แนะแก้ก.ม.เงินคงคลัง นำฝากแบงก์รับดอกเบี้ย

แนะแก้ก.ม.เงินคงคลัง นำฝากแบงก์รับดอกเบี้ย

"นักวิชาการ" มองแนวคิดรัฐบาลสุดโต่ง คงบัญชีเงินคงคลังไว้น้อยเพราะห่วงภาระดอกเบี้ย แนะแก้กฎหมายนำเงินฝากแบงก์พาณิชย์เผื่อรับดอกเบี้ยแทน

นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ นักวิชาการอิสระ ด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า บัญชีเงินคงคลังถือเป็นภาพสะท้อนวินัยด้านการคลังของรัฐบาล โดยรัฐบาลที่มีวินัยการคลังมากๆ มักจะสำรองเงินคงคลังไว้ระดับสูง เพราะเงินