สูตรมั่งคั่ง “เศรษฐีอายุน้อย” “เถ้าแก่น้อย” & “อาฟเตอร์ยู

สูตรมั่งคั่ง “เศรษฐีอายุน้อย” “เถ้าแก่น้อย” & “อาฟเตอร์ยู

แม้ชั่วโมงบินไม่สูงเท่า “นักธุรกิจรุ่นลายคราม” แต่หาใช่อุปสรรคขึ้นแท่นเศรษฐีหน้าใหม่สำหรับผู้ก่อตั้ง “เถ้าแก่น้อยฯ”และ “อาฟเตอร์ยู”

“อายุน้อยไม่ใช่อุปสรรคในการเนรมิตอาณาจักรให้ใหญ่เทียบเท่ารุ่นพี่”

เอ่ยเช่นนี้คงไม่ผิด หลังสองเพื่อนซี้ต่างวัย “ต๊อบ-อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์” ผู้ก่อตั้ง บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง หรือ TKN และ “เมย์- กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ” เจ้าของ บมจ.อาฟเตอร์ยู หรือ AU พิสูจน์ให้นักธุรกิจรุ่นลายครามเห็นแล้วว่า

“กล้าคิดต่างความสำเร็จจะเกิด”

นอกจากสององค์กรนี้จะประสบความสำเร็จ จากการนำพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ความโดดเด่นยังมาในรูปของ “มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด” หรือ Market Cap โดยเฉพาะมาร์เก็ตแคปของ บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง 

ที่ตัวเลขขยับขึ้น จากระดับ 11,799 ล้านบาท ในช่วงปลายปี 2558 เป็น 38,640 ล้านบาท ในปี 2559 ปัจจุบันยังวิ่งอยู่ระดับ 36,225 ล้านบาท หลังราคาหุ้นปรับตัวขึ้น จากราคาไอพีโอ 4 บาท มาสร้าง “จุดสูงสุด” 29.50 บาท (ตัวเลข 30 ต.ค.2559)

หลังปิดสมุดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 ส.ค.2559 พบนักลงทุนชื่อดังหลากหลายรายถือหุ้น TKN เช่น ประชา ดำรงค์สุทธิพงศ์ ,นพ.พงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี และ พิชญ์สินี เสรีวิวัฒนา ลูกสาวดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา นักลงทุนวีไอชื่อดังที่ถือหุ้น TKN มาตั้งแต่ราคา 4 บาท

ทว่า ความสวยของ TKN ยังเข้าตากองทุนต่างชาติ สะท้อนผ่านการควักเงินซื้อหุ้นสามัญผ่านกระดานรายใหญ่ (Big Lot) 35 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.54% ของทุนจดทะเบียน บนราคาสูงสุด เมื่อเดือนพ.ย.2559 จาก “กลุ่มพีระเดชาพันธ์” แม้เจ้าของตัวจริงจะยืนกรานต้องการขายหุ้นในปี 2560 ก็ตาม

ส่วนตัวเลขมาร์เก็ตแคป บมจ.อาฟเตอร์ยู แม้จะไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก ปัจจุบันอยู่ระดับ 8,845 ล้านบาท หลังเพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2559 แต่ในแง่เสียงตอบรับที่สะท้อนผ่านราคาหุ้น ถือว่าทำได้ดี หลังราคาขยับขึ้นเฉลี่ย 171.11% จากราคาไอพีโอ 4.50 บาท เหตุผลสำคัญคงหนีไม่พ้นความแข็งแกร่งของแบรนด์ เพราะถือเป็นร้านขนมหวานที่ไม่ต้องจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม ก็มีผู้บริโภคพร้อมต่อคิวเข้าใช้บริการ

“ต๊อบ-อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง หรือ TKN เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า ที่ผ่านมา ตลาดขนมขบเคี้ยวมักเติบโตบน “ตัวเลขสองหลัก” แต่ 2-3 ปีให้หลังมานี้ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้การเติบโตดีที่สุดเพียง “ตัวเลขหลักเดียว” สะท้อนผ่านการเติบโตของตลาดในปี 2559 ที่ทำได้เพียง 3%

