'หอยแก้วน้อย' ชนิดใหม่ของโลก ค้นพบที่ภาคอีสาน

'หอยแก้วน้อย' ชนิดใหม่ของโลก ค้นพบที่ภาคอีสาน

นักวิจัย มมส ค้นพบ "หอยแก้วน้อย" ชนิดใหม่ของโลก ชี้ภาคอีสาน เป็นพื้นที่ยังมีความหลากหลายทางชีวภาพที่ซ่อนเร้นอยู่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนิดาพร ตุ้มปี่สุวรรณ และอาจารย์ ดร.ศักดิ์บวร ตุ้มปี่สุวรรณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ดร.กิตติ ตันเมืองปัก มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ค้นพบหอยทากบกชนิดใหม่ของโลก การค้นพบในครั้งนี้เป็นงานวิจัยระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ของ ดร. กิตติ ตันเมืองปัก โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนิดาพร ตุ้มปี่สุวรรณ และอาจารย์ ดร.ศักดิ์บวร ตุ้มปี่สุวรรณ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ซึ่งได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร Molluscan Research ในปี ค.ศ. 2017

หอยทากบกชนิดใหม่นี้ คือ “หอยแก้วน้อย” มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Sesara triodon Tanmuangpak & Tumpeesuwan, 2017 เป็นหอยที่มีเปลือกขนาดเล็ก รูปร่างแบน แข็ง เรียบ และใส (ขนาดของเปลือกประมาณ 6-12 มิลลิเมตร) โดยบริเวณขอบปากเปลือกด้านในมีการสร้างติ่งยื่นออกมามีลักษณะคล้ายมีฟัน 3 ซี่ จึงเป็นที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Sesara triodon” ซึ่ง “triodon” หมายถึงฟัน 3 ซี่

“หอยแก้วน้อย” Sesara triodon Tanmuangpak & Tumpeesuwan, 2017 พบได้เฉพาะที่เขาหินปูนบริเวณภูผาล้อม จังหวัดเลย โดยที่หอยทากในสกุล Sesara เคยศึกษาและมีรายงานในประเทศไทยมาแล้วสองสปีชีส์ ได้แก่ S. parva Solem, 1966 จากดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ และ S. megalodon Blandford, 1902 จากพิษณุโลก ซึ่งหอยทากทั้งสองสปีชีส์มีฟันบริเวณปากเปลือก 2 และ 4 ซี่ ตามลำดับ ส่วน “หอยแก้วน้อย” S. triodon Sesara triodon Tanmuangpak & Tumpeesuwan, 2017 มีฟันบริเวณปากเปลือก 3 ซี่ นอกจากลักษณะภายนอกที่ต่างจากหอยในสกุลเดียวกันแล้ว จากการศึกษาลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์ระบบสืบพันธุ์ (genital system) และรูปร่างลักษณะของแผ่นฟัน (radula) ก็มีความต่างกัน ซึ่งข้อมูลทั้งสองส่วนนี้นำมาสนับสนุนข้อมูลทางสัณฐานวิทยาของเปลือกจนสามารถแยกออกเป็นหอยทากสปีชีส์ใหม่ของโลกได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนิดาพร ตุ้มปี่สุวรรณ กล่าวว่า การค้นพบ “หอยแก้วน้อย” S. triodon Tanmuangpak & Tumpeesuwan, 2017 ซึ่งเป็นหอยทากบกชนิดใหม่ของโลก ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าพื้นที่นี้ยังมีความหลากหลายทางชีวภาพที่ซ่อนเร้น รอการค้นพบอีกมาก นอกจากนี้ข้อมูลจากการวิจัยนี้ยังสามารถใช้เป็นตัวอย่างในการสอนวิชาสัตวภูมิศาสตร์ (Zoogeography) ได้เป็นอย่างดี