม่รอด

ตัวละครไทยกับฝรั่งไม่เหมือนกัน ฝรั่งจะยกย่องตัวละครที่มีมิติ แต่คนไทยชอบตัวละครแบน ซึ่งฝรั่งยกว่าเป็นตัวละครชั้นสอง ตัวละครที่แบนจะกระทบความสนใจของคนได้มากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าตัวละครนั้นไม่ดี มันต้องมีคุณสมบัติที่ดึงดูดใจด้วย

นี่ช่วยยืนยันว่าการสร้างตัวละครทั้งในนวนิยาย บทละคร และบทภาพยนตร์ ต่างต้องเกิดจากความรู้ความเข้าใจถ่องแท้ แน่นอนว่าการอบรมคือวิธีการหนึ่งที่บริษัท สถาพรบุ๊คส์ จำกัด และบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) คัดสรรวิทยากรระดับเซียนจากสามวงการ คือ รศ.ดร.คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ หรือ .วินิจฉัยกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2547 อมราพร แผ่นดินทอง นักเขียนบทภาพยนตร์มือรางวัล และ ยิ่งยศ ปัญญา นักเขียนบทโทรทัศน์รางวัลโทรทัศน์ทองคำ มาถ่ายทอดความรู้

ยิ่งยศบอกว่า จุดมุ่งหมายของละครคือเล่าเรื่องราวของคนและมนุษย์ ต้องแยกคนกับมนุษย์ออกจากกันในระดับมิติพิสุทธิ์ทางด้านหัวใจ การศึกษามนุษย์คนหนึ่งจึงมีความสำคัญยิ่งยวด ผู้เขียนต้องศึกษา เรียนรู้ และเข้าใจ

“เริ่มต้นผู้เขียนต้องทำความเข้าใจในมนุษย์ก่อนและเข้าใจในชิ้นงานเป็นอันดับต่อมาเพื่อนำเสนอต่อคนดู จึงจะเกิดสัมฤทธิ์ผลในบทบาทของการเป็นละคร”

ในแง่ภาพยนตร์ อมราพรบอกว่า “ในการเซ็ตอัพเรื่องของภาพยนตร์ก็คล้ายๆ อย่างที่อาจารย์ว.วินิจฉัยกุลพูด ยกตัวอย่าง นวนิยาย คือ ตัวละครและพล็อต แต่ภาพยนตร์คือ ตัวละครบวกกับสถานการณ์ที่ตัวละครต้องไปเจอ ซึ่งภาพยนตร์จะสนุกตัวละครจะต้องไปเจอ conflict แปลเป็นไทยคือสถานการณ์ที่ไม่ได้ดั่งใจ สิ่งเหล่านี้จะพิสูจน์ธาตุแท้ของคน ในภาพยนตร์จะโยนสิ่งเหล่านี้ไปเพื่อพิสูจน์ใจตัวละคร เพราะฉะนั้นสรุปได้ว่า คนคือจุดเริ่มต้นของการเล่าเรื่องทั้งสามแบบ”

สร้างแคแรกเตอร์แบบไหนโดนใจผู้รับสาร

ว. วินิจฉัยกุลบอกว่า นักเขียนใหม่มักจะลำบากใจเมื่อสร้างตัวละคร สิ่งที่จะช่วยได้คือประสบการณ์ชีวิต วุฒิภาวะ นักเขียนหนุ่มสาวส่วนใหญ่เลือกสร้างแคแรกเตอร์จากคนรู้จักซึ่งอาจจะไม่หลากหลายนัก คนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวยังไม่เคยแต่งงานจะเขียนปัญหาการสมรส การเลี้ยงดูบุตร ปัญหาวัยกลางคน ปัญหาวัยชรา ได้หรือไม่ อันนี้นักเขียนก็ต้องศึกษาคนและพูดคุยกับคนหลายๆ แบบมากขึ้น

ด้านนักเขียนบทมือฉมังอย่างยิ่งยศบอกว่า เราต้องทำความเข้าใจลักษณะตัวละครที่เขียนออกมาให้ได้ วิเคราะห์พันธุกรรมว่าเขามาจากไหน พ่อแม่เป็นใคร ลักษณะการเลี้ยงดู หรือใครเป็นต้นแบบของตัวละครตัวนี้ ซึ่งพันธุกรรม การเลี้ยง และสิ่งแวดล้อมจะหล่อหลอมคนคนหนึ่งขึ้นมาให้มีลักษณะแตกต่างกัน และมนุษย์จะมีปฏิกิริยาตอบสนองกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร

“ยกตัวอย่างตัวละคร ‘แย้ม’ ในเรื่องสุดแค้นแสนรัก หลายคนสงสัยว่าทำไมหลานๆ ของย่าแย้มถึงไม่ได้ร้ายแบบย่าแย้ม บางทีมันก็ขึ้นกับการถูกเลี้ยงดู อบรมบ่มนิสัย ประสบการณ์ที่ตัวละครได้เจอ มันหล่อหลอมให้เค้ามีทัศนคติอย่างไร หรือวันเฉลิม ในเรื่องทองเนื้อเก้าซึ่งมีแม่เป็นลำยอง แม่ขนาดนี้แต่อะไรที่หล่อหลวมวันเฉลิมให้มีความคิดที่แสนบริสุทธิ์ ละครก็ได้นำเสนอไว้หมดแล้ว”

มาคุยกับอมราพรเรื่องการสร้างแคแรกเตอร์เด็กๆ ในแฟนฉันว่าทำไมถึงถูกใจคนไทยทั้งประเทศ โดยเธอบอกว่า “ในเรื่องแฟนฉันจะบอกไม่ได้ว่าใครเป็นเด็กดีหรือเด็กไม่ดี บอกแค่ว่าเด็กคนนี้ชอบเป็นตัวเด่น ชอบเป็นหัวโจก ในทางภาพยนตร์จะหลีกเลี่ยงตัวละครที่เป็น flat character สิ่งที่แฟนฉันอยู่ในใจผู้ชมเพราะว่า เรามีประสบการณ์ร่วมกับเด็กเหล่านั้น เราเคยเป็นเด็กคนนั้น เราเคยถุยน้ำลายใส่ไอศกรีมเพราะกลัวเพื่อนจะมาแย่ง เน้นการสร้างประสบการณ์ร่วมกับผู้ชมมากกว่า”

สถานการณ์สะท้อนแคแรกเตอร์

“สถานการณ์จะบอกว่าคนคนนั้นเป็นอย่างไร เช่น เราจะเล่าว่าตัวละครตัวนี้เป็นคนรักสัตว์ ผู้เขียนต้องสร้างสถานการณ์ให้คนดูเชื่อให้ได้ อย่างในเรื่องความจำสั้นแต่รักฉันยาว นางเอกเป็นคนรักสัตว์ เราจะพิสูจน์ด้วยการปล่อยหมาให้ถูกรถชนกลางถนน แล้วเราต้องให้เค้ารีบพาหมาไปส่งโรงพยาบาลแม้กระทั่งเป็นหมาจรจัด แล้วในสถานการณ์เดียวต้องเล่าด้วยว่าคนอื่น reaction อย่างไร หนึ่งสถานการณ์ต้องเล่าให้อยู่ และหนึ่งสถานการณ์ต้องเล่าให้มากกว่าหนึ่ง message ด้วย เพราะภาพยนตร์สองชั่วโมงมันเล่าชีวิตหลายๆ คนไม่ได้” อมราพรกล่าว

ด้าน ว.วินิจฉัยกุล เสริมว่า ทางนิยายเรียกว่า “ที่มาที่ไป” ซึ่งทำให้คนเชื่อว่าตัวละครเป็นคนแบบนั้นจริงๆ ถึงแม้ว่าเขาจะมีพฤติกรรมที่พิสดาร แต่ที่มาที่ไปทำให้เชื่อได้ว่าเขาเป็นคนแบบนี้และเป็นไปได้จริง เช่น ลำยอง ถ้าเกิดมาเป็นลูกสาวเศรษฐี ได้รับการศึกษาอย่างดี ลำยองจะเป็นลำยองอย่างที่เราเห็นหรือไม่ ซึ่งถ้าเราจะเขียนแบบนี้ก็ต้องมีจุดชี้ให้เห็นว่าเด็กที่ถึงแม้จะฐานะดี เลี้ยงดูมาอย่างดี บทจะเสียคนก็เสียคน มันต้องมีเหตุจูงใจให้เสีย

“ตอนเขียนเรื่องมาลัยสามชาย ทองไพรำที่เป็นโสเภณี แต่ถ้าไม่ได้ปูพื้นทองไพรำไว้เลยว่าเป็นใคร อยู่ๆ ก็เป็นโสเภณีที่ยศ พระเอกของเรื่องคว้าเอามาจากซ่อง คนอ่านอาจจะถามว่าโสเภณีที่ถูกหลอกมาแบบแม่อายสะอื้นไม่มีเหรอ เพราะฉะนั้นการปูพื้นตัวละครจะทำให้คนอ่านไม่สงสัยในตัวละคร” ว.วินิจฉัยกุลยกตัวอย่างการสร้างแคแรกเตอร์

รากมหรสพไทย

ว.วินิจฉัยกุลเล่าให้ฟังว่า พื้นฐานมหรสพไทยคือลิเก ถึงแม้ว่าจะรู้ว่าเรื่องราวจะอย่างไร ผู้ชมก็ยังติดตามอยู่เพราะต้องการเสพอรรถรสของมัน แม้กระทั่งอาจจะมีคนนำลำยองไปตีความใหม่ก็ได้ โดยอาจจะเป็นยุคปัจจุบัน นั่งรถไฟฟ้า ดื่มไวน์แทนเหล้า แต่อย่างไรก็ต้องสนุกในเนื้อแท้ของลำยอง

ด้านยิ่งยศเสริมว่า “ไปคุยที่ไหนก็ไม่พ้นเรื่องพื้นฐานมหรสพของคนไทย คือ ลิเก มันเป็นสิ่งที่เป็นเบ้าหลอมในใจของคนไทยจริงๆ เป็นลักษณะของการบอกเล่า เช่น จันทโครพ เรารู้เรื่องนี้ดีตั้งแต่ต้นจนจบ รู้ว่าจันทโครพจะเจอกับอะไรแต่เราก็ดู เราดูอย่างเอารสชาติ ตรงนี้อยู่ในพื้นฐานของคนไทยที่เสพรสชาติอย่างเดียว เนื้อหา สาระ ความละมุนไม่เอา”

เชื่อว่าคนที่อยากเขียนหรือกำลังเริ่มเขียนนวนิยายคงจะจับจุดงานเขียนได้ถูกว่าต้องเริ่มจาก การสร้างตัวละคร จะเป็นตัวละครแบบไหนก็ต้องมีที่มาที่ไปเพื่อให้ผู้อ่าน ผู้ชมเชื่อได้ว่าเขาเป็นคนแบบนั้นจริงๆ