ยึดทรัพย์ 'บุญทรง-ภูมิ' 4พันล้าน ไม่ได้เสี้ยวเสียหายจีทูจี?

ยึดทรัพย์ 'บุญทรง-ภูมิ' 4พันล้าน ไม่ได้เสี้ยวเสียหายจีทูจี?

จับประเด็นร้อน! ยึดทรัพย์ "บุญทรง-ภูมิ" กว่า4พันล้าน ไม่ได้เสี้ยวความเสียหายของ "จีทูจี" จับตา "ยิ่งลักษณ์" 3.5หมื่นล้าน คิวต่อไป?

เริ่มชัดเจนมากขึ้น กรณีคำสั่งของกระทรวงพาณิชย์ ลงวันที่ 19 ก.ย. 2559 เรื่องให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาทนั้น

โดยให้บังคับคดีกับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์, นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์, พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์, นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ, นายอัฐฐิติพงศ์ หรืออัครพงศ์ ทีปวัชระ อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ และนายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีต ผอ.สำนักบริหารการค้าข้าว กรมการค้าต่างประเทศ และอดีตผู้ช่วยเลขานุการ ในคณะทำงานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว

ล่าสุด ศาลปกครองกลาง มีคำสั่ง "ยกคำร้อง" หลังนายบุญทรงและนายภูมิขอทุเลาการบังคับคดีตามคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ จึงเป็นหน้าที่กรมบังคับคดีต้องดำเนินการทางปกครองต่อไป

เพียงแต่รอกรมการค้าต่างประเทศสืบหาทรัพย์สินทั้งหมด ก่อนตั้งเรื่องให้กรมบังคับคดีดำเนินการยึด อายัดทรัพย์สินส่วนต่างๆนำมาขายทอดตลาด

"บุญทรง-ภูมิ" มีจ่าย?

แต่เมื่อพลิกดูบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ 2 อดีตรัฐมนตรี คือนายบุญทรงและนายภูมิ ที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. มีดังนี้ นายบุญทรงและคู่สมรส ยื่นบัญชีทรัพย์สินครั้งล่าสุด หลังพ้นตำแหน่งครบ 1 ปี เมื่อ 29 มิ.ย.57 มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 16,626,357 บาท และหากนับเฉพาะทรัพย์สินของนายบุญทรง พบว่า มีเงินสด 400,000 บาท เงินฝาก 138,479 บาท รถยนต์นั่งส่วนบุคคล 1,840,000 บาท นาฬิกายี่ห้อ Patek 1 เรือน มูลค่า 450,000 บาท และนาฬิกา Rolex 1 เรือน มูลค่า 300,000 บาท รวมมูลค่าทรัพย์สินของนายบุญทรงทั้งสิ้น 3,128,479 บาท

ในส่วนของนายภูมิและคู่สมรส ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ครั้งล่าสุดหลังพ้นตำแหน่งครบ1ปี เมื่อ 26 ต.ค.56 มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 41,486,116 บาท เมื่อนับเฉพาะทรัพย์สินนายภูมิ พบว่า มีเงินสด 800,000 บาท เงินฝาก 4,221,425 บาท เงินลงทุน 1,000,000 บาท ที่ดิน 14,050,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 5,600,000 บาท รถยนต์นั่งส่วนบุคคล 5 คัน มูลค่า 2,180,000 บาท ,อาวุธปืน 13 กระบอก มูลค่า 440,000 บาท และนาฬิกาข้อมืออีก 4 เรือน มูลค่า 1,200,000 บาท รวมมูลค่าทรัพย์สินของนายภูมิทั้งสิ้น29,491,425 บาท

ทว่า ตัวเลขความเสียหายมูลค่า 2 หมื่นล้านบาทนั้น นายบุญทรง ต้องรับผิดชอบ 1,770 ล้านบาท นายภูมิ 2,300 ล้านบาท และอีก 4 คนที่เหลือ คนละ 4,000 ล้านบาท แต่ละคนจะมีปัญญาชดใช้ได้แค่ไหนอย่างไร โดยเฉพาะนายบุญทรงและนายภูมิ ที่ตัวเลขในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. เรียกได้ว่า ยังไม่ได้เสี้ยวหนึ่งของความเสียหายที่ต้องรับผิดชอบ จึงสร้างความสงสัยว่า จะทำอย่างไรถึงตามเช็คบิลได้ครบถ้วนตามมูลค่าที่ระบุ?

