อัจฉริยะคนพันธุ์เล็ก ถอดสูตร “ยั่งยืน” ในธุรกิจ SME

อัจฉริยะคนพันธุ์เล็ก ถอดสูตร “ยั่งยืน” ในธุรกิจ SME

ติดตามเอสเอ็มอีนักสู้ ผู้ไม่พ่ายต่อทุกอุปสรรค พร้อมเดินหมากรบเพื่อพิชิต "ความยั่งยืน" ให้กิจการไซส์เล็ก

ไม่ใช่ทุกคนที่จะเริ่มต้นธุรกิจแบบหอมหวาน มีแต่ความฝัน โลกสวย และเงินก้อนโตมาลงทุนธุรกิจ

ดูอย่าง “วีระ ตั้งวุทฒิไกรวิทย์” กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด แม่ละมาย ผู้ผลิตขนมหวานเพื่อสุขภาพตรา “แม่ละมาย” ที่เริ่มเข้าสู่ธุรกิจแบบไม่หวานเหมือนขนมเลยสักนิด

เขาคือหนึ่งในผู้บาดเจ็บจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี’40 หมดเนื้อหมดตัวจากธุรกิจโรงพิมพ์ ที่เคยทำเงินถึงปีละ 20-30 ล้านบาท ต้องมายืนปิ้งไก่ขายอยู่ข้างถนน แต่ก็อึดฮึดสู้ โดยมีคำชมจากลูกค้าเป็นกำลังใจ จนวันหนึ่งได้เห็นโอกาสในธุรกิจใหม่จากจุดเริ่มต้นที่ อยากทำของดี สะอาด ปลอดภัย ให้คนบริโภค เพราะคิดว่า ถ้าทำให้คนอื่นมีความสุขได้ เราก็คงสุขใจไปด้วย

“ตอนนั้นเลิกขายไก่เพราะไม่อยากฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เลยคิดหาอะไรทำที่มีประโยชน์ และเป็นสินค้าที่ตลาดต้องการ จนมาเจอวุ้นมะพร้าวบรรจุถ้วย ซึ่งส่วนใหญ่ที่วางขายกันอยู่จะใส่สารฟอกสีแทบทั้งนั้น เลยเกิดแนวคิดทำวุ้นมะพร้าวที่ไม่ใส่สารฟอกสี ที่ทั้งอร่อยและดีต่อสุขภาพผู้บริโภค”

และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทุกคนได้รู้จักกับ “แม่ละมาย” ธุรกิจที่เริ่มจากเงินลงทุนแค่ 4 หมื่นบาท แถมคนทำก็เคยล้มและเจ็บหนักมาแล้ว เขาเริ่มจากตีโจทย์ “ทำของดี” เป็นที่ต้องการของตลาด รับเทรนด์คนรักสุขภาพ และพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลายขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เพิ่มผลไม้ ใส่ธัญพืช ให้เกิดสีสันจากธรรมชาติ ที่สำคัญคือ “หาตลาด” เพื่อแจ้งเกิด

ที่มาของการนำสินค้าไปเสนอขายให้กับ “เซเว่น อีเลฟเว่น” หน้าร้านมหาชน ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ และยอมทุ่มทุนปรับปรุงตัวเอง ตั้งแต่เปลี่ยนการผลิตแบบครัวเรือน เป็นการผลิตที่ได้มาตรฐาน พัฒนาบรรจุภัณฑ์  และสร้างแบรนด์

“ตอนนั้นจริงๆ ก็ไม่ค่อยมีเงินหรอก แต่เล็งเห็นถึงความจำเป็น เพราะอย่างน้อยที่สุด ถ้าเราทำอะไรที่ได้มาตรฐาน สินค้าของเราก็จะมีคุณภาพ แล้วลูกค้าก็จะมีความมั่นใจในตัวสินค้ามากขึ้น นี่เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เรามองว่า เราจะเริ่มสร้างแบรนด์ โดยใช้เงินต่อเงิน ค่อยๆ ขยับตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆ”

จากการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง บนความเชื่อว่าต้องทำของที่ดีที่สุด รักษาชื่อเสียง รักษาคุณภาพ และเอาใจใส่กับผู้บริโภค ทำให้นับแต่ปี 2542 เป็นต้นมา เราเลยยังได้เห็นแบรนด์ “แม่ละมาย” วางขายอยู่ในเซเว่นฯ ทั่วประเทศ  มียอดขายในปีที่ผ่านอยู่ที่ 60 ล้านบาท แถมยังได้แตกไลน์สู่แบรนด์ใหม่ “ทานธัญ” ที่ยืดอายุได้นานขึ้น พร้อมส่งออกโดยเฉพาะ โดยวางแผนจะนำพาสินค้าไทย ไปบุก อาเซียน ญี่ปุ่น อเมริกา และตะวันออกกลาง เร็วๆ นี้

“ทำขนมหวานกับโรงพิมพ์ ผมว่าธุรกิจนี้มีความสุขมากกว่าเยอะ เวลาลูกค้าซื้อของเราไปแล้วกลับมาชื่นชม เราจะมีความสุขมาก ผมว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือ ธุรกิจที่เราทำสามารถสร้างรายได้และทำให้เรามีความสุขด้วย สุขทั้งตัวเรา ทีมงาน คนรอบข้าง เกษตรกร และผู้บริโภค ผมอยากเห็นแบรนด์ของเราเติบโตอย่างยั่งยืน และทำประโยชน์ให้กับสังคมด้วย”

เอสเอ็มอีที่อยากให้ธุรกิจของตัวเองอยู่ไปได้นานๆ ผู้ก่อตั้งแม่ละมายบอกหัวใจสำคัญว่า ต้องมีความเป็น “ผู้ประกอบการ” ในตัว ต้องพัฒนาตัวเองให้ทันกับโลกสมัยใหม่ เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การทำธุรกิจ จึงไม่เหมือนแบบเดิมอีกต่อไป ฉะนั้นนอกจากการทำในสิ่งที่ถนัด สนองความต้องการของผู้บริโภคแล้ว ยังต้องพัฒนาตัวเอง และคำนึงถึงผู้บริโภคให้มาก ก็จะเป็นคำตอบไปสู่ธุรกิจยั่งยืนได้

อีกหนึ่งเอสเอ็มอีที่เลือดนักสู้ไม่ต่างกัน ต้องยกให้ “ธานี ทรัพย์สมบูรณ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรัพย์ประเสริฐ (2558) จำกัด เจ้าของธุรกิจมะพร้าวน้ำหอมพร้อมทาน “โคโค่ เฟรส” (COCO FRESH) ที่ทำธุรกิจจากความคิดแค่อยากต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านการปลูกมะพร้าวของครอบครัว มาก่อเกิดอาชีพใหม่ จนได้มะพร้าวที่ทานง่าย และดีต่อสุขภาพ ซึ่งปัจจุบัน วางขายอยู่ทั้งเซเว่น อีเลฟเว่น และห้างสรรพสินค้าชั้นนำ วันละ 6-7 พันลูก มียอดขายในปีที่ผ่านมาที่ถึง 30 ล้านบาท

โจทย์ที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ เขาว่า ต้องทำสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค มีปริมาณวัตถุดิบ หรือผลผลิตที่เพียงพอกับความต้องการ ผู้ประกอบการต้องมีคุณธรรม อย่างน้อยก็ต้องมีศีล 5 เป็นที่ตั้ง ต้องคิดนวัตกรรมใหม่ๆ นำหน้าคู่แข่งอยู่เสมอ แม้แต่ทุกวันนี้ ของเสียในกระบวนการผลิต พวกเขายังสามารถ “สร้างมูลค่าเพิ่ม” ด้วยการคิดใหม่ทำใหม่ได้ ที่สำคัญต้อง “ไม่ยอมแพ้” เพราะคนทำธุรกิจ ล้วนล้มลุกคลุกคลานมาทั้งนั้น

