GFPT - ซื้อ

GFPT - ซื้อ

แนวโน้มเป้าส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

ประเด็นการลงทุน

เราเชื่อว่าตลาดส่งออกใหม่สำหรับไก่สดแช่แข็งซึ่งได้แก่ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และโอกาสสำหรับซาอุดิอาระเบียตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2560 จะเป็นปัจจัยบวกและถือเป็นอัพไซด์ต่อ GFPT รวมถึงผู้ประกอบการส่งออกไก่เนื้อของไทยทุกรายในปี 2560 และเนื่องจากปริมาณยอดส่งออกและราคาส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น รวมถึงภาวะที่ต้นทุนวัตถุดิบที่ยังคง
ทรงตัวในระดับต่ำอย่างชัดเจนซึ่งส่งผลบวกต่ออัตรากำไรขั้นต้นของบริษัท เราจึงคาดว่าอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิของ GFPT จะยังคงดีแข็งแกร่งต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี 2560 เราทำการปรับประมาณการกำไรสุทธีปี 2560 เพิ่มขึ้นอีก 8% (ไปอยู่ที่ 1.79 พันล้านบาท) และราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นอีก 6% (ไปอยู่ที่ 18.50 บาท) เพื่อสะท้อนความคาดหวังของวอลุ่มส่งออกที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” จากเหตุผลของอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิที่ยังแข็งแกร่ง (อัตราการเติบโตของวอลุ่มส่งออก ราคาขายในประเทศและราคาส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบที่อยู่ในระดับที่ต่ำต่อไป) และราคาหุ้น ณ ปัจจุบันที่ถูกมาก


สรุปผลประกอบการไตรมาส 4/59—ดีเกินคาด

GFPT รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 4/59 ที่ 492 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% YoY แต่ลดลง 1% QoQ กำไรสุทธิสูงกว่าคาด17% เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นและรายได้อื่นที่สูงกว่าคาด กำไรที่เติบโตดี YoY ได้รับปัจจัยหนุนจากปริมาณยอดส่งออกที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง (ข้าวโพดและกากถั่วเหลือง) ซึ่งนำไปสู่อัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด รวมถึงภาระดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงด้วย อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 17.1% เทียบกับไตรมาส 4/58 ซึ่งอยู่ที่ 14.3% และไตรมาส 3/59 ซึ่งอยู่ที่ 17% และสูงกว่าที่คาดก่อนหน้าที่ 15% ปริมาณยอดส่งออกของ GFPT เพิ่มขึ้น 38% YoY และ 14% QoQ มาอยู่ที่ 9,100 ตันในไตรมาส 4/59 ยอดขายเพิ่มขึ้น 3% YoY และ 2% QoQ โดยได้รับอานิสงค์จากยอดขายของธุรกิจไก่เนื้อที่เพิ่มสูงขึ้น ยอดขายธุรกิจไก่เนื้อเพิ่มขึ้น 11% YoY เนื่องจากปริมาณยอดส่งออกไก่ปรุงสุกของ GFPT ที่เพิ่มขึ้น ยอดขายธุรกิจอาหารสัตว์ลดลง 15% YoY กำไรจากการดำเนินงานของธุรกิจไก่เนื้อในไตรมาส 4/59 อยู่ที่ 183 ล้านบาทเทียบกับขาดทุนจากการดำเนินงานของธุรกิจไก่เนื้อในไตรมาส 4/58 ซึ่งอยู่ที่ 36 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานของธุรกิจอาหารสัตว์ลดลง 47% YoY เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาที่ยังคงรุนแรงซึ่งส่งผลโดยตรงกับมาร์จิ้นของธุรกิจอาหารสัตว์

แนวโน้มอัตราการเติบโตของส่งออกแข็งแกร่งในปี 2560

ถ้าอ้างอิงจากข้อมูลวันที่ 25 ม.ค. 2560 สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกของไทยคาดว่าในปี 2560 ปริมาณยอดส่งออกเนื่อไก่ของประเทศไทยจะอยู่ที่ 7.6 แสนตัน เพิ่มขึ้น 2.3% จาก 7.43 แสนตันในปี 2559 และเนื่องจากปริมาณยอดส่งออกของประเทศไทยเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 7 หมื่นตันต่อเดือนในช่วง 5-6 เดือนก่อนหน้า รวมถึงตลาดส่งออกใหม่สำหรับไก่สดแช่แข็ง
เช่น เกาหลีใต้และสิงคโปร์ และการระบาดของไข้หวัดนกในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซึ่งนำไปสู่การฆ๋าไก่จำนวนมาก เราจึงเชื่อว่าวอลุ่มส่งออกไก่เนื้อของไทยในปี 2560 มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นไปเป็น 8 แสนตันหรืออาจจะสูงกว่านี้ เรายังคาดหวังว่าจะเห็นความคืบหน้าของการส่งออกไก่เนื้อไปยังประเทศซาอุดิอาระเบียภายในครึ่งหลังของปีนี้เช่นกัน เราคาดว่า ประเทศเกาหลีใต้มีแนวโน้มที่จะนำเข้าไก่สดจากไทยที่ 3 หมื่นตันก่อนภายในปีแรก ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นไปเป็น 7-8 หมื่นตันภายใน 3 ปี

โดยรวม เราคาดว่าอัตราการเติบโตของวอลุ่มส่งออกของ GFPT ที่ 10% โดยมีปัจจัยหนุนจากญี่ปุ่น มาเลเซีย และ เกาหลีใต้ ปริมาณยอดส่งออกในไตรมาส 1/60 ของ GFPT คาดว่าจะอยู่ที่ 7,500 ตัน เพิ่มขึ้น 39% YoY แต่ลดลง 18% QoQ


ยอดขายได้แรงหนุนจากวอลุ่มและราคาขายที่เพิ่มขึ้นในปี 2560

ถ้าเปรียบเทียบเป้ายอดขายของบริษัทในปี 2560 ที่ 5-10% (5-8% มาจากการเติบโตของปริมาณยอดขาย และ 2-3% มาจากราคาขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น) เราประมาณการอัตราการเติบโตของยอดขาย GFPT อย่างอนุรักษ์นิยมที่ 6.7% สำหรับในปี 2560 โดยจะมาจากปริมาณยอดขายที่เพิ่มขึ้น 5% และราคาขายที่เพิ่มขึ้น 2% เราคาดราคาไก่ในประเทศมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นได้อีก 1-2 บาทต่อกก. มาอยู่ที่ 38-39 บาทต่อกก.ในปี 2560 (เทียบกับราคาเฉลี่ยที่ 37 บาทต่อกก.ในปี 2559) เราประมาณการอัตรากำไรขั้นต้นที่ 15.4% สำหรับในปี 2560 ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทที่ 14-15% โดยสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นดังกล่าว อ้างอิงต้นทุนวัตถุดิบที่มีแนวโน้มทรงตัวในปี 2560 เราคาดกำไรสุทธิไตรมาส 1/60 ที่ 350 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% YoY (จากปริมาณยอดส่งออกที่เพิ่มขึ้นแข็งแกร่ง) แต่ลดลง 29% QoQ (จากปัจจัยด้านฤดูกาลซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซั่น)