หุ้นรัฐวิสาหกิจพุ่ง แนะลงทุน ‘แบงก์’ ดักรัฐลงทุน

หุ้นรัฐวิสาหกิจพุ่ง แนะลงทุน ‘แบงก์’ ดักรัฐลงทุน

"หุ้นรัฐวิสาหกิจพุ่ง" นักวิเคราะห์แนะลงทุนแบงก์รัฐดักอานิสงส์การลงทุนของรัฐบาล

หนึ่งในปัจจัยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศนั้น คือการลงทุนของภาครัฐบาล ที่จะช่วยสร้างความคึกคักให้กับประเทศ ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่รัฐบาลประกาศผลักดันคือ การใช้อัดฉีดเม็ดเงินผ่านการลงทุนในรัฐวิสาหกิจ ให้มีการลงทุนเร็วมากขึ้น จึงเกิดความคาดหวังว่าหุ้นรัฐวิสาหกิจน่าจะมีการเติบโตได้ในระยะเวลาอันสั้น

จากการติดตามความเคลื่อนไหวของหุ้นกลุ่มดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา พบว่า หลายบริษัทมีความเคลื่อนไหวของราคาที่ดี โดยหุ้นของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT ปรับตัวจากต้นปีที่ 399.00 บาทต่อหุ้น ขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 422 บาทต่อหุ้น ก่อนที่จะมีการปรับพาร์ 10 บาท ให้ลดลง 1 บาท ต่อหุ้น เหลือ 40.25 บาทต่อหุ้น ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) TMB ปิดการซื้อขายที่ 2.48 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 18.10 % บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) MFEC ปิดที่ 19.50 บาทต่อหุ้น ปรับเพิ่มขึ้นจากต้นปีที่ 10.17 % บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) PTT ปิดการซื้อขายที่ 394.00 บาทต่อหุ้น หรือเพิ่มขึ้น 5.91 % มีเพียง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) THAI ปิดการซื้อขายที่ 22.00 บาทต่อหุ้น ปรับตัวลดลง 3.08 %

เอกภาวิน สุนทราภิชาติ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล. ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาหุ้นในกลุ่มรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดี โดยจะมาจากปัจจัยเฉพาะตัวที่หนุนการเติบโต นำโดย เอโอที และ ปตท. ที่ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

“หุ้นในกลุ่มรัฐวิสาหกิจ หลายหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ค่อนข้างดี จากปัจจัยเฉพาะตัวเป็นหลัก อย่างในบริษัทการท่าอากาศยานไทย ที่มีการวางแผนด้านการลงทุนขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ที่จะช่วยให้การรองรับผู้โดยสารในอนาคตเพิ่มขึ้น”

นอกจากนี้ผลกระทบจากการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญก็เริ่มลดลง ทำให้จำนวนของนักท่องเที่ยวฟื้นตัวอีกครั้ง รวมถึงได้รับประโยชน์จากการปรับค่าธรรมเนียมสนามบิน รวมถึงการปรับลดพาร์ ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมา ซึ่งสร้างความสนใจให้กับนักลงทุนในระยะถัดไปได้

ส่วนบริษัทปตท. ก็ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่เป็นขาขึ้น ซึ่งเรายังมองว่า ราคาน้ำมันจะเป็นขาขึ้นต่อไป และมีโอกาสที่จะทดสอบ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากเป็นจริงตามที่คาดก็จะส่งผลดีต่อราคาหุ้นปตท.เพิ่มขึ้นไปอีก 

อย่างไรก็ตาม บริษัทรัฐวิสาหกิจที่น่ากังวลในเรื่องของผลประกอบการก็มีเช่นเดียวกัน 

อาทิ บริษัท การบินไทย ที่การแข่งขันของกลุ่มสายการบินยังอยู่ในระดับสูง ราคาค่าเชื้อเพลิงยังปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และในขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนผู้บริหารสูงสุด และอยู่หว่างการฟื้นฟูธุรกิจก็เป็นความเสี่ยง ขณะที่ ธนาคารกรุงไทยนั้น มองว่า ที่ผ่านมาภาครัฐบาลมีการกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ ทำให้เกิดปัญหานี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นบ้าง ต้องรอดูทิศทางหลังจากนี้ว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นหรือไม่

