‘สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย’เดินหน้าต่อ‘อะเดย์’

‘สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย’เดินหน้าต่อ‘อะเดย์’

ดีลขายหุ้น “เดย์ โพเอทส์” เจ้าของสื่อนิตยสารได้แก่ a day, a day bulletin, Hamburger  สื่อออนไลน์ The Momentum ให้กับ โพลาริส แคปปิตัล

ซึ่งแจงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 28 ธ.ค.2559 ถึงการเข้าซื้อหุ้น 70% ในบริษัทเดย์ โพเอทส์ จำกัด จำนวน 490,000 หุ้น จากบริษัทไทยฟู้ด โลจิสติกส์ จำกัด และบริษัท ธนวรินทร์ จำกัด เจ้าของหุ้นเดิม รวมมูลค่า 308.7 ล้านบาท ราคาหุ้นละ 630 บาท

เป็นสาเหตุให้ “โหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์” ผู้ก่อตั้ง a day ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการอำนวยการและกรรมการผู้จัดการ เดย์ โพเอทส์ ในสิ้นเดือน ก.พ.นี้ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับดีลดังกล่าว  

ทั้งนี้ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ระบุว่า สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย มีตำแหน่งเป็นกรรมการ เดย์ โพเอทส์ ก่อนทำรายการซื้อขายหุ้น ขณะเดียวกันยังพบการถือครองหุ้น บริษัทธนวรินทร์ จำกัด และบริษัท ไทยฟู้ด โลจิสติกส์ จำกัด ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด ก่อนจะขายให้กับโพลาร์ ซึ่งเขาเองก็เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทโพลาริส แคปปิตัล ด้วยเช่นกัน

สุรพงษ์ เปิดใจถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า เขาเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นเจ้าของ เดย์ โพเอทส์  ดังนั้นเมื่อ โหน่ง วงศ์ทนง มีความคิดไม่ตรงกันและต้องการออกไปทำงานในแนวทางที่อยากจะเป็น ก็เชื่อว่า"โหน่ง" มีความสามารถที่จะทำได้ เพราะถือเป็นจังหวะของสื่อที่กำลังเปลี่ยนรูปสู่แพลตฟอร์ม"สื่อใหม่" และไม่คิดว่า โหน่ง จะกลับไปทำแมกกาซีนอีก

ในธุรกิจสื่อ เป็นสิ่งที่ผูกกับคนและไม่ได้ผูกกับคนๆ เดียว แต่ผูกกับคนที่เป็นองค์คณะ ทั้งกองบรรณาธิการ นักเขียน ช่างภาพ กราฟฟิคดีไซน์ และอีกหลายส่วน  เช่นเดียวกัย อะเดย์ ที่เป็นองค์กรที่ถูกสร้างขึ้นมา พร้อมสร้างบุคลากรที่มีวิธีคิดแตกต่าง แต่ทุกคนเติบโตมาในแนวทางที่ไม่เหมือนเดิม

"ข้อดีของ วงศ์ทนง คือสร้างคนเก่ง แต่เด็กที่เกิดขึ้นมา ไม่ได้เป็น โคลนนิ่งของ วงศ์ทนง แต่เป็นคนที่มีทาเล้นท์ ในการถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองคิด ไปถึงกลุ่มผู้อ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ เข้าใจง่าย และเป็นแรงบันดาลใจให้คนอยากทำตาม"

ช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายธุรกิจที่เกิดขึ้น เช่น อีเวนท์ วิ่ง และขี่จักรยาน เป็นสิ่งที่ วงศ์ทนง ไม่ได้ทำ แต่เป็นการสร้างสรรค์โดยทีมบุคลากร อะเดย์ ที่ทำงานและเติบโตร่วมกันมาต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งมีทั้งที่เติบโตมาและยังอยู่กับอะเดย์ รวมทั้งเติบโตและก้าวไปทำงานที่องค์กรอื่นๆ

ยกตัวอย่าง การทำงานของหนังสือพิมพ์ หากวันหนึ่ง บก.ลาออก บุคลากรจะต้องคิดว่าจะออกไปพร้อม บก.หรือไม่ หรือ บก.จะชวนเราไปทำงานหรือไม่ หรือไปทำงานร่วมกันแล้วสามารถอยู่ด้วยกันได้หรือไม่ 

เพราะคนทำสื่อและคนที่ทำให้สื่ออยู่ได้ ไม่ใช่คนคนเดียวกัน”