อย่างไรก็ตาม แม้ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศจะไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ แต่ในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ที่ผ่านมาบริษัทสามารถสร้างผลงานได้ดี สะท้อนผ่านยอดขายในประเทศที่ขยายตัว 16% ถือว่าทำได้ดีกว่าภาพรวมตลาดขนมขบเคี้ยวและสาหร่ายที่ขยายตัวฝั่งละ 3% ขณะที่ทั้งปี 2559 ผลประกอบการน่าจะออกมาเกินเป้า

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ฐานะการเงินของเถ้าแก่น้อย สวนทางกับกำลังซื้อในภาพรวมที่หดตัว คือ การมี “ทัศนคติเชิงบวก” ทำให้กล้าที่ลุยทำตลาด โดยเฉพาะการออกไปหาแหล่งเติบโตใหม่ใน “ตลาดต่างประเทศ” ซึ่งถือเป็นแหล่งทำเงินชั้นดีของเถ้าแก่น้อยในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม และจีน เป็นต้น ทำให้ทุกวันนี้ยอดขายต่างประเทศแซงหน้าในประเทศเรียบร้อยแล้ว

“ในขณะที่เพื่อนชะลอลงทุน เราควรรีบบุก เพราะถ้ารอตลาดกลับมาโต ทุกคนก็จะโตเหมือนกันหมด ฉะนั้นต้องรีบหาส่วนต่างจากสถานการณ์ซบเซา นี่คือวิธีคิดของ“เถ้าแก่น้อย”

เมื่อถามถึงเป้าหมายสำคัญขององค์กรแห่งนี้ “หนุ่มต๊อบ” ตอบว่า วันนี้จำหน่ายสินค้าไปใน 42 ประเทศทั่วโลก เน้นตลาดเอเชียเป็นหลัก แต่ถ้าอนาคตต้องการเห็น 100 ประเทศทั่วโลก คงต้อง“เร่งมือสร้างเครือข่าย” สร้างพันธมิตร และบุคลากรให้มีความแข็งแกร่งมากกว่านี้

การขายสินค้าเข้าไปใน 100 กว่าประเทศทั่วโลกจะช่วยผลักดันสินค้าของเถ้าแก่น้อยขึ้นสู่ระดับ “Global Brand” ขณะเดียวกันยังสร้างองค์กรแห่งนี้ให้เป็น “Global Company”  เพราะการมีเครือข่ายอยู่ในทุกมุมโลกจะทำให้เราสามารถออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง

“หากเถ้าแก่น้อยสร้างตัวเองได้เหมือน “เนสท์เล่” จะทำให้การขายสินค้าไปทั่วโลกได้ง่ายขึ้น เพราะออกผลิตภัณฑ์อะไรมาก็ขายได้ ดูอย่างคิทแคทที่สามารถขายได้เกือบทุกที่ของโลก”

เถ้าแก่“ต๊อบ” ยังบอกว่า ส่วนตัวมีความเชื่อเรื่องหนึ่งว่า หากสามารถเจาะตลาดสหรัฐอเมริกาได้สินค้าจะฮิตไปทั่วโลก เมื่อเป็นเช่นนั้น จากนี้เถ้าแก่น้อยจะ “รุกตลาดสหรัฐมากขึ้น” จากเดิมที่มีสัดส่วนยอดขายเพียง 2% เพราะจากการชิมลางในช่วง 4-5 ปีก่อน พบว่า กระแสการบริโภคสาหร่ายแทนขนมอบกรอบปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สะท้อนผ่านยอดขายของเถ้าแก่น้อยที่ทำได้ดีถึง 40%

สำหรับเป้าหมายการขายในตลาดสหรัฐ ฝันอยากเห็นสาหร่ายเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมติด 1 ใน 5 ของตลาดสหรัฐ เรียกว่า เจริญรอยตามเมืองไทยที่ขนมขบเขี้ยวประเภทสาหร่ายติด 1 ใน 3 ของตลาดขนมขบเคี้ยว แต่จะเห็นภาพนี้ภายในอีกกี่ปียังตอบไม่ได้

