'พาทิศ ศุภะพงษ์' สื่อสารและความคาดหวัง

'พาทิศ ศุภะพงษ์' สื่อสารและความคาดหวัง

“ปีเตอร์ เอฟ. ดรักเกอร์” (Peter F. Drucker) ปรมาจารย์ด้านการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจ กล่าวไว้ว่า

หาก “องค์กรใดมีการสื่อสารภายในองค์กรที่ดี มีโอกาสที่จะถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้สูง และหากมีการสื่อสารภายนอกที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม”

สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ เองก็เช่นเดียวกัน ในยุคที่การสื่อสารไร้พรมแดน ก็ต้องการผู้ที่เป็น “กระบอกเสียง” เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่ต้องการสื่อออกไปนั้นถูกต้อง

ดังนั้นช่วงตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ในข่าวฟุตบอลไทยเราจึงได้เห็นชื่อของ “พาทิศ ศุภะพงษ์” อยู่บ่อยครั้ง นั่นก็เพราะได้รับความไว้วางใจให้มารับหน้าที่สำคัญนี้

 

จากยูเอ็นสู่วงการฟุตบอล

        “พาทิศ”  ก็เหมือนกับแฟนฟุตบอลไทยหลายคนที่คลั่งไคล้บอลไทยมาตั้งแต่เด็ก แม้จะศึกษาที่สหรัฐฯ แต่ก็มักเป็นแกนนำจัดกิจกรรมแข่งขันกีฬาฟุตบอลในมหาวิทยาลัยอยู่เสมอ จนกระทั่งกลับมาทำงานที่เมืองไทย แม้ว่าจะทำงานกับองค์กรสากลอย่าง “สหประชาชาติ” แต่ก็เจียดเวลาหลังเลิกงานไปดูฟุตบอลในสนามบ่อยครั้ง จนกระทั่งจุดเปลี่ยนสำคัญก็มาเกิดขึ้น เมื่อได้ไปชมเกม “เอเอฟซี แชมเปียนส์ ลีก” ปี 2008 ที่สนามศุภชลาศัย สกอร์วันนั้นจบที่ “ชลบุรี เอฟซี” เอาชนะ “เมลเบิร์น วิคตอรี” จาก ออสเตรเลียไป 3-1 แต่นอกจากผลการแข่งขันแล้ว สิ่งที่ทำให้ประทับใจจากเกมดังกล่าว คือการทำงานระดับมืออาชีพของ “สหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอชีย” (เอเอฟซี)

“เกมวันนั้นมีคนใส่สูทเดินไปมาเต็มไปหมด การจัดการทุกอย่างดูเป็นมืออาชีพกว่าวงการฟุตบอลบ้านเรามาก จุดประกายให้กับผมอยากทำงานเกี่ยวกับฟุตบอลและต้องเป็นองค์กรระดับนานาชาติเหมือนยูเอ็น”

หลังจากค่ำคืนที่สนามศุภฯจบลง “พาทิศ” ก็ส่งโปรไฟล์ไปให้กับเอเอฟซีพิจารณา หนึ่งสัปดาห์ต่อมามีโทรศัพท์เรียกไปสัมภาษณ์ที่มาเลเซีย ทุกอย่างเป็นด้วยดี ก่อนที่จะตอบตกลงร่วมงานกับองค์กรฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย วินาทีนั้นเองกลายเป็นจุดเริ่มของเขากับอาชีพด้านฟุตบอลจนปัจจุบันนี้

 

คนไทยคนแรกในเอเอฟซี

สิ่งที่สร้างความภูมิใจให้กับ “พาทิศ” นอกจากการได้ร่วมงานกับองค์กรฟุตบอลระดับโลกแล้ว ยังเป็นคนไทย “คนแรก” ที่ทำงานกับเอเอฟซี นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1954 ก่อนที่อีก 9 ปีต่อมา “ลอเรนโซ ฟอฟิ” จะกลายเป็นคนที่สองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2017 ที่ผ่านมานี้เอง

งานของพาทิศ ในเอเอฟซีเกี่ยวกับการสื่อสารองค์กร แต่ด้วยความบังเอิญที่ได้เริ่มงานวันแรกพร้อมกันกับ “เบนจามิน ตัน” ซึ่งปัจจุบันเป็น ผอ.คลับ ไลเซนซิง ของสมาคมฯ ทำให้มีความสนิทสนมกัน และการที่เบนจามิน ดูแลรับผิดชอบเฝ่ายจัดการแข่งขัน ก็ทำให้พาทิศได้เรียนรู้เรื่องดังกล่าวไ ปด้วย

“ผมคิดว่าข้อดีของผมคือไม่คิดจะอยู่ที่นี่นาน เลยขอทำทุกอย่างที่ทำได้ อย่างเช่นโปรแกรมอบรมผู้ฝึกสอนหรือการจัดการแมตช์แข่งขันผมก็เข้าไปช่วย แม้กระทั่งยกถังน้ำแข็ง เพราะเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้เรียนรู้สิ่งที่เรารักทุกอย่าง”