คนทำสื่อให้ดังกับคนทำสื่อให้เลี้ยงตัวอยู่รอด เข้มแข็ง แข็งแรง เป็นคนละกลุ่มกันคงไม่สามารถพูดได้ว่า "คนเป็นนายทุนคิดแบบนายทุน เพราะหากไม่มีนายทุนก็ไม่มีที่นั่งให้สื่อเช่นกัน

แต่ในโลกใหม่ หรือยุคสื่อใหม่  การลงทุนสื่อโซเชียล หรือออนไลน์ อาจทำได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องใช้ต้นทุนสูง หากมีคอนเทนท์ที่ดี สามารถพัฒนาตัวเองสู่ Influencer หารายได้ได้ แต่หากคิดเพียงแค่นี้ ก็สามารถดำเนินการได้ แต่ในองค์กรสื่อ ที่ประกอบด้วยแผนกต่างๆ ต้องมีเรื่องทุนเข้ามาเกี่ยว ดังนั้นจึงต่างคนต่างความคิด

วงศ์ทนง เป็นคนเก่งที่ทำให้แบรนด์อะเดย์ เกิดขึ้นได้ แต่ความยากคือ วันหนึ่ง เราไม่ได้เป็นในสิ่งที่เราเคยเป็น เราจะทำอย่างไร ผมสร้างทราฟฟิคคอนเนอร์ และเลิกทำมาเป็น 10 ปี ทุกวันนี้ คนยังเรียกผมติดปากว่า ป๊อป ทราฟฟิคฯ เพราะเราเกิดมากับมันและไม่รู้ว่า “สิ่งไหนเป็นเรา สิ่งไหนเป็นแบรนด์”

เมื่อถึงวันหนึ่งที่ผมบอกว่า ป๊อป ไม่ใช่ ทราฟฟิคฯ ก็ต้องไปสร้างตัวตนใหม่ ซึ่งบางคนก็ทำได้และบางคนก็ทำไม่ได้ "บางคนถูกล็อตเตอรี่ได้หลายครั้งในชีวิต บางคนทั้งชีวิตถูกล็อตเตอรี่แค่ครั้งเดียว"

ในมุมมองผมวันนี้ สื่อช้ำเกิดพอแล้ว ไม่ต้องมาซ้ำกันเอง ให้มันช้ำไปกว่านี้”

สุรพงษ์  ย้ำว่าเขาเป็นนักลงทุน และนักลงทุนก็หาผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งไม่ได้ลงทุนในสื่ออย่างเดียว ดังนั้น มิติของนักลงทุนจะคิดแบบหนึ่ง มิติคนทำสื่อจะมองอีกแบบ

กรณีที่ วงศ์ทนง ลาออกจากอะเดย์ ถือเป็นจังหวะเวลาออกไปทำสื่อใหม่ เชื่อว่าด้วยศักยภาพและความสามารถน่าจะประสบความสำเร็จได้  ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่จะร่วมพัฒนาวงการสื่อให้เติบโต

ส่วน เดย์ โพเอทส์และอะเดย์ หลังจากนี้ ยังเดินหน้าต่อ เพราะทีมงานปัจจุบันแข็งแรง “หากเราพูดว่า ไปต่อได้ ก็ไม่ได้กล่าวถึงใครว่าไม่เก่ง แต่หากพูดว่าไปต่อไม่ได้ แล้วทีมงานที่ทำงานอยู่ปัจจุบันจะไปต่ออย่างไร ที่ผ่านมาจึงไม่ได้ออกมาพูดถึงกรณีที่เกิดขึ้น” 

แต่วันนี้หากทีมงานอะเดย์ ต้องการไปต่อ “ผมไปต่อแน่นอน”

ปัจจุบันคนที่อ่านอะเดย์ ประจำ จะรู้ว่า อะเดย์ ไม่ใช่ วงศ์ทนง ไม่ใช่มาตั้งนานแล้ว เพราะเปลี่ยน บก.มาหลายคน แต่ไม่ได้หมายความว่า วงศ์ทนง ไม่ช่วยดู แต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หนังสือมีพัฒนาการมาต่อเนื่อง

วันนี้ที่หนึ่งในผู้ก่อตั้งอะเดย์ ลาออก  "ถามว่าใครจะตามใครไปหรือไม่ ส่วนตัวผมไม่ติดใจอะไร แต่ติดใจคนที่ต้องการอยู่ต่อ เพราะต้องรับผิดชอบชีวิตทีมงานที่ตัดสินใจอยู่ต่อ"

สุรพงษ์  กล่าวว่าความต่างของนายทุนกับผู้บริหารก็คือ ผู้บริหาร ยื่นใบลาออกได้ แต่นายทุนหรือเจ้าของ ยื่นใบลาออกจากความเป็นเจ้าของไม่ได้รวมถึงความรับผิดชอบต่อคนที่ยังอยู่ 

ปัจจุบันทุกอย่างในโลกต้องมีการเปลี่ยนแปลง ในวันที่เปลี่ยนแปลง ไม่มีใครรู้ว่าจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลง วันที่ สตีฟ จ็อบส์ ออกจากแอ๊ปเปิ้ล ครั้งแรก คงไม่มีใครคิดว่าจะกลับมาทำให้ แอ๊ปเปิ้ลยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกันในวันที่ สตีฟ จ็อบส์ เสียชีวิต หลายคนคงคิดว่าหลังจากนี้ แอ๊ปเปิ้ล จะไปต่อไม่ได้ แต่วันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า แอ๊ปเปิ้ล ยังไปต่อ

“ผมไม่ได้หมายความว่า เดย์ โพเอทส์ หรือ อะเดย์ ไม่มีวันเจ๊ง แต่ต้องการบอกว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ”

คาแรคเตอร์ของสื่ออะเดย์ ในวันเริ่มต้น คือการทำให้แตกต่างจากสื่อในยุคนั้น แต่วันนี้ อะเดย์มุ่งสร้างแรงบันดาลใจด้านต่างๆ   ปัจจุบันเดย์ โพเอทส์ มีพนักงานราว 200 คน “ไม่เชื่อว่าทุกคนออกหมดและเป็นไปไม่ได้ว่าทุกคนจะอยู่หมด”

การทำงานหลังจากนี้ ภายใน 1 เดือน หรือก่อนสิ้นเดือน มี.ค. จะเห็นภาพชัดเจนดีลขายหุ้นอะเดย์ให้โพล่าร์  โดยทั้ง 2 ฝ่าย มีขั้นตอนเจรจากันใหม่ หลังจากการลาออก ของ โหน่ง วงศ์ทนง เพื่อดูว่า ทั้ง 2 ฝ่าย จะเดินต่อร่วมกันหลังจากนี้หรือไม่ และจะเป็นรูปแบบใด

สุรพงษ์ กล่าวว่าวัตถุประสงค์เดิมที่ดึงโพล่าร์เข้าร่วมถือหุ้น เพราะเห็นว่าสื่อใหม่ ทิศทางที่อะเดย์ต้องการเดินหน้า จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก จึงต้องการมีพันธมิตรใหม่เข้ามา แต่วันนี้ต้องกลับมาดูว่า เดย์โพเอทส์ จะทำงานแบบไหนหลังจากนี้ เพราะทุนกับการขยายธุรกิจไปด้วยกัน 

"วันนี้ทุกคนมุ่งไปออนไลน์ แต่เงินวิ่งไปที่ เฟซบุ๊ค ยูทูบ  เงินไม่ได้อยู่ในสื่อออนไลน์ของเจ้าของสื่อ จึงต้องหาวิธีสร้างรายได้จากสื่ออนไลน์ ซึ่งไม่ใช่เพียงคอนเทนท์ แต่มีเรื่องของเทคโนโลยี เข้ามาสนับสนุน เพื่อทำให้เข้าถึงคนจำนวนมาก โดยเฉพาะการพัฒนาระบบหลังบ้าน จึงต้องเตรียมเงินลงทุน"

ปัจจุบันเงื่อนไขการซื้อขายหุ้นเปลี่ยนไป เพราะของที่จะขายไม่เหมือนเดิม การเจรจาหลังจากนี้ จึงต้องหาทางทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายแฮปปี้ เพราะดีลที่เกิดขึ้นเป็นสัญญา 2 ฝ่าย

กรอบเวลาทำงานจะสรุปภายในเดือน มี.ค. “ว่าขายหรือไม่ขาย” หรือเดินหน้าต่อรูปแบบใด ปัจจัยที่เห็นภาพชัดก่อนตัดสินใจ คือเรื่องคนและธุรกิจหลักของเดย์ โพเอทส์ หลังจากนี้ว่าจะเป็นอย่างไร

แต่ธุรกิจสื่อ“เดย์ โพเอทส์”ยังอยู่และเดินหน้าต่อแน่นอน!!