เพราะกว่าสาหร่ายจะเป็นที่นิยมในไทยต้องใช้เวลายาวนาน ผ่านมา 12 ปี คนไทยเริ่มบริโภคสาหร่ายมากขึ้น จาก 0.5 แผ่นต่อคนต่อปี เป็น 10 แผ่นต่อคนต่อปี ปัจจุบันขยายตัว 80 เท่า ซึ่งตลาดสหรัฐในวันนี้ยังมีหน้าตาเหมือนตลาดในไทยเมื่อหลายปีก่อนที่ยังบริโภคสาหร่ายน้อย

“เรื่องรสนิยมอาหารต้องใช้เวลาอย่างน้อยสิบปี แต่ถ้าติดใจแล้วจะอยู่ยาว โจทย์ยากสุดในการทำตลาดสหรัฐ คือ ทำรสชาติอย่างไรให้ฝรั่งตาน้ำข้าวติดใจ ถ้าทำตลาดนี้ผ่าน ตลาดอื่นจะทำได้ง่ายขึ้น เพราะนี่ คือ จุดยอดดอย”

หากบุกตลาดสหรัฐจนได้ปริมาณการขายระดับหนึ่ง อาจต้องหาพันธมิตรมาช่วยทำงาน เช่น จับมือกันตั้งโรงงานผลิต เป็นต้น แม้การผลิตในสหรัฐจะมีต้นทุนสูงกว่าไทยแต่มาร์จิ้น(กำไรต่อหน่วย)ดีกว่ามาก ทว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเพียงแนวความคิด ยังไม่ได้ฟังธงว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะทุกอย่างต้องคิดให้รอบคอบ เขาแจกแจง

“คุณสมบัติเพื่อนใหม่ต้องเข้าใจตลาด และมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับร้านค้า”

เจ้าของมาร์เก็ตแคปสามหมื่นล้าน เล่าต่อว่า นอกจากมีแผนบุกตลาดสหรัฐมากขึ้นแล้ว จะยังโฟกัสการขายใน “จีน” มากขึ้น หลังเข้าไปขายมาแล้ว 5 ปี จนในปี 2559 มียอดขายแซงหน้าในไทย และในปี 2560 ยังคงสร้างยอดขายอันดับหนึ่งต่อไป หลังคนจีนเริ่มหันมาบริโภคขนมเพื่อสุขภาพมากขึ้น

“สาหร่ายคิดเป็นสัดส่วน 1% ของขนมเค็มในเมืองจีนที่มีมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ เท่ากับว่า ยังมีช่องทางในการทำตลาดอีกมาก”

ปัจจุบันบริษัทจำหน่ายสินค้าผ่านผู้แทนจำหน่าย 2 ราย แต่ในปี 2560 ตั้งใจจะเข้าไปจัดตั้ง “สำนักงานขายในจีน” ขณะเดียวกันก็อาจมองหาพันธมิตรใหม่เพิ่มเติม เพื่อทำการตลาดร่วมกัน

ตั้งเป้าหมายยอดขายจีนเท่าไหร่?

นักธุรกิจอายุน้อย ตอบว่า วันนี้ขายสินค้าในจีนผ่านร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) เพียง 10,000 เอาท์เล็ท แต่อนาคตต้องการกระจายสินค้าให้ได้ 80% ของ 50,000 เอาท์เล็ทที่มีอยู่ในจีน (ยอดขายในเมืองไทยคิดเป็น 97-98% ของภาพรวมเอาท์เล็ทที่มีอยู่ในไทย) ส่วนเป้าหมายการขายสินค้าผ่านร้านค้าปลีกดั้งเดิม (Traditional Trade) ในจีนยังตอบไม่ได้ เพราะต้องหาพันธมิตรให้ได้ก่อน

“ปี 2560 อยากเห็นสัดส่วนการขายในจีนราว 40% และในอนาคตอยากเห็นคนจีนบริโภคสาหร่ายเฉลี่ย 10 แผ่นต่อคนต่อปี”