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้อธิบายเรื่องนี้ว่า ความกังวลว่าทรัพย์สินของนายบุญทรงและนายภูมิ ที่เคยยื่นไว้กับ ป.ป.ช. ว่าจะไม่เพียงพอกับความเสียหายที่ต้องชดใช้นั้น ถือเป็นคนละเรื่อง บัญชีทรัพย์สินที่ยื่นกับ ป.ป.ช.นั้น เรื่องหนึ่ง ส่วนเรื่องดำเนินการยึดทรัพย์โดยกรมบังคับตดีก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากเกิดกรณีที่กรมบังคับคดีพบว่าทรัพย์สินของผู้เกี่ยวข้องมีไม่เพียงพอกับมูลค่าความเสียหายที่ต้องรับผิดชอบนั้น เรื่องดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการหรืออายุความ10ปี หมายความว่าภายในอายุความ กรมบังคับคดีค่อยๆ ยึดทรัพย์ไปเรื่อยๆ มีหรือพบเมื่อไหร่ก็ไปตามยึด ไม่มีก็หยุด และสืบหาต่อไป ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น

ถึงขั้นต้องฟ้องล้มละลาย?

ทั้งนี้ รองนายกฯวิษณุ ยังไขข้อสงสัยที่ว่า หากคดีพ้นอายุความ10ปีไปแล้ว แต่ทรัพย์สินที่ยึดได้ยังไม่เพียงพอกับความเสียหายที่ต้องรับผิดชอบ จะต้องฟ้องล้มละลายหรือไม่ว่า “ล้มละลายอาจจะเป็นอีกเรื่อง เรายังไม่พูดกันในเรื่องนั้น”

“ความเสียหายที่แต่ละคน ต้องรับผิดชอบนั้น มีสัดส่วนของใครของมันชัดเจนตามอำนาจหน้าที่ ไม่ได้เป็นการเฉลี่ยกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้แล้ว ส่วนของนายบุญทรง เองก็ไม่ได้ต้องรับผิดชอบเป็นหมื่นล้านอย่างที่มีการพูดกัน และรัฐบาลก็ไม่ต้องเข้าไปดูอะไรในเรื่องนี้ ให้กรมบังคับคดีซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบไป เพราะเรื่องยึดทรัพย์เขาเป็นมืออาชีพ”

นายวิษณุ ระบุ ทั้งยังชี้ให้เห็นช่องทางการใช้สิทธิและโอกาสในการขอทุเลาคำสั่งการบังคับตามคำสั่งเรียกค่าเสียหายว่า นายบุญทรงและนายภูมิเคยขอไปแล้ว ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้องไป แต่ก็ยังมีโอกาสยื่นใหม่อีกครั้ง

สำหรับรายละเอียดในกระบวนการบังคับคดี เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา 57 ซึ่งอนุญาตให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 มาใช้โดยอนุโลม

ทั้งนี้ มาตรา 271 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บัญญัติว่า ถ้าคู่ความหรือบุคคล ซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ( เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น

ดังนั้น กระบวนการบังคับคดีนายบุญทรงกับพวกรวม 6 คน ก็จะเริ่มจากโจทก์ ซึ่งได้แก่ กรมการค้าต่างประเทศ ยื่นตั้งเรื่องยึดอายัดทรัพย์ พร้อมวางค่าใช้จ่ายและส่งเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะยึด ซึ่งขั้นตอนนี้ทางฝ่ายโจทก์ต้องเป็นผู้ไปดำเนินการสืบทรัพย์ หาข้อมูลว่านายบุญทรงกับพวกทั้ง 6 รายมีทรัพย์สินรายการใดบ้าง และต้องมีการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หากเป็นโฉนดที่ดินต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานที่ดิน เป็นต้น มาประกอบการพิจารณา

จากนั้น เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีจะพิจารณาคำขอยึดทรัพย์ แล้วจะรายงานต่อศาลเพื่อขออนุญาตขายทรัพย์ ซึ่งจะเข้าไปสู่ขั้นตอนการขายทอดตลาด แต่หากรายการทรัพย์สินของนายบุญทรงกับพวกทั้ง 6 รายไม่เพียงพอต่อมูลค่าหนี้ที่ต้องชำระ ทางกรมบังคับคดีก็จะรายงานต่อศาลว่ามูลค่าทรัพย์ไม่เพียงพอกับมูลค่าหนี้ เพื่อให้โจทก์พิจารณาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ทั้งนี้ การบังคับคดีต้องดำเนินการภายในอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ชดใช้เงิน

ส่วนคนที่ต้องหนาว! รายต่อไปก็คือ อดีตนายกฯ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ที่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา โดยฟ้องร้อง นายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 4 คน กรณีขอให้เพิกถอนคำสั่ง ที่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าเสียหาย จากเหตุขณะดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ราชการตามอำนาจหน้าที่ จนทำให้กระทรวงการคลังได้รับความเสียหาย

โดยศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว และทำการไต่สวนเพื่อนำข้อมูลไปพิจารณาว่าจะกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา คือระงับคำสั่งที่่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าเสียหายมูลค่า 35,717 ล้านบาท ไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาตามที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นขอหรือไม่ เนื่องจากรูปคดีคล้ายกับคดีของนายบุญทรงกับพวก

แม้ว่าทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะบอกว่า การไต่สวนของแต่ละคดีอาจมีข้อเท็จจริงที่นำเสนอแตกต่างกัน ผลคำสั่งจึงอาจจะยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นผลเช่นเดียวกับคดีนายบุญทรงกับพวกก็ตาม!!