"ข้าว ผ้า ยา บ้าน” เกษตรกรรุ่นใหม่หัวใจอินดี้

"ข้าว ผ้า ยา บ้าน” เกษตรกรรุ่นใหม่หัวใจอินดี้

พวกเขาคือเกษตรกรรุ่นใหม่จากภาคอีสานผู้เชื่อในวิถีเกษตรอินทรีย์และการพึ่งพาตนเอง ลุกมาคิดใหม่ทำใหม่ กล้าเปลี่ยนแปลงเพื่อหาทางออกให้อาชีพเกษตร

ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ผ้าทอพื้นบ้าน ยาสมุนไพรไทย กับผักสดเขียวขจี ที่เรียงรายอวดโฉมอยู่ในบูธ “ข้าว ผ้า ยา บ้าน” ของกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่จากภาคอีสาน ดึงความสนใจของผู้คนที่หลั่งไหลเข้าชมงาน “ทำธรรม Tham Tham” โดย Volkskraft Thailand  ณ สวนครูองุ่น มาลิก ทองหล่อ ซอย 3 เมื่อวันก่อน

หลายคนรู้จักพวกเขาในชื่อ “ชาวนาอินดี้” หน่วยจรยุทธของ “กลุ่มชาวนาไทยอีสาน” ที่รวมตัวกันเมื่อประมาณ 3 ปี ก่อน มีสมาชิกกลุ่มใหญ่รวมกันนับ 40 ชีวิต ขณะที่กลุ่มเล็ก “ข้าว ผ้า ยา บ้าน” และ “ชาวนาอินดี้” ซึ่งทำหน้าที่เคลื่อนไหวอยู่ในไลน์และเฟซบุ๊ค ก็มีกองกำลังอยู่อีกกว่าสิบชีวิต

ด้วยพันธกิจคือ  แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปรึกษาหารือ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำการตลาด ทำกิจกรรมร่วมกัน และหาคำตอบให้กับปัญหาที่เกิดจากการทำเกษตรอินทรีย์ โดยสมาชิกเป็นกลุ่มคนที่ขยับตัวเร็วและไปไหนมาไหนด้วยกันได้ง่าย

ขึ้นชื่อว่าเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ แถมมีนิคเนมเท่ๆ ว่า “ชาวนาอินดี้” แต่อายุอานามของสมาชิกที่นี่ก็มีตั้งแต่เด็กจบใหม่วัย 20 ต้นๆ ไปจนคนในวัยกว่า 50 ปี ประกาศชัดว่า เกษตรกรอินดี้ จะเป็นคนวัยไหนก็ได้

“เกษตรกรรุ่นใหม่ ไม่ได้หมายถึงคนอายุน้อยเท่านั้น และไม่ได้เป็นแค่ชาวนาเกิดใหม่ แต่เป็นคนที่มีความคิดใหม่ มุ่งมั่นพัฒนาตัวเอง เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตและพึ่งพาตัวเองได้”

คำบอกเล่าจาก “แก่นคำกล้า พิลาน้อย” หรือ “ตุ๊หล่าง” หนุ่มเมืองยโสธร ที่เลือกเส้นทางชีวิตเป็นชาวนาตั้งแต่เรียนจบม.6 เขาสนใจเรื่องการปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นเจ้าของรางวัล “คนนอกกรอบ” จาก คนค้นฅน อวอร์ด ครั้งที่ 1 วันนี้คือแกนนำคนสำคัญแห่งกลุ่ม “ข้าว ผ้า ยา บ้าน” และ “ชาวนาอินดี้”

หลายคนอาจรู้จักตุ๊หล่างดีจากเคยเห็นหน้าผ่านสื่ออยู่บ้าง แต่กับสมาชิกคนอื่นในกลุ่ม บอกได้แค่ว่า “รู้แล้วจะทึ่ง!”

เริ่มจาก “ครูหมู” หรือชื่อจริงพร้อมตำแหน่งทางวิชาการว่า “ผศ.ดร.อุบล สุริพล” ซึ่งเป็นถึงอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา วันนี้ครูหมูยังสอนหนังสือเด็กวิศวะ แต่แบ่งอีกภาคมาทำเกษตรที่บ้านเกิด บุรีรัมย์ ด้วยเหตุผลแค่..

“ชอบเกษตร มีความสุขที่ได้ทำ และพยายามพัฒนาหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อทำให้เกษตรดีขึ้น ไม่ใช่ทำแบบเดิมๆ ซึ่งเชื่อว่าการได้ทำในสิ่งที่เรารัก เราจะมีความสุข และทำมันได้ดี” ครูหมูบอก “เหตุเกิดจากความรัก” ในวิถีเกษตรอินทรีย์

เลยไปขอแบ่งที่ครอบครัวมาทำเกษตร จนผ่านมา 3 ปี ผืนนาของครูหมู สามารถปลูกข้าวได้ถึง 9 สายพันธุ์ และเป็นเกษตรอินทรีย์ที่ปลอดภัยต่อทั้งสุขภาพของคนปลูกและคนทาน

หนุ่มผิวเข้ม ยิ้มหวาน มีดีกรีเป็นถึงนิสิตเกียรตินิยมอันดับ 1 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตครูสอนภาษาอังกฤษระดับชั้น มัธยมปลาย ที่วันนี้ลาออกจากการเป็นครูในระบบมาสอนทักษะชีวิตเด็กๆ อย่างเต็มตัว อยู่ในจังหวัดศรีสะเกษ

เขาคือ “ครูธีร์-ธีร์ธวัช วงศ์ศิริชัยสกุล” ครูหนุ่มบ้านนอกที่ชอบชวนเด็กๆ มาทำกิจกรรม เพาะพันธุ์ต้นไม้ สอนทำบ้านดิน แปรรูปผลิตภัณฑ์ไว้ใช้เอง ทำศูนย์เมล็ดพันธุ์ให้เด็กๆ มาศึกษา และสอนทักษะชีวิตที่เด็กๆ จะสามารถพึ่งพาตนเองได้ แถมใจดีสอนเด็กฟรี และหารายได้เลี้ยงชีพด้วยการทำอาชีพเกษตร

“จากเดิมเป็นครู สอนอยู่แค่โรงเรียนเดียว แต่เดี๋ยวนี้สอนเด็กได้มากขึ้น โดยไม่เก็บเงินจากเด็ก แต่หารายได้เล็กๆ น้อยๆ จากการทำข้าว เหลือกินก็แบ่งปัน ส่วนหนึ่งก็ขายไป ข้าวที่เหลือก็สงเคราะห์คนยากไร้ทุกๆ เดือน มองว่าคำว่า รวยไม่ได้หมายถึงเรื่องเงินทองอย่างเดียว แต่เรารวยอย่างอื่นได้ด้วย” เหมือนที่ครูธีร์ “รวยน้ำใจ” และ “ความสุข” อย่างมากในวันนี้

เกษตรกรรุ่นเก่าอาจไม่เก่งเรื่องการตลาด แต่จะกลัวอะไรถ้ามีทายาทรุ่นใหม่เข้ามาช่วย ดูอย่าง “หยาด-สุจิตรา รักษาพันธ์” ทายาทชาวนาวัย 23 ปี แห่งเมืองอำนาจเจริญ ที่เรียนจบรัฐศาสตร์ แต่เลือกมาช่วยทำการตลาดให้ข้าวพื้นเมือง เธอใช้ช่องทางเข้าถึงคนรุ่นใหม่อย่างเฟซบุ๊ค และสื่อออนไลน์ รวมถึงออกงานต่างๆ เพื่อเปิดตลาดใหม่ให้ข้าวของพ่อแม่

“ทำอะไรบ้าง ทำหมดตั้งแต่กรรมกรแบกหาม คนแพคข้าว หาลูกค้า และทำตลาด โดยใช้เฟซบุ๊ก และสื่อออนไลน์”

หยาดบอกงานของเธอ ที่ดูจะเหนื่อยหนักอยู่ไม่น้อย แต่เธอว่า ก็มีความสุขดี และอยากทำ เพราะอยากให้สินค้าเกษตรมีตลาด และมีโอกาสขายได้ราคาขึ้น เพื่อรักษาอาชีพของพ่อแม่ และข้าวพันธุ์พื้นเมืองไว้ ไม่ให้หายไปจากตลาด