ส่วนแผนการขายสินค้าในเวียดนาม หลังเข้าไปชิมลางมาแล้ว 2-3 ปี พบว่า ยอดขายดีมาก ช่วงทำธุรกิจแรกๆ เติบโตบน “ตัวเลข 3 หลัก” แต่ตอนนี้ลงมาอยู่ “2 หลัก”

ส่วนตัวมองว่า คงเติบโตแบบนี้ต่อไป เพราะตลาด Modern Trade ในเวียดนามกำลังอยู่ในช่วงขยายตัว

สำหรับยอดขายในอินโดนีเซีย ก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องการเลือกตั้ง ทำให้นำสินค้าเข้าไปจำหน่ายลำบาก แต่ตอนนี้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว ล่าสุดกำลังวางแผนเรื่องการตลาด

หนุ่มต๊อบ เล่าต่อว่า การรุกตลาดต่างประเทศมากขึ้นจะทำให้แผนผลักดัน “ยอดขายหมื่นล้าน” ก่อนในปี 2566 บรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันยังจะทำให้ยอดขายต่างประเทศขยับขึ้นจากระดับ 60% ในปี 2560 เป็น 80% ได้ไม่ยาก ส่วนแผนงานระยะสั้นที่ต้องการมีรายได้ 5,000 ล้านบาท ภายในปี 2560 มั่นใจว่า ไม่พลาดเป้า

“จะพยายามรักษาอัตรากำไรสุทธิที่ระดับกว่า 15% ต่อไป ถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าอัตรากำไรสุทธิของตลาดขนมขบเคี้ยวที่อยู่ระดับ 10-15%”

สำหรับเรื่องการนำสินค้าไปป้อนตลาดส่งออก เชื่อว่ากำลังผลิตเพียงพอ เพราะโรงงานแห่งที่ 2 กำลังผลิต 6,000 ตันต่อปี กำลังจะเปิดดำเนินการภายในไตรมาส 1 ปี 2560 โดยโรงงานแห่งนี้จะผลิตเพื่อส่งออกล้วนๆ ส่วนโรงงานแห่งแรกที่มีกำลังการผลิต 6,000 ตันต่อปีจะผลิตเพื่อขายในประเทศเท่านั้น

โดยโรงงานแห่งที่ 1 และ 2 คาดว่าสร้างรายได้ฝั่งละ 4,000 ล้านบาท เท่ากับว่า จะมีรายได้ 8,000 ล้านบาท ส่วนรายได้อีก 2,000 ล้านบาท จะมาจากแหล่งไหนยังไม่ได้เคาะ แต่อาจจากการไปร่วมเป็นพันธมิตร ซื้อกิจการ หรือสร้างงานแห่งที่ 3 ทุกอย่างเป็นไปได้หมด “ต๊อบ”เผย

เขา ยังให้เหตุผลเพิ่มเติมในการทำตลาดต่างประเทศว่า หนึ่ง ที่ต้องยอมรับ คือ สาหร่ายยังเป็นสินค้าใหม่ สะท้อนผ่านตัวเลขการบริโภคสาหร่ายที่ค่อนข้างต่ำ เพียง 20% เมื่อเทียบกับประชากรทั่วโลกที่มีอยู่ประมาณ 7,000 ล้านคน เพราะสาหร่ายยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำกัดตัวอยู่ในแถบเอเชีย เช่น เวียดนาม จีน อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น

เท่ากับว่า ยังมีประชากรกว่า 80% หรือประมาณ 5,000 ล้านคนที่ยังไม่ได้บริโภคสาหร่าย ฉะนั้นโอกาสจะเห็นคนหันมาบริโภคสาหร่ายมากขึ้นมีโอกาสสูงมาก หากพิจารณาพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่า สาหร่ายเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะราคาเริ่มถูกลง ฉะนั้นวันนี้สาหร่ายจึงกลายเป็นสินค้าสำหรับคนชนชั้นกลางไปแล้ว

