เงี่ยหูฟัง “ฟังใจ” ความเคลื่อนไหวของดนตรีนอกกระแส

เงี่ยหูฟัง “ฟังใจ” ความเคลื่อนไหวของดนตรีนอกกระแส

การฟังเพลงได้เคลื่อนผ่านยุคสมัยต่างๆ จนถึงตอนนี้ที่ฟังเพลงจากแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งทำให้คนฟังและคนทำเพลงได้ค้นหากันจนเจอในโลกที่แสนกว้างใหญ่

ฟังใจ (Fungjai) แพลตฟอร์ม Music Streaming ออนไลน์สำหรับดนตรีนอกกระแสรายแรกของเมืองไทย ซึ่งทำมากว่า 2 ปีแล้ว จากสตาร์ทอัพแบบบูทสแตรพ (Bootstrap) ที่ควักทุนมาทำกันเอง ทำงานอื่นเพื่อหาเงินมาโปะโครงการที่พวกเขาปลุกปั้นกันขึ้นมา ก็ได้อุ๊คบีมาร่วมลงทุนในช่วงที่กำลังคิดว่าจะไปต่อดีหรือไม่ ฟังใจจึงดำเนินงานต่อมาสร้างชุมชนคนดนตรีให้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ฟังใจไม่ใช่เพียงพื้นที่สำหรับคนฟังเพลงเท่านั้น เพราะแพลตฟอร์มจะ “เกิด” ได้ต้องมีทั้ง 2 ฝั่ง คือผู้ฟังและศิลปิน

เราได้คุยกับ ท็อป - ศรันย์ ภิญญรัตน์ CEO ของ Fungjai และ พาย - ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี ผู้ก่อตั้งร่วมและ Community Manager ของฟังใจ พวกเขาเล่าให้ฟังว่า หลังจากที่เปิดพื้นที่ให้ศิลปินได้อัพโหลดเพลงเอง ก็ทำให้พื้นที่แห่งนี้เติบโตขึ้นมาก ปัจจุบันมีเพลงมากกว่า 6,000 เพลงจากราว 3,500 ศิลปิน ซึ่งถึงตอนนี้ตัวเลขก็เปลี่ยนตลอด เพราะมีศิลปินส่งผลงานเข้ามาเรื่อยๆ สัดส่วนระหว่างศิลปินอิสระกับศิลปินที่สังกัดเคยจากเดิมที่เคยมีพอๆ กัน ตอนนี้ก็เปลี่ยนเป็น 70 : 30 แล้ว

ประชาธิปไตยทางดนตรี

ฟังใจสร้างพื้นที่แห่งนี้ให้เกิดขึ้นด้วยแนวคิดที่ว่า “เราพยายามสร้างประชาธิปไตยทางดนตรี คนที่อยู่บนแพลตฟอร์มเรา จะฟังเพลงอะไรก็ได้ ดังไม่ดังก็ได้ เรามอบอำนวจให้เขาเป็นคนเลือก ฉะนั้น ชาร์ตของเราจะขึ้นอยู่กับผู้ฟังจริง ๆ” ฉะนั้น ในฟังใจจึงจะไม่มีการแนะนำเพลง เพลงที่ขึ้นชาร์ตฮิตนั้นก็เกิดจากความนิยมของคนฟังจริงๆ  อย่างมากที่สุดก็มีการทำเพลย์ลิสต์ต่างๆ เอาไว้ เพื่อ “ขุด” เพลงที่น่าสนใจขึ้นมา “ที่เราพยายามผสมระหว่างเพลงที่ค่อนข้างดัง กับเพลงที่ไม่ค่อยดัง เป็นการเกลี่ยให้ทุกคนรู้จักเพลงที่หลากหลายมาขึ้น เลือกฟังสิ่งที่ตัวเองต้องการมากขึ้น ในฟังใจซีน ก็มีการทำเรื่องราวของเขาขึ้น ไม่ใช่เพื่อให้เขาดัง แต่ต้องการดันให้คนได้รู้จักวงหลากหลายมากกว่า” พายบอก

หน้าที่ของฟังใจคือเน้นการสร้างพื้นที่ที่จะนำไปสู่โอกาส ซึ่งหมายถึงศิลปินต้องสร้างงานที่ดีด้วยตัวเอง เมื่อเพลงถูกใจผู้ฟังแล้ว ก็จะไปได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ไม่ใช่เพราะเพลงไม่ดีจึงไม่ดังในฟังใจ เพราะผู้ฟังของฟังใจนั้นก็ค่อนข้างเป็นกลุ่มเฉพาะอยู่เหมือนกัน

