กสท.เรียกทรูวิชั่นส์ถกแผนเยียวยาเลิก 6ช่องHBO

กสท.เรียกทรูวิชั่นส์ถกแผนเยียวยาเลิก 6ช่องHBO

บอร์ด กสท. เรียกทรูวิชั่นส์เจรจาแผนเยียวยาจันทร์นี้ จ่อสรุปบทลงโทษฐานเอาเปรียบผู้บริโภคยกเลิกช่องไม่แจ้ง

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2560  กสท. มีมติให้สำนักงาน กสทช. เชิญผู้แทน บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด มาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อที่ประชุม กสท. วันจันทร์ที่ 20 ก.พ.นี้ เรื่องแผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณีขอยกเลิก HBO  6  ช่องรายการ

            โดยจะพิจารณาข้อเท็จจริงว่าได้แจ้งให้ผู้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หากแจ้งน้อยกว่า 30 วัน จะพิจารณาให้มีคำสั่งทางปกครองเนื่องจาก ถือเป็นการกระทำผิดตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ.2556 และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการให้บริการที่ทรูวิชั่นส์ ได้ตกลงไว้กับผู้ใช้บริการโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร

            ทั้งนี้ ถือเป็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคฯ โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ตามข้อ 5 (7) ของประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ทั้งในฐานะที่ ทรูวิชั่นส์ เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการช่องรายการ และโครงข่ายที่ให้บริการ

            นอกจากนี้ กสท. จะพิจารณาว่าแผนเยียวยาที่ทรูวิชั่นส์ ส่งมาให้มีความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือไม่  โดยก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเคยเสนอความเห็นต่อ กสท.ว่าแผนเยียวยาดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมและเป็นธรรมต่อผู้บริโภค

            นางสาวสุภิญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า กสท.ได้เชิญตัวแทนทรูวิชั่นส์ มาเจรจาแผนเยียวยาผู้ใช้บริการในบอร์ดวันจันทร์นี้ ส่วนตัวหวังว่าอย่างน้อยบอร์ดต้องมีมาตรการลงโทษที่แจ้งสมาชิกน้อยกว่า 30 วัน และยื่นข้อเสนอกับทรูวิชั่นส์เรื่องแผนเยียวยา 3 แนวทาง ดังนี้

            แนวทางที่ 1 หากนำช่องรายการมาทดแทนช่องที่ถูกยกเลิกไปจะต้องมีคุณภาพไม่น้อยไปกว่าช่องเดิม แต่หากมีจำนวนช่องและคุณภาพที่น้อยกว่าจะต้องลดค่าแพ็คเกจ หรือต้องหาวิธีการชดเชยเยียวยาอื่น เช่น ปรับระดับแพ็คเกจหรือโปรโมชั่นเสริมอื่นๆ เป็นต้น

            แนวทางที่ 2 หากไม่นำช่องรายการมาทดแทนควรจะต้องลดค่าแพ็คเกจและหาวิธีการอื่น หรือโปรโมชั่นเสริมชดเชย โดยให้คำนวณมูลค่าเต็มจากช่องรายการไม่หักสัดส่วนเนื่องจากไม่มีช่องมาทดแทน และ        แนวทางที่ 3 ลดค่าแพ็คเกจตามสัดส่วนหรือชดเชยด้วยวิธีการอย่างอื่นหรือเสริมโปรโมชั่นตลอดอายุสัญญาของผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นการชดเชยเพิ่มเติมจากมูลค่าที่เสียไป เป็นต้น

 

             นอกจากนี้ กสท.เตรียมพิจารณา วาระมาตรการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด กรณีแจ้งความประสงค์ขอยกเลิกการให้บริการ 30 ช่องรายการ โดย จีเอ็มเอ็มบี ได้เสนอมาตรการเยียวยาในลักษณะของการให้กล่องรับสัญญาณดาวเทียม CTH  พร้อมรับชมแพ็กเกจ Beyond CTH Z Package ฟรี นาน 4 เดือน 8  เดือน และ 12 เดือน และหากลูกค้าไม่ยอมรับการชดเชยต้องคืนเงินให้กับลูกค้าโดยหลักการคืนในจำนวนเงินตามวันที่ไม่ได้รับ 

            ต่อมาบริษัท ซีทีเอช เคเบิลทีวี จำกัด ได้ยกเลิกการให้บริการแพ็คเกจดังกล่าวและยุติการให้บริการโครงข่ายฯ แล้ว เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2559 ดังนั้น มาตรการชดเชยเยียวยาที่บริษัทจีเอ็มเอ็มบี เสนอจึงไม่สามารถดำเนินการได้  ซึ่งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ได้เชิญบริษัทจีเอ็มเอ็มบี เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม  แต่จีเอ็มเอ็มบี ปฏิเสธการเข้าร่วม และไม่ชี้แจงข้อเท็จจริงใดๆ ให้ สำนักงาน กสทช. ทราบภายในระยะเวลาที่กำหนด 

            คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ จึงเสนอให้ กสท.มอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ติดตามตรวจสอบ ว่าบริษัท จีเอ็มเอ็ม บี ได้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตหรือไม่ หากพบว่า บริษัท จีเอ็มเอ็ม บี มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการตาม ข้อ 19 ข้อ 20 และ ข้อ 21 ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555  หรือดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเห็นควรเพิกถอนใบอนุญาตเช่นเดียวกับกรณีของบริษัทซีทีเอช