‘บล.เคทีบี’ ดันธุรกิจบริหารเวลท์

‘บล.เคทีบี’ ดันธุรกิจบริหารเวลท์

บล.เคทีบี รุก "บริหารเวลท์" เร่งลงทุนไอทีหวังรักษามาร์เก็ตแชร์ วางเป้าหมายกำไรปีนี้แตะ50ล้าน

บล.เคทีบี (ประเทศไทย)ตั้งเป้าบริหารความมั่งคั่งเพิ่มเป็น 5 หมื่นล้านบาท พร้อมวางงบลงทุนระบบไอทีเป็น 7-9% ของรายได้ จากปีก่อนใช้ 5% ของรายได้กว่า 600 ล้านบาท หวังรักษามาร์เก็ตแชร์ที่ระดับ 2% และช่วยเพิ่มศักยภาพในการให้บริการและประหยัดต้นทุน พร้อมตั้งเป้าปีนี้มีกำไร 30-50 ล้านบาท จากปีก่อนที่พลิกมีกำไร 10 ล้านบาท ในรอบกว่า 10 ปี

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (KTBST) เปิดเผยว่า เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา บริษัทสามารถพลิกกลับมามีกำไรทั้งสิ้น 10 ล้านบาท ถือเป็นกำไรครั้งแรกของบริษัทในรอบกว่า 10 ปี เป็นไปตามส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้นเป็น 1.7-2% จากเดิมอยู่ที่ราว 0.8%

สำหรับแผนธุรกิจในปี 2560 ยังเน้นการเติบโตในทุกธุรกิจ โดยเฉพาะการบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล (Private Wealth Management) ซึ่งปีก่อนมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท ส่วนปีนี้ตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 5 หมื่นล้านบาท และมีมูลค่ากองทุนส่วนบุคคลเป็น 5 พันล้านบาท จากปีก่อนที่ 3 พันล้านบาท และคาดจะมีจำนวนบัญชีของลูกค้าที่เคลื่อนไหวประมาณ 1 หมื่นบัญชี จากปีก่อนที่ 7 พันบัญชี ซึ่งจะช่วยให้บริษัทรักษาฐานส่วนแบ่งการตลาดไว้ที่ราว 2% ทำให้บริษัทเชื่อว่าปีนี้จะสามารถมีกำไรต่อเนื่องได้อีกราว 30-50 ล้านบาท

ขณะเดียวกันบริษัทจะเน้นลงทุนด้านเทคโนโลยีมากขึ้น โดยตั้งงบลงทุน 7-9% ของรายได้ในปีนี้ ขณะที่ปีก่อนใช้เพียง 5% ของรายได้ที่ทำได้กว่า 600 ล้านบาท รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ อย่าง KTBST SMART ALGO ซึ่งเป็นการลงทุนอัตโนมัติเต็มรูปแบบ เป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนที่ต้องการเทรดด้วยระบบอัตโนมัติตามกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ โดยเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 มีลูกค้าใช้บริการราว 120 ราย มูลค่าลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท

“กลยุทธ์ปีนี้จะเดินหน้าเพิ่มจำนวนและพัฒนาศักยภาพบุคคลและยกระดับบริการให้มีระดับเทียบเท่าหรือดีกว่ามาตรฐานสากล เดินหน้าบริการแบบครบวงจร ทั้งการบริหารเงินเพื่อความมั่งคั่งส่วนบุคคล บริการวาณิชธนกิจ กองทุนรวม การลงทุนต่างประเทศ กองทุนส่วนบุคคล โดยเน้นการเติบโตทุกธุรกิจทุกการลงทุนแบบเชิงรุก วางบทบาทบริษัทเป็นโบรกเกอร์ และผู้ให้ข้อมูลความรู้ คล้ายกับบล.เอเชีย พลัส และบล. ภัทร นอกจากนี้จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เน้นใช้เทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี 4.0 ทำให้ลูกค้าสามารถลงทุนได้ด้วยตัวเอง ปีนี้เตรียมงบลงทุนด้านไอทีเพิ่มขึ้น 7-9% ของรายได้ จากปี 2559 ใช้งบนี้ 5% ของรายได้ ซึ่งอยู่ที่กว่า 600 ล้านบาท”

นายชาตรี โรจนอาภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ กล่าวว่า ภาพการลงทุนในปีนี้นักลงทุนน่าจะหันมาซื้อขายระยะสั้นมากขึ้น เพราะภาพตลาดค่อนข้างผันผวนกว่าปีที่ผ่านมา และมีกรอบในการปรับขึ้นค่อนข้างจำกัด โดยบริษัทมองกรอบดัชนีด้านบนที่ 1,644 จุด อิงจากกำไรต่อหุ้นเติบโต 5% คิดเป็นค่าพี/อี 18 เท่า ขณะที่กรอบล่างมอง 1,392 จุด คิดจากค่าพี/อีเฉลี่ยในอดีตที่ 16.6 เท่า โดยการเติบโตจะมาจากการบริโภคและการใช้จ่ายภาครัฐ

ลุ้นเข้าตลาด เร็วกว่าแผน

หลังจาก วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) เข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่และบริหารงานอย่างเต็มตัวเมื่อปี 2559 สามารถช่วยให้บริษัทพลิกกลับมามีกำไรได้ในรอบกว่า 10 ปี ซึ่งบริษัทคาดหวังว่าจะมีกำไรต่อเนื่องในปีนี้ และยังคาดหวังว่าจะสามารถทำกำไรได้มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 30-50 ล้านบาท 

หากเป็นเช่นนั้น บริษัทอาจจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ก่อนแผนที่วางไว้เดิมว่าจะเข้าจดทะเบียนได้ในปี 2562 โดยผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกนี้ก็น่าจะพอบอกได้ว่าจะเลื่อนแผนหรือไม่ ขณะเดียวกันบริษัทน่าจะต้องระดมทุนเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง จากปัจจุบันที่มีทุนจดทะเบียน 555 ล้านบาท โดยการเพิ่มทุนก่อนที่เข้าจดทะเบียนนี้จะเป็นการเพิ่มทุนโดยที่ทางผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บล.เคทีบี จากเกาหลีใต้ ไม่น่าจะใช้สิทธิด้วย แต่โดยภาพรวมแล้วจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 เช่นเดิม

“ที่ผ่านมาบริษัทมีเป้าหมายจะเติบโตเชิงรุก อย่างปีนี้ที่วางเป้าเติบโต 3-5 เท่าตัว และต้องการจะเป็นโบรกเกอร์ที่ให้บริการครอบคลุมด้านการลงทุนทุกรูปแบบ”