คงเหมือนการตัดสินใจของ “อุ้ม-คนึงนิตย์ ชะนะโม” วัย 30 ปี หรือที่ชาวโซเชียลเรียกว่า “ชะนีอินดี้” ซึ่งมีดีกรีเป็นถึงศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่กลับเลือกมาสานต่ออาชีพชาวนาของพ่อแม่ ที่บุรีรัมย์เมื่อ 2 ปีก่อน

เธอศึกษาหาความรู้จากครูบาอาจารย์ เพื่อเข้าใจโลกของเกษตรอินทรีย์ จากนั้นก็เริ่มชักจูงให้คนในครอบครัวเข้าใจและเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ ผลผลิตที่เคยขายส่งโรงสี เธอก็เริ่มมาทำตลาดออนไลน์ ผ่านทางเฟซบุ๊ค และขายในกลุ่มเพื่อนฝูง โดยมีเพจชื่อ 0๙d – ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง” ที่เริ่มต้นจากคนแค่ 3 คน คือตัวเธอ และผู้สูงวัยในชุมชนอีก 2 ชีวิต โดยหวังให้เป็นศูนย์ที่ผู้คนจะได้เข้ามาเรียนรู้การพึ่งพาตัวเอง ซึ่งทุกผลผลิตที่ได้คนรุ่นใหม่อย่างเธอ จะหาทางทำตลาดให้

“คำว่าชาวนาอินดี้ ไม่ได้สวยงามอย่างที่เห็น แต่ต้องผ่านความกดดันมาเยอะมาก ต้องเจอแรงเสียดทานที่สูงมาก แต่ที่ไม่ท้อเพราะเชื่อในทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 ซึ่งพระองค์ท่านใช้เวลาศึกษามานานมาก และคิดทุกอย่างให้จบแล้ว เราก็แค่เดินตาม ซึ่งเชื่อว่ายั่งยืนได้แน่นอน และที่ผ่านมาพระองค์ท่านสู้มาตลอด เทียบกับงานของเราแล้วยังถือว่าเล็กมาก ถ้ายังทำไม่สำเร็จ ก็ไม่ต้องคิดไปทำงานอย่างอื่นแล้ว” เธอบอกแรงบันดาลใจที่ทำให้ชะนีอินดี้ลุกขึ้นสู้

จากต่างคนต่างทำ วันนี้เกษตรกรรุ่นใหม่เลือกที่จะจับมือเดินไปด้วยกัน โดย ตุ๊หล่าง-แก่นคำกล้า บอกเราว่า ที่ต้องรวมกลุ่มก็เพื่อ ร่วมมือ ช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พึ่งพาอาศัยกัน และก้าวเดินไปด้วยกัน โดยจุดร่วมเดียวกันของพวกเขา คือ ชอบเกษตร เชื่อในวิถีเกษตรที่มั่นคง มุ่งพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด และพึ่งพากันและกันในกลุ่มสมาชิกของพวกเขา

“เรารวมตัวกันก็เพื่อให้มีพลังในการขับเคลื่อน เพราะทำคนเดียวมันเหงา แต่ถ้ามีเพื่อนก็จะมีคนมาช่วยคิดช่วยแก้ปัญหา มองว่า ถ้าเราเชื่อว่า คนบินไม่ได้ เพราะไม่ใช่นก ก็คงไม่มีเครื่องบินอย่างที่เห็นในวันนี้ เกษตรอินทรีย์ก็เช่นกัน ถ้าคิดเพียงว่า ทำไม่ได้หรอก ก็คงไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ แต่ถ้าทุกคนเชื่อ และร่วมมือกัน มันก็จะสำเร็จได้” เขาย้ำในตอนท้าย

รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากการขายของในวันนั้น พวกเขานำไปสมทบสร้างอาคารเมล็ดพันธุ์ให้กับเด็กๆ ของครูธีร์

นั่นสะท้อนว่า ความฝันของสมาชิกก็คือฝันเดียวกันของพวกเขาที่อยากร่วมกันทำให้สำเร็จ นี่แหล่ะวิถีของเกษตรกรอินดี้