“ผมเริ่มทำธุรกิจตอนอายุ 24 ปี ถึงวันนี้ผ่านมา 17 ปีแล้ว ก็ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด แต่ปัญหาทำให้ผมแน่นขึ้น หลายคนบอกว่า ทำไมเราถึงโตช้า ผมว่าช้าไม่ช้าไม่สำคัญ แต่ทุกก้าวต้องมั่นคง ถามว่าเรามีสิทธิล้มอีกไหม ล้มได้ เจ็บได้เสมอ เพียงแต่เราต้องเตรียมตัวว่าจะล้มอย่างไร จากนี้เราจะล้มเก่งขึ้น ล้มให้ปลอดภัย  และลุกให้เร็วขึ้น” เขาย้ำ

ทำธุรกิจไม่ใช่แค่ดำรงอยู่ได้ แต่ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์ ที่จะนำพาองค์กรไปสู่อนาคตด้วย เราเลยได้เห็นวิสชั่นของคนทำมะพร้าว ที่ประกาศกับทีมงานของเขาว่า ใน 5 ปี จากนี้  โคโค่ เฟรส จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ให้ได้

“คนก็บอกว่า ทำไมเป้าหมายใหญ่จัง แค่ 5 ปี จะทำได้เหรอ ผมบอก ได้ไม่ได้ไม่รู้ แต่ตอนนี้ผมให้ทีมงานของเราปรับกระบวนการทำงานใหม่ ให้พวกเขาแอคทีฟขึ้น แม้แต่เรื่องบัญชี ก็ต้องทำให้ถูกต้อง ให้พร้อมสำหรับการเป็นบริษัทมหาชน ผมว่า ถ้าเป้าหมายเราชัด วิธีทำจะตามมาเอง จากนั้นก็แค่ลงมือทำ ได้ไม่ได้ ถึงไม่ถึง อีกเรื่องหนึ่ง”

ที่อยากเข้าตลาดฯ เพราะเชื่อว่าสินค้าเกษตรและมะพร้าวมีอนาคต พร้อมเติบใหญ่อีกมากในตลาดโลก และเขาเองก็ไม่อยากทำธุรกิจไปวันต่อวัน แต่อยากแบ่งปันหุ้นให้มหาชน เพื่อสร้างการเติบโตที่เร็วขึ้น พร้อมเปลี่ยนองค์กรเป็นมืออาชีพ เพราะโลกทุกวันนี้แปรเปลี่ยนไปเร็วมาก ฉะนั้นถ้าไม่ปรับตัวเองให้แข็งแกร่ง โอกาสที่จะดับวูบลงก็จะเร็วมากเช่นกัน

ถามถึงนิยามความสำเร็จ เขาว่า ไม่จำเป็นต้องค้ากำไรมากมาย แต่ขอให้ธุรกิจเดินไปอย่างมั่นคง พนักงานมีงานทำ เกษตรกรมีวัตถุดิบส่งให้ต่อเนื่อง ผู้จัดจำหน่ายมีของที่จะขาย และผู้บริโภคแฮปปี้ เท่านี้ก็ถือว่า “ประสบความสำเร็จ” แล้ว

นี่คือตัวอย่างผู้ประกอบการ ที่พิชิตรางวัลจากเวที “เซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอีไทยยั่งยืน 2559” มาสดๆ ร้อนๆ คนหนึ่งเป็นเจ้าของรางวัล SME ยอดเยี่ยม(แม่ละมาย) อีกคนครองตำแหน่ง SME ความคิดสร้างสรรค์ (โคโค่ เฟรส)

และต่างพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า วิสัยทัศน์ในเกมเคลื่อนธุรกิจของพวกเขา ได้เดินมาถูกทางแล้ว

…………………………………………………

Key to success

สูตรธุรกิจยั่งยืนฉบับ "เอสเอ็มอี"

๐ คิดถึงประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ

๐ มีสินค้าเป็นที่ต้องการของตลาด

๐ พัฒนาไม่หยุดนิ่ง มีกลยุทธ์เติบโตอยู่เสมอ

๐ ล้มได้ แต่เรียนรู้ และลุกให้เร็ว 

๐ ไม่คิดถึงแต่ตัวเอง แต่คิดถึงคนรอบข้างด้วย