คจร.เร่งเคลียร์รถไฟฟ้า ผุดเส้น'แคราย-บึงกุ่ม'

คจร.เร่งเคลียร์รถไฟฟ้า ผุดเส้น'แคราย-บึงกุ่ม'

"คจร." เร่งแก้ปัญหาโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ปรับลดเส้นทางสายสีส้มลดความซ้ำซ้อน พร้อมสั่ง "สนข." ศึกษาเส้นใหม่ "แคราย-บึงกุ่ม"

การประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วานนี้ (9 ก.พ.) ได้มีการติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และให้ศึกษาแก้ปัญหาการจราจรบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมเสนอโครงการรถไฟฟ้าเส้นใหม่จากแคราย-ลำสาลี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศ-ตลิ่งชัน โดยกำหนดให้แนวเส้นทางสิ้นสุดที่สถานีบางขุนนนท์ (ถนนจรัญสนิทวงศ์) ในระยะแรก จากเดิมที่ต้องมีการก่อสร้างให้แล้วเสร็จทั้งเส้นทางไปจนถึงสถานีตลิ่งชัน

แต่เนื่องจากโครงการก่อสร้างทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อนช่วงตลิ่งชัน-สถานีศิริราช ซึ่งเป็นโครงใหม่ของรฟท.เป็นพื้นที่ให้บริการเดียวกันกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในช่วงตลิ่งชัน-สถานีศิริราช ที่ประชุมฯจึงเห็นว่าการก่อสร้างในช่วงเส้นทางดังกล่าวทั้งสองโครงการจะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนจึงให้ รฟม.ก่อสร้างถึงช่วงสถานีบางขุนนนท์ซึ่งจะทำให้ลดค่าก่อสร้างงานโยธาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มได้ประมาณ1.5หมื่นล้านบาท

นอกจากนั้นยังสามารถลดผลกระทบจากการโยกย้ายและเวนคืนที่ดินในโครงการและทำให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ตามแผนที่วางไว้ในปี 2565 และในอนาคตหากจะมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเพิ่มเติมในช่วงสถานีบางขุนนนท์ถึงสถานีตลิ่งชัน ยังสามารถที่จะดำเนินการได้โดยกำหนดเป็นแผนระยะต่อไป

ทั้งนี้ที่ประชุมมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ รฟม.พิจารณาการกำหนดค่าโดยสารให้เกิดความเหมาะสมร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนในอนาคต

เห็นชอบโอนสายสีเขียวให้กทม.บริหาร

นายอาคม กล่าวว่าที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้กรุงเทพมหานคร(กทม.)เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และมีมติเห็นชอบในหลักการให้มีการโอนทรัพย์สินโครงการดังกล่าว และให้กระทรวงคมนาคมรายงานผลการดำเนินการให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)รับทราบ

สำหรับข้อสรุปในเรื่องการเงินที่จะต้องมีการโอนทรัพย์สินของระหว่างรฟม.และกทม. วงเงิน 21,108ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ กทม.ต้องชำระให้ รฟม.โดยตรงจำนวน3,548.77ล้านบาท และส่วนที่ กทม.สามารถกู้เงินต่อจากกระทรวงการคลัง หรือหาแหล่งเงินกู้เองโดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกันเงินกู้เป็นวงเงิน17,559.487ล้านบาท

ในระหว่างนี้ให้สามารถเดินรถในช่วงต่อขยายได้1สถานีคือสถานีแบริ่ง–สำโรง โดยจะเริ่มเดินรถในเดือน มี.ค.นี้ ส่วนช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มอบหมายให้คณะกรรมการประเมินทรัพย์สินไปเร่งรัดดำเนินการโอนหนี้สินและทรัพย์สิน โดยพิจารณาควบคู่ไปกับความสามารถในการชำระหนี้และรายได้ของกทม.ในการดำเนินโครงการในอนาคต

สั่งศึกษารถไฟฟ้า‘แคราย-ลำสาลี’

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯเห็นชอบให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) และศึกษาระบบทางด่วนที่เชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข9และความเป็นไปได้ในการเชื่อมต่อทางยกระดับอุตราภิมุขกับวงแหวนตะวันตก เพื่อพิจารณาภาพรวมตลอดการเชื่อมต่อต่างๆในแนวตะวันออก-ตะวันออก (E-W Corridor) และมอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินการโครงการระบบทางด่วนขั้นที่3สายเหนือตอน N2 และส่วนต่อขยายกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษก)