“อิทธิพัทธ์” ทิ้งท้ายว่า วันนี้เถ้าแก่น้อยครอง “ส่วนแบ่งการตลาดอันดับหนึ่งในประเทศ” เฉลี่ย 67% เราไม่ได้หวังอยากมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น แต่ต้องการเห็นตลาดสาหร่ายขยายตัวมากกว่าปีละ 3,000 ล้านบาท และอยากเห็นคนบริโภคสาหร่ายเฉลี่ย 20 แผ่นต่อคนต่อปี เทียบเท่าตลาดประเทศสิงคโปร์ เมื่อถามหาโอกาสยังเชื่อว่า เป็นไปได้ เพราะวันนี้คนต่างจังหวัดยังเลือกบริโภคสาหร่ายเหมือนเดิม

“แม้ตลาดในประเทศจะโตไม่ทันตลาดต่างประเทศ แต่เราไม่เคยหย่อนยานการขาย สะท้อนผ่านการใช้เงินทำการตลาดเฉลี่ย 300-400 ล้านบาทต่อปี เพราะเมืองไทยเป็นบ้านของเรา ฉะนั้นต้องรักษาฐานที่มั่นไว้ให้ดี”

๐ “ทำเลทอง” เรื่องเด่น “อาฟเตอร์ยู”

ขณะที่อีกเศรษฐีอายุน้อย “เมย์-กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ” รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.อาฟเตอร์ ยู หรือ AU   เล่าถึงความสำเร็จของการทำธุรกิจว่า ทำเลร้านที่ดี ถือเป็นสูตรสำเร็จอย่างหนึ่ง ขณะที่กลยุทธ์สำคัญ คือ กระจายร้านให้อยู่ในหลากหลายพื้นที่ ไม่กระจุกตัวอยู่เฉพาะในเมือง

แม้ว่าช่วงแรกที่ตัดสินใจเปิดสาขานอกเมืองยอมรับว่า ไม่ค่อยแน่ใจว่า ความต้องการจะมีเหมือนในเมืองหรือไม่ แต่เมื่อทดลองเปิดสาขาที่เดอะมอลล์บางกะปิ “วันนี้เราอุ่นใจแล้ว แม้จะทำยอดขายไม่ได้ดีที่สุดเท่าสาขาพารากอนและเซ็นทรัลลาดพร้าว แต่ก็ถือเป็นตัวเลขที่สวย”

สำหรับเป้าหมายการเปิดสาขาใหม่ ภายในปี 2561 ต้องมีสาขาเพิ่มจาก 18 แห่ง เป็น 30 แห่ง โดยในปี 2560 จะเริ่มขยายสาขาใหม่อีก 7 แห่ง เน้นกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนสาขาต่างจังหวัด วางแผนจะทดลองเปิด 1 สาขาในปีนี้ เน้นจังหวัดท่องเที่ยวใกล้ๆกรุงเทพฯ เช่น พัทยา และหัวหิน เป็นต้น งบลงทุนต่อสาขาเฉลี่ย 5-7 ล้านบาท

“ปัจจุบันลูกค้าใช้บริการเฉลี่ยต่อบิลอยู่ที่ 300 บาท เมนูขายดีสุด คือ ช็อกโกแลตลาวา และฮันนี่โทสต์ ซึ่งในทุกเดือนเราจะออกเมนูใหม่ เพื่อรักษาอัตรากำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 17% และอัตรากำไรขั้นต้นไม่ต่ำกว่า 60%”

กุลพัชร์ ยังยอมรับว่า อยู่ระหว่างศึกษาที่จะรุก “ธุรกิจบริการจัดเลี้ยง” (แคเทอริ่ง) หากไม่มีอะไรผิดพลาดอาจได้เห็นเราทำสินค้าขนมหวานสำเร็จรูปมากขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการซื้อขนมกลับไปบริโภคที่บ้าน คาดว่าคงได้เห็นความคืบหน้าเร็วๆนี้ งานชิ้นนี้ถือเป็นความฝันแรกๆ ก่อนทำร้านอาฟเตอร์ยู แต่ที่ไม่ทำก่อน เพราะใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง

เมื่อถามถึงงานรับจ้างผลิต (OEM) เธอตอบว่า ที่ผ่านมาก็ทำบ้าง ด้วยการป้อนขนมหวานให้สายการบินไทยสมายล์ เบื้องต้นคาดว่า หลังโรงงานใหม่ที่เป็นครัวกลาง กำลังการผลิต 40 สาขาแล้วเสร็จ ตั้งใจจะเชิญลูกค้ามาเยี่ยมชมโรงงานก่อนเปิดรับคำสั่งซื้อ OEM อีกครั้ง

สำหรับแนวโน้มธุรกิจขนมหวานในปี 2560 คาดว่าจะยังคงมีความต้องการมากขึ้น ฉะนั้นบริษัทจะพยายามหาสินค้าใหม่ๆมาเสิร์ฟผู้บริโภค ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวยอมรับว่า ได้รับผลกระทบเล็กน้อย ซึ่งธุรกิจนี้ช่วงไฮซีซั่น คือ ไตรมาส 1 และไตรมาส 4 ของทุกปี

ผู้ก่อตั้งร้านขนมหวานสุดฮิต ยังเล่าความฝันสูงสุดให้ฟังว่า ต้องการผลักดัน “แบรนด์อาฟเตอร์ยู” ไปสู่การเป็น “เชนคาเฟ่ขนมหวานระดับโลก” ส่วนตัวอยากเห็นขนมหวานสายพันธุ์ไทยไปปักธงบนแผนที่นานาประเทศ พูดให้เห็นภาพง่ายๆ เราอยากมีหน้าตาคล้ายกาแฟแบรนด์ดัง สตาร์บัคส์

แผนโกอินเตอร์เริ่มเกิดขึ้น หลังมีนักลงทุนต่างประเทศมาชักชวนให้บริษัทไปขยายสาขาในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แม้ตลาดต่างประเทศจะเป็นขุมทรัพย์ใหม่ แต่เชื่อว่าต้องใช้เวลา ฉะนั้นวันนี้ขอมุ่งมั่นตลาดภายในประเทศก่อน หลังยังมีช่องทางการทำเงินได้อีกมาก

“การแจ้งเกิดสำคัญแล้ว แต่การรักษามาตรฐานให้เข้มข้นสำคัญกว่า ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคไม่เบื่อ ถือเป็นโจทย์สำคัญที่สุดในการทำกิจการขนมหวาน”

-------------------------

“ความมั่นใจ” ย่อหนทางสำเร็จ

“ยืดหยุ่นตามสถานการณ์” คือหนึ่งในหลากหลายจุดเด่นของชายชื่อ “อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์” นักธุรกิจหนุ่มวัย 32 ปี แม้วันนี้ชีวิตนักธุรกิจจะเดินมาไกลเกินกว่าฝัน แต่เขากับไม่เคยคิดว่า ตนเองมีความฉลาดเหนือใคร เรื่องไหนไม่ถนัดเขายินดีขอความช่วยเหลือจากกูรูเสมอ

“นักลงทุนหรือนักธุรกิจบางคนอาจชอบผมในวันนี้ เพราะยังเด็ก แต่ถ้าแก่ไปแล้วอาจไม่ชอบแล้วก็ได้ ฉะนั้นผมจะไม่ใช้ตัวเองในการสร้างแบรนด์ ไม่อยากนำบริษัทมาผูกติดกับตัวเอง ตั้งแต่ทำงานมาไม่เคยคิดว่า อนาคตต้องส่งต่อกิจการให้ลูกหลานดูแล แต่อาจส่งต่อให้มืออาชีพช่วยทำหน้าที่แทนก็ได้” หนุ่มต๊อบ บอกอย่างนั้น

ตั้งแต่ก่อตั้งเถ้าแก่น้อยมา ทำเรื่องผิดพลาดมาไม่ต่ำกว่า 5,000 ครั้ง เรื่องผิดพลาดส่วนใหญ่เกิดจากความอยากลอง อยากทำ ทะเยอทะยาน ทั้งๆที่ไม่มีความรู้ ภาษาวัยรุ่นเรียกว่า เสี้ยน แต่เรื่องสะดุดเหล่านั้นกับสร้างประสบการณ์ใหม่ ทำให้มีความคิดความอ่านคมมากขึ้น และอย่างน้อยก็ได้นำเรื่องเหล่านั้นไปบอกต่อคนอื่น

การเจอประสบการณ์แย่ๆ ในช่วงอายุน้อยๆ และสามารถแก้ไขปัญหาได้ ทำให้หลายคนคาดหวังไฟในตัวเขาค่อนข้างมาก แต่ใครจะรู้ว่าบางครั้งไฟก็หมด หนุ่มต๊อบ บอกอย่างนั้น วันไหนไฟมอดจะหาวิธีปลุกไฟในตัวแบบง่ายๆ

“สำหรับผมการไม่อยากเห็นแม่ร้องไห้เป็นวิธีปลุกพลัง หรือสร้างแรงบันดาลใจที่ดีที่สุด เพราะแรงบันดาลใจเราต้องสร้างเอง”

ในชีวิตของชายชื่ออิทธิพัทธ์ ประสบความสำเร็จเพียงอย่างเดียว นั่นคือ การตัดสินใจทำธุรกิจสาหร่าย เพราะเชื่อมาตลอดว่า สักวันต้องประสบความสำเร็จ และต้องไม่อดตาย สุดท้ายได้เป็นเจ้าของบริษัทหมื่นล้าน ถือว่าเดินมาไกลเกินคาดหมาย แต่เรื่องราวที่ผ่านมาสอนให้รู้ว่า คนจะประสบความสำเร็จได้ต้องมีความมั่นใจในตัวเองก่อน

แม้วันนี้ “หนุ่มต๊อบ” จะมีทรัพย์สินเป็นหุ้นมากถึง 95% แต่เขากับมีความเชื่อว่า “หุ้นกินไม่ได้” ฉะนั้นเขาจึงขอมุ่งหน้าสร้างความยั่งยืนตอบแทนผู้ถือหุ้น แทนที่จะมาใส่ใจเรื่องราคาหุ้น

ขณะที่แบรนด์ After You เกิดขึ้นจากความต้องการส่วนตัว

“อยากกินขนมหวานแบบ Plated Dessert แต่หาซื้อไม่ได้” “เมย์-กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ” ผู้ก่อตั้งบอกอย่างนั้น

แม้จะแสดงจุดยืนแน่วแน่ แต่ผู้เป็นพ่อจำเป็นต้องเบรกความคิดลูกสาววัย 17 ปี ก่อนจะพูดปลอบใจสั้นว่า ใจเย็นๆลูกสาว ทว่าผ่านมา 8 ปี เธอตัดสินใจงัดสมุดจดบันทึกคู่ใจที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับร้านขนมหวานและไอเดียการทำร้านจากทั่วทุกมุมโลกขึ้นมาเนรมิตให้เป็นจริง ด้วยเงินลงทุนก้อนแรก 3 ล้านบาท

แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะเพิ่งทำร้านอาหารทะเลสาขาเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ที่ผู้เป็นพ่อควักเงินลงทุนให้กว่า 10 ล้านบาท “เจ๊ง” ไปก็ตาม

ความสำเร็จเกิดขึ้นที่สาขาแรก “เจ อเวนิว ทองหล่อ” เพราะเพียงการเปิดร้านในวันแรกลูกค้าก็นั่งกันเต็มโต๊ะโกยยอดขายไปเหนาะๆ 1 หมื่นบาท ผ่านมาหนึ่งเดือนกวาดยอดขายไป 4 แสนบาท หลังมีต้นทุนการบริหารต่ำ เพราะทำงานกับพนักงานเพียง 7 คน เธอใช้เวลาในการทำงานเพียง 6 เดือน ก็สามารถนำเงินทุนไปคืนผู้เป็นพ่อได้ตามนัด

“ตลอด 9 ปี ในการทำร้าน After You เรียกได้ว่า ธุรกิจเติบโตในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ด้วยความที่โฟกัสในเรื่องคุณภาพของบริการและขนมเป็นพิเศษ ทำให้ตลอดเวลาที่ผ่านมามีคนติดต่อให้เปิดสาขาใหม่จำนวนมาก” เจ้าของอาฟเตอร์ยู บอกอย่างนั้น