“คือเป็นกลุ่มคนอายุน้อย เปิดใจในการฟังเพลงหลากหลาย แต่ก็ไม่เน้นเพลงกระแสหลัก เน้นกระแสรอง นอกกระแส ฉะนั้น กลุ่มผู้ฟังก็ทำให้เกิดศิลปินที่เฉพาะมาป้อนเหมือนกัน ถ้าคนทำเพลงที่กลุ่มเป้าหมายน้อยในฟังใจ ก็อาจไม่ดังในฟังใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของคุณภาพการผลิต แต่เป็นเรื่องของการจับคู่รสนิยมที่ตรงกันมากกว่า” ฉะนั้น เพลงที่ดังในกระแสหลัก แต่ไม่ดังในฟังใจเลยก็มีมาแล้ว

มูลค่าจะเกิดเมื่อหากันจนเจอ

แต่ในอนาคต ท็อปหวังว่าจะมีเพลงที่หลากหลายมากขึ้น “ไม่ใช่แค่ป๊อบ หรือร็อก แต่ยังมีเพลงแนวอื่นๆ อีกมากมาย หมอลำเราก็มี แม้ยังไม่เป็นที่นิยมมาก แต่เราเชื่อว่าในอนาคตถ้าเรามีเพลงและผู้ฟังที่หลากหลาย รวมถึงมีอัลกอริธึ่มที่ดีพอที่จะจับซัพพลายกับดีมานด์เข้ามาหากัน ก็น่าจะดีขึ้นในหลายอย่าง”

ส่วนพายเสริมว่า “ตอนนี้ตลาดมีช่องทางมากขึ้นในการที่จะจับ เหมือนย้อนกลับไปสู่ยุคที่คน 2 คน แลกของกัน เราผลิตสิ่งนี้ เขาผลิตสิ่งนั้น เอามาแลกกัน นิชมาร์เก็ตเกิดการแลกมูลค่าระหว่างกัน แต่ตอนนี้มูลค่าของมันก็ยังไม่ได้ดีนัก เพราะพฤติกรรมของเราก็ยังยึดติดอยู่กับระบบเศรษฐศาสตร์ยุคที่มีองค์กรใหญ่ผลิตของออกมาขายให้คนจำนวนมาก แต่ตอนนี้เริ่มเข้าสู่ยุคที่การผลิตจำนวนน้อย ขายให้คนจำนวนน้อย ฉะนั้น มาร์จินที่ขายก็ต้องเพิ่มขึ้น เพื่อให้คนผลิตอยู่ได้ คนซื้อซื้อได้ไม่เดือดร้อนเกินไป แต่ตอนนี้ก็ยังไม่เต็มที่ ยังไม่มีความเข้าใจ ต้องรอคนอีกสักรุ่นหนึ่งที่จะเข้าใจ ว่านิชมาร์เก็ตต้องมีมาร์จินประมาณนี้ทำให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ได้”

พากยกตัวอย่างว่าดนตรีก็มีวิวัฒนาการเหมือนกัน จากยุคที่ทำให้ศิลปินคนหนึ่งดังมากๆ เพื่อขายให้คนจำนวนมากฟัง มาร์จินไม่ต้องสูงก็ทำให้ศิลปินมั่งคั่งได้ แต่เมื่อตอนนี้ตลาดกลายเป็นนิชมาร์เก็ต ศิลปินเล็กๆ กับคนฟังกลุ่มเล็กๆ แต่ความพึงพอใจในการจ่ายยังเท่าเดิมอยู่ จึงต้องใช้เวลาให้คนฟังเรียนรู้ว่าเขาต้องจ่ายเท่าไหร่ให้ศิลปินที่เขาชื่นชอบอยู่รอด ศิลปินก็ต้องเรียนรู้ว่าตัวเองต้องมีฐานแฟนเพลงเท่าไหร่จึงจะอยู่ได้

“แล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือคนๆ นั้นก็ โอเค ถ้าเราจะต้องใช้เงินมากขึ้นในการสนับสนุนเพลง ฉะนั้น ศิลปินที่เขาจะสนับสนุนต้องน้อยลง ผมไม่ได้ทำนายนะครับว่ามันจะเป็นแบบนี้ แต่วิวัฒนาการของมันเกิดขึ้นแล้ว การแลกเปลี่ยนระหว่างคนกลุ่มเล็กๆ และคนกลุ่มเล็กๆ จะเกิดขึ้น แล้วจะสมดุลกันในที่สุด นี่คือไอเดีย ของระบบเศรษฐกิจที่มีอินเตอร์เน็ทเข้ามาเกี่ยวข้องจะเบนมาทางนี้ แต่คงต้องใช้เวลาสักพักหนึ่ง เรียนรู้ว่าเราจะอยู่รอดได้อย่างไร คือแนวโน้มมาแล้ว แต่พฤติกรรมคนยังคงซื้อของรูปแบบเดิม”

ช่องทางสนับสนุนศิลปิน

ที่ผ่านมาฟังใจมี 4 ยูนิทหลัก คือฟังใจ ฟังใจที่เป็นออนไลน์มิวสิคสตรีมมิ่ง ฟังใจซีน เห็ดสด (รวมถึงคอนเสิร์ตสเกลเล็กลงมา) และเห็ดยัง ซึ่งเป็นการสัมมนาให้ความรู้

“พอเรามีมิวสิคสตรีมมิ่งแล้วก็มาคิดต่อว่าศิลปินเขามีเรื่องราวในการทำเพลง เราก็ทำเป็นบล็อกเกี่ยวกับการทำดนตรีในเมืองไทย จากบล็อกก็กลายเป็นแมกกาซีนออนไลน์ ชื่อ ฟังใจซีน (Fungjai Zine) จากนั้นก็คิดว่าประสบการณ์ฟังดนตรีที่ดีที่สุดคือการฟังสด เราก็เลยคิดถึงคอนเสิร์ต ปกติวงนอกกระแสไปแสดงงานมักเจอเครื่องเสียงไม่ดี แต่เราอยากสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดในการแสดง ก็เลยเกิดคอนเสิร์ต เห็ดสด ขึ้นมา นอกจากนี้ในส่วนของคอมมูนิตี้ การต่อยอดให้ความรู้กับนักดนตรีเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าคนที่ไม่รู้จักคนในแวดวงนี้ ก็อาจเข้าไม่ถึงข้อมูลต่างๆ จึงเกิดเป็นงานสัมมนาขึ้นมา ชื่องาน เห็ดยัง เพื่อถ่ายทอดชุดความรู้นี้ให้เป็นสาธารณะมากขึ้น สามารถกลับมาอ่านได้ มีการแลกเปลี่ยนเครือข่ายกันมากขึ้นด้วย ทั้งคนรุ่นใหม่รุ่นเก่า”

ล่าสุด ฟังใจก็ได้เปิดตัวโปรเจคใหม่ มาละมา คอลเลคทีฟ (Malama Collective) ซึ่งเป็นทางเลือกในการสนับสนุนศิลปินในอีกรูปแบบ นอกเหนือจากการสังกัดอยู่กับค่ายเพลงและการเป็นศิลปินอิสระ โดยมาละมา คอลเลคทีฟ จะเป็นชุมชนนักดนตรีที่มีกองทุนเป็นศูนย์กลางให้ศิลปินได้ “ยืม” ไปใช้ในการสร้างผลงาน ทำการตลาด และประชาสัมพันธ์วง โดยมีพายเป็นไดเรคเตอร์ของโครงการ และมี กัน – กันดิศ ป้านทอง อดีตบรรณาธิการของฟังใจซีนมาทำหน้าที่ผู้จัดการ หรือพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแก่ศิลปิน โดยกองทุนก้อนแรกนั้นได้มาจากฟังใจนั่นเอง ศิลปินจะรู้ว่าพวกเขาใช้เงินไปเท่าไหร่แล้วในการทำเพลง ส่วนการทำกองทุนเติบโตต่อไปจะมาจากศิลปิน ซึ่งเมื่อมีสร้างรายได้จากการแสดงสด หรืออื่นๆ ก็จะนำเงินกลับมาเข้ากองทัน ส่วนหนึ่งจะหักเป็นค่าบริหารงาน อีกส่วนจะนำไปสมทบกับเงินที่ศิลปินใช้ไป และหากศิลปินหักลบหนี้ที่ตนมีอยู่แล้ว ก็ต้องหารายได้เข้ามาเสริมให้กองทุนด้วย ด้านผู้บริหารเองก็มีหน้าที่หาทุนเข้ามาสนับสนุนกองทุนในรูปแบบอื่นๆ ด้วย เพื่อทำให้กองทุนเติบโต เพื่อสนับสนุนศิลปินนี้ให้พัฒนายิ่งขึ้นด้วย

ความเคลื่อนไหวของโลกดิจิทัลกับคนที่มองโลกนอกกรอบกำลังทำให้เกิดก้าวสนุกๆ ที่น่าสนใจขึ้นมาในวงการดนตรี ต้องคอยเงี่ยหูฟังกันต่อไป