การทำงานที่เอเอฟซี ทำให้เห็นมุมมองจากหลากหลายชาติ ซึ่งฟุตบอลไทยสามารถนำโมเดลต่างๆมาประยุกต์ใช้ได้ อย่างเช่น “จีน” อาจจะมีการดำเนินการช้า แต่พอทำอะไรจริงจังจะทำได้เร็วเพราะภาครัฐเข้ามามีบทบาท  ส่วน “ญี่ปุ่น” เป็นมืออาชีพทุกอย่างมีพนักงาน 700 คน ใช้ระบบไอทีทำงานทุกอย่างเป็นระบบ ขณะที่ “กาตาร์”จะจ้างคนจากทั่วโลกมาทำงาน เป็นต้น

 

สั่งสมประสบการณ์เต็มเปี่ยม

หลังจากทำงานที่เอเอฟซี 3 ปี “พาทิศ” ได้รับโปรโมทไปดูเรื่องการตลาด แต่ต้องแลกกับการอยู่ต่างประเทศนานขึ้น ซึ่งเป็นโชคดีของพาทิศ เพราะงานในเอเอฟซีที่ผ่านมา ทำให้ได้ติดต่อกับสโมสรฟุตบอลไทยที่ลงเล่นในรายการระดับเอเชีย และเป็น “ชลบุรี เอฟซี” ทีมที่จุดประกายให้เขาได้มาสู่วงการฟุตบอล ชักชวนเข้ามาร่วมงานด้วยกัน

“พาทิศ” รับข้อเสนอของทีม “ฉลามชล” ในปี 2011 เพราะจะได้กลับมาเมืองไทยอีกครั้ง และงานที่ชลบุรีทำให้เขาได้คลุกคลีกกับฟุตบอลไทยในทุกแง่มุม

จนเข้าสู่ช่วงปลายปี 2013 เมื่อมีเพื่อนจากเอเอฟซี ชักชวนให้กลับไปร่วมงานด้วยอีกครั้ง แน่นอนว่าเขาไม่อยากไปทำงานต่างประเทศนานๆ แต่ข้อเสนอนั้นคือเข้าไปอยูกับหน่วยงานตรวจจับทุจริตกีฬา ของ“สปอร์ตเรดาร์”สาขาฮ่องกง ซึ่งเป็นพันธมิตรกับเอเอฟซี และทำงานหลักๆอยู่ในประเทศไทย ทำให้ไม่อาจปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวได้

“ที่สปอร์ตเรดาร์ ผมได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องจริยธรรม ทำการอบรมให้ความรู้ ด้านพนันฟุตบอล ภัยอันตรายและรูปแบบของการล็อกผล บุคคลที่มีความเสี่ยง  ทำให้มุมมองฟุตบอลผมกว้างขึ้นไปอีกระดับ”

 

โฆษกสมาคมฯ กับการบริหารความคาดหวัง

สองปีกับงานที่สปอร์ตเรดาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันสมาคมฟุตบอลเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อได้ทีมบริหารชุดใหม่ในปี 2016 ทำให้พาทิศ ได้กลับหวนคืนสู่ฟุตบอลไทยอีกครั้งและคราวนี้เขาจะได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาฟุตบอลไทยอย่างเต็มตัว

นอกจากบทบาทด้านต่างประเทศแล้ว ยังรับหน้าที่เป็นโฆษกสมาคมฯ ซึ่งพาทิศ เล่าให้ฟังว่างานนี้ คือ “การบริหารความคาดหวัง” เพราะฟุตบลไทยช่วงสองปีที่ผ่านมาคนให้ความสนใจมากขึ้นทั้งในระดับสโมสรและทีมชาติ ความคาดหวังจึงมากขึ้นตามไปด้วย

บริษัททั่วไปอาจจะมีฝ่าย “พีอาร์” สำหรับทำหน้าที่นี้เป็นหลัก แต่วงการฟุตบอลซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวพันกับมวลชนไม่ต่างกับภาครัฐ จึงจำเป็นต้องใช้คนที่รู้เรื่องในสมาคมฯและไว้ใจได้ เป็นคนสื่อสารออกไปเพียงคนเดียว

ดังนั้นความท้าทายของงานโฆษก ก็คือจะสื่อสารอย่างไรให้เป็นทิศทางเดียวกันว่าสมาคมฯ วางเป้าหมายอย่างไร กำลังทำอะไร และจะทำอย่างไร

“เป็นงานที่ต้องระมัดระวัง แต่ก็ต้องทำให้สิ่งที่พูดไปน่าสนใจด้วย ผมอาจจะไม่ใช่นักพูดมืออาชีพ แต่ถ้าเป็นเรื่องฟุตบอลผมมั่นใจว่าจะตอบได้หมด และก็พยายามให้ทุกฝ่ายพอใจกับสิ่งที่เราสื่อสารออกไป”

เส้นทางในยุทธจักรลูกหนังของ “พาทิศ” แม้ว่าจะไม่ใช่นักฟุตบอลในสนาม แต่ก็ต้องอาศัยทักษะความเชี่ยวชาญพื้นฐานไม่ต่างกัน อีกทั้งต้องผสานความรู้ วิเคราะห์ปัญหาต่างๆเพื่อนำมา “ปฏิบัติ”

หากใช้แนวคิดของ “ดรักเกอร์” มาเปรียบเทียบ “พาทิศ” จึงเป็นภาพสะท้อนของ “การเรียนรู้เพื่อการปฏิบัติ” ได้เป็นอย่างดี