วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (17 ก.พ.60)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (17 ก.พ.60)

ราคาน้ำมันดิบผันผวนจากสต็อกน้ำมันสหรัฐที่พุ่งขึ้นสูง สวนทางกับการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปค

+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสวนทางกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์และดูไบ ด้วยแรงสนับสนุนจากการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก โดยกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มว่าจะขยายข้อตกลงการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบไปสู่ประเทศนอกกลุ่มโอเปกอื่นๆ และอาจปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นหากปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560

+ นอกจากนี้ กลุ่มโอเปกเผยว่าได้ปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบรวมแล้วเกินกว่า 90% นำโดยประเทศซาอุดิอาระเบียที่ปรับลดกำลังการผลิตในเดือนมกราคมมากกว่า 700,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 9.748 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าที่ได้ตกลงไว้

- อย่างไรก็ตาม โอเปกคาดการณ์ปริมาณน้ำมันที่ผลิตจากประเทศนอกกลุ่มโอเปกในปีนี้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 240,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 120,000 บาร์เรลต่อวัน

- ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันคงคลังของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องกัน 6 สัปดาห์ และเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบอาจปรับตัวลดลงหากปริมาณน้ำมันคงคลังของสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูงต่อไป


ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี ยังมีแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังที่สิงคโปร์ที่เริ่มปรับตัวลดลง รวมไปถึงอุปสงค์จากประเทศอินโดนีเซีย

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในประเทศอินโดนีเซีย อันเนื่องมาจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น รวมไปถึงอุปสงค์จากประเทศศรีลังกา อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังที่สิงคโปร์ยังคงอยู่ในระดับสูง


ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

           ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 51-56 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
    
           ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 53-58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล



ปัจจัยที่น่าจับตามอง

- ติดตามการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคในวันที่ 21 – 22 ก.พ. เกี่ยวกับข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต ซึ่งมีแนวโน้มเป็นไปในทางที่ดี หลังรายงานประจำเดือน ก.พ. 2560 ของโอเปค เปิดเผยว่าประเทศผู้ผลิตกลุ่มโอเปค ทั้ง 11 ประเทศไม่รวม ลิเบีย ไนจีเรีย และอินโดนีเซีย ปรับลดปริมาณการผลิตในเดือนม.ค. 2560 ลงราว 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาสู่ระดับ 29.88 ล้านบาร์เรลต่อวัน

- กำลังการผลิตของลิเบียมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังแหล่งน้ำมันดิบ El Feel กำลังการผลิต 75,000 บาร์เรลต่อวัน จะกลับมาดำเนินการอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียแตะระดับ 0.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่าจะแตะระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนส.ค. นอกจากนี้รัฐบาลลิเบียยังคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตจะมาอยู่ที่ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2561

- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดานในเดือนมี.ค. ปรับเพิ่มขึ้นราว 0.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตในเดือนก.พ. มาสู่ระดับ 4.87 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากแหล่งผลิต Permian ราว 0.07 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งผลิต Eagle Ford ยังปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบปี โดยปรับเพิ่มขึ้นราว 0.014 ล้านบาร์เรลต่อวัน

-------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

โทร.02-797-2999