แนวโน้มของหุ้นในกลุ่มรัฐวิสาหกิจนั้น ในหลายบริษัทยังเติบโตได้ดี ในส่วนประเด็นที่ภาครัฐบาล ต้องการจะกระตุ้นการใช้เม็ดเงินลงทุนต่างๆ ผ่านรัฐวิสาหกิจ จากเม็ดเงินที่จะต้องลงทุนอยู่แล้ว ให้ลงทุนเร็วกว่าแผน ส่วนตัวยังไม่เห็นการขับเคลื่อนในด้านดังกล่าว จึงต้องดูความชัดเจนอีกครั้งว่าจะมีการกระตุ้นในด้านใดหรือไม่ ทั้งนี้แต่ละบริษัทก็มีแผนการลงทุนของตัวเองอยู่แล้ว จึงมองว่าไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวล

เผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการเงินทุนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หุ้นในกลุ่มรัฐวิสาหกิจในช่วงที่ผ่านมาหลายหลักทรัพย์ปรับตัวได้ดี จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมและความได้เปรียบในการแข่งขัน

ซึ่งในการลงทุนในหุ้นกลุ่มรัฐวิสาหกิจนั้นต้องพิจารณาใน 4 ส่วน 1 ทิศทางของตลาดหุ้นไทย ภาพรวมนั้นเป็นอย่างไร 2 อุตสาหกรรมที่บริษัทนั้นอยู่มีการแข่งขันรุนแรงหรือไม่ 3 ความสามารถการแข่งขันเป็นอย่างไร และ 4 ราคาที่เหมาะสมอยู่ในจุดใด ทั้งนี้การที่ภาครัฐบาลจะมีการกระตุ้นการลงทุนต่างๆผ่านการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ที่ผ่านมายังไม่มีความชัดเจนมากนัก แต่หากมีแผนที่เริ่มชัดเจนมากขึ้นก็จะส่งผลดีกับหุ้นที่อยู่ในกลุ่มบริษัทนั้นๆ

ในด้านการลงทุนในหุ้นดังกล่าวกลุ่มที่โดดเด่นที่สุดนั้น มองว่าจะเป็นกลุ่มธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารกรุงไทย ซึ่งที่ผ่านภาครัฐใช้การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการปล่อยกู้ให้กับภาคส่วนต่างๆมากขึ้น ซึ่งระดับราคาหุ้นของบริษัทยังถูก และน่าสนใจลงทุน ส่วนหุ้นที่ต้องระมัดระวัง คือหุ้นสายการบิน หรือการบินไทย ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างบริษัท และเปลี่ยนผู้บริหาร รวมถึงมีการแข่งขันที่รุนแรง

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ดีบีเอส วิคเตอร์ส (ประเทศไทย)  มองว่า การบินไทย ยังอยู่ในแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ เน้นการเพิ่มปริมาณการโดยสาร เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายกำไรโดยเฉพาะในช่วงที่ไม่ได้เป็น พีคของธุรกิจซึ่งก็คือ ยกเว้นไตรมาส 1 ก็จะเป็นตัววัดที่ดี ทั้งนี้ต้องติดตามว่าผลของการปรับโครงสร้างธุรกิจปี 60 จะสำเร็จหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในด้านผลกระทบจากการปรับภาษีสนามบินนั้น เชื่อว่าจะกระทบน้อยจากเรื่องการปรับขึ้นภาษีน้ำมันเครื่องบินจากกรมสรรพสามิตสำหรับเฉพาะการบินในประเทศ เพราะหากรวมไทยสไมล์แล้ว มีสัดส่วนบินในประเทศที่เป็นเพียง 5% จากทั้งหมด แต่การถือหุ้น นกแอร์ ที่เน้นบริการสายการบินต้นทุนต่ำในประเทศในสัดส่วน 39.2% จึงกลับมาได้รับผลกระทบด้านลบ เพราะสัดส่วนการให้บริการของนกแอร์ เป็นการบินในประเทศที่ 80% จากทั้งหมดทั้งนี้ปัจจัยที่ต้องติดตามมี 2 ส่วน คือ ความคืบหน้าของแผนการให้บริการเครื่องบินจำนวน 26 ลำ ที่ยังไม่เปิดเผย และ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน ที่สูงเป็น 4.7 เท่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องการตั้งด้อยค่าตามอายุเครื่องบิน โดยงวด 9 เดือนแรกของปี 2559 ขาดทุนจากรายการนี้สูงเป็น 2.29 พันล้านบาท