สทศ.มึนเด็กป.6 ใช้คำแสลงในการตอบ ข้อสอบโอเน็ตอัตนัย

สทศ.มึนเด็กป.6 ใช้คำแสลงในการตอบ ข้อสอบโอเน็ตอัตนัย

"สัมพันธ์” เผยเบื้องต้นตรวจข้อสอบโอเน็ตอัตนัย วิชาภาษาไทย ป.6 พบเด็กเขียนคำผิดเยอะมาก เช่น แทรก เป็น แซก และยังใช้คำแสลงในการตอบ

รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สทศ.จัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 เมื่อเร็ว ๆ นี้นั้น เป็นครั้งแรกที่จัดสอบข้อเขียนหรืออัตนัย วิชาภาษาไทย กับนักเรียนชั้นป.6  ซึ่งจากการตรวจการดาษคำตอบเบื้องต้น พบว่า นักเรียน เขียนและใช้คำผิดความหมายค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการสะกดคำ คำควบกล้ำ การใช้การันต์  เช่น “แทรก” เขียนผิดเป็น “แซก” , “นะคะ” เขียนผิดเป็น “นะค่ะ”, “ซื่อสัตย์” เขียนผิดเป็น “ซื่อสัตว์” , “ภาพยนตร์”  เขียนผิดเป็น “ภาพยนตร์” รวมถึงยังมีการใช้ภาษาวัยรุ่น คำแสลงในการตอบข้อสอบด้วย  เช่น ชิวๆ แซ่บเว่อร์  เป็นต้น

ผอ.สทศ.กล่าวต่อไปว่า  ทั้งนี้  ได้ขอให้กรรมการที่ตรวจข้อสอบรวบรวมคำที่เด็กมักเขียนผิด หรือใช้ผิดความหมาย เพื่อส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน และสร้างสำนึกให้แก่เด็กในการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง เชื่อว่าจะได้ประโยชน์อย่างมาก และจะทำให้เด็กใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องมากขึ้น

“ก่อนที่สทศ.จะออกข้อสอบและจัดสอบอัตนัยวิชาภาษาไทย ป.6 ได้มีการรับฟังความเห็นของครูและผู้เกี่ยวข้องทั่วประเทศ  ทำให้ในข้อสอบ ต้องเขียนคำสั่งให้ชัดเจน ว่า ให้นักเรียนเขียนคำตอบตัวบรรจง ครึ่งบรรทัด ด้วยภาษาไทยมาตรฐาน (ภาไทยกลาง ) เพื่อให้เด็กมีความเข้าใจที่ตรงกัน เพราะข้อสอบนี้เป็นข้อสอบที่ใช้กับเด็กทั่วประเทศหลายแสนคน แต่ในการจัดการเรียนการสอน โรงเรียนส่วนใหญ่ อนุญาตให้เด็กใช้ภาษาถิ่น จนเด็กเกิดความเคยชิน เชื่อว่า จะมีเด็กใช้ภาษาถิ่นในการตอบข้อ ซึ่งก็พบว่า มีจริง ๆ ทำให้ที่เด็กที่ใช้ภาษาถิ่นในการตอบคำถามไม่ได้คะแนน”รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าว

รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางในการตรวจข้อสอบนั้น สทศ. รวมกับ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  (มสธ.)  มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) และมหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) เป็นศูนย์ตรวจข้อสอบ และร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ พัฒนาครูผู้สอนวิชาภาษาไทยกว่า 2,800 คน เพื่อเตรียมความพร้อมในการตรวจกระดาษคำตอบ  โดยคำตอบ 1 ข้อ จะใช้กรรมการผู้ตรวจ 2 คน รวมถึงยังใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาช่วยหาค่ามาตรฐานการตรวจกระดาษคำตอบ ซึ่งหากพบว่า กระดาษคำตอบใดมีค่าความต่างเกิน 15% จะไม่ยอมรับ และต้องตรวจกระดาษคำตอบใหม่  ส่วนจะจัดสอบอัตนัยวิชาอื่นเพิ่มหรือไม่นั้น คงไม่ใช่ตอนนี้ เพราะมีข้อจำกัด เรื่องผู้เชี่ยวชาญ ที่จะมาตรวจกระดาษคำตอบแต่ละรายวิชา ที่สำคัญคือช่วยเวลาในการตรวจคำตอบที่มีค่อนข้างจำกัด    

อนึ่ง การสอบอัตนัยเป็นนโยบายของนพ.ธีระเกียรติ  เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ต้องการให้เด็กนักเรียนได้ใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์ ในการสอบมากขึ้น  จึงกำหนดให้เริ่มดำเนินการในการสอบโอเน็ต วิชาภาษาไทยไทยก่อน และเริ่มในระดับป.6 ปีการศึกษา 2559 เป็นครั้งแรก โดยกำหนดสัดส่วนให้เป็น อัตนัย 20% และปรนัย 80%