ให้ กทพ.พิจารณาแนวทางการเชื่อมต่อกับโครงข่ายทางยกระดับอุตราภิมุขและทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯที่สนข.อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกทม.ให้ครอบคลุมอย่างมีประสิทธิภาพและลดปัญหาการจราจรบริเวณแยกเกษตร

สั่งสนข.เร่งระบบขนส่งหัวเมืองหลัก

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯยังมอบหมายให้สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)ดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาคต้นแบบ 3 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก อุบลราชธานี และสระแก้ว ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ส่งผลให้เมืองมีปัญหาการจราจร อุบัติเหตุ ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมือง และการใช้พลังงานที่สิ้นเปลือง

สำหรับการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดท่องเที่ยว2จังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากและมีปัญหาการจราจรติดขัด คือ จ.ภูเก็ต และ จ.เชียงใหม่ จะมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าขนส่งทางรางแบบเบาหรือ “แทรม”

โครงการใน จ.ภูเก็ต ออกแบบแล้วเสร็จครอบคลุมระยะทาง43กิโลเมตร20สถานี งบประมาณก่อสร้าง 2.8 หมื่นล้านบาท ค่าโดยสาร150 บาทต่อคนตลอดระยะทาง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนมิ.ย.ปีนี้ โดยใช้รูปแบบการลงทุนแบบพีพีพี โดยอาจให้เอกชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมามีส่วนร่วมด้วย

ส่วนโครงการแทรมในจังหวัดเชียงใหม่มีการออกแบบไปแล้ว70%ระยะทาง40กิโลเมตร33สถานี คาดว่าการออกแบบและการประเมินวงเงินของโครงการจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนผลการศึกษาการก่อสร้างรถไฟฟ้าใน 6 เมืองใหญ่ ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น พิษณุโลก และสงขลาซึ่งจะสรุปผลภายในเดือน มี.ค.2560 หลังจากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุมคจร.

ชงสนข.พิจารณาข้อเสนอกลุ่ม‘บีเอสอาร์’

ด้านนายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการกลยุทธ์และแผน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา35แห่ง พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี วงเงิน5.4หมื่นล้านบาทและรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง วงเงิน 5.2 หมื่นล้านบาทเปิดเผยว่า
คณะกรรมการมาตรา 35ฯได้เจรจาสัญญาหลักกับกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ผู้ชนะการประมูลทั้ง 2 โครงการใกล้เสร็จแล้วแต่ยังต้องพิจารณาข้อเสนอซองที่3หรือข้อเสนอเพิ่มเติมอีก

ขณะนี้ยังไม่ได้สรุปว่าจะรับข้อเสนอซองที่ 3 หรือไม่ เพราะต้องรอให้สนข. พิจารณาความเหมาะสมและบรรจุข้อเสนอในแผนแม่บทรถไฟฟ้าก่อนจึงก่อสร้างได้ เนื่องจากข้อเสนอเป็นแนวรถไฟฟ้าที่อยู่นอกเหลือสัญญาหลัก

เบื้องต้นจึงได้หารือกับ สนข. เพื่อให้ศึกษาความเหมาะสมของข้อเสนอทั้ง 2 โครงการ ได้แก่ การขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพูอีก 2-3 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อไปยังอิมแพ็ค เมืองทองธานี และสายสีเหลือง จะขยายเส้นทางเพิ่มเติมอีก 2.6 กิโลเมตร จากรัชดาไปถึงแยกรัชโยธินเพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว

“เราจะเสนอให้ สนข. บรรจุข้อเสนอเพิ่มเติมทั้ง 2 โครงการลงในแผนแม่บทรถไฟฟ้า จากนั้น สนข. ต้องศึกษาว่าเส้นทางดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ ส่วนจะใช้เวลาศึกษานานไหมก็ขึ้นอยู่กับ สนข. เป็นหลัก แต่ข้อเสนอเพิ่มเติมนี้จะไม่เกี่ยวกับสัญญาหลัก เพราะสัญญาหลักจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือนเดิม” นายธีรพันธ์ กล่าว