วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน 23 กุมภาพันธ์ 2560

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน 23 กุมภาพันธ์ 2560

ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง หลังตลาดกังวลว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ จะปรับตัวสูงขึ้น

- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ก.พ. 60 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งจะนับเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา 7 สัปดาห์

- แบงก์ ออฟ อเมริกา ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์จนถึงปี 2565 สู่ระดับ 50-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากระดับเดิมที่ 55-75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังกังวลเกี่ยวกับปริมาณน้ำมันดิบในสหรัฐ ที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากการเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) รวมทั้งการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งมองว่าหากราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะเป็นแรงหนุนให้สหรัฐ ผลิตน้ำมัน shale oil มากขึ้น และคาดว่าหากราคาน้ำมันอยู่ในช่วง 50-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะทำให้สหรัฐ ผลิตน้ำมัน shale oil เพิ่มขึ้น 700,000 บาร์เรลต่อวันในปี 2560-2565

+ อย่างไรก็ตาม Goldman Sachs ได้เปิดเผยคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในช่วงไตรมาส 2/60 ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมองราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสปรับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 57.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์คาดว่าจะไปอยู่ที่ระดับ 59 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  

+ ภายหลังจากตลาดปิด สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐ (API) เปิดเผยรายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ก.พ. 60 ปรับตัวลดลง 884,000 บาร์เรล ไปอยู่ที่ระดับ 512.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้


ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานที่ปรับตัวสูงขึ้นในภูมิภาคเอเชีย หลังปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังในเอเชียเหนือยังคงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ โรงกลั่นน้ำมันในประเทศจีนปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงในเดือน มี.ค. ถึง เม.ย.

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปสงค์ในตลาดเอเชียอ่อนตัวลง นอกจากนี้ อุปทานในภูมิภาคเอเชียปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศเกาหลีใต้เริ่มปรับเพิ่มการส่งออกน้ำมันดีเซล


ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

            ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 51-56 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  
       
            ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 53-58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

- ผู้ผลิตน้ำมันดิบทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่อง โดยในเดือน ม.ค. 60 ที่ผ่านมาผู้ผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มโอเปคสามารถปรับลดกำลังการผลิตลงได้ถึงร้อยละ 93 ของข้อตกลง นับเป็นสัญญาณเชิงบวกเนื่องจากเป็นระดับที่มากกว่าการปรับลดลงในปี 2009 ที่ระดับร้อยละ 63  ในขณะที่ แหล่งข่าวจากโอเปคคาดผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปค (Non-OPEC) สามารถลดกำลังการผลิตได้ร้อยละ 60 ของข้อตกลง นำโดยรัสเซีย โอมาน และคาซัคสถาน

- กำลังการผลิตของลิเบียมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังแหล่งน้ำมันดิบ El Feel กำลังการผลิต 75,000 บาร์เรลต่อวัน จะกลับมาดำเนินการอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียแตะระดับ 0.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่าจะแตะระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนส.ค. นอกจากนี้รัฐบาลลิเบียยังคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตจะมาอยู่ที่ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2561

- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดานในเดือนมี.ค. ปรับเพิ่มขึ้นราว 0.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตในเดือนก.พ. มาสู่ระดับ 4.87 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากแหล่งผลิต Permian ราว 0.07 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งผลิต Eagle Ford ยังปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบปี โดยปรับเพิ่มขึ้นราว 0.014 ล้านบาร์เรลต่อวัน

                      --------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

โทร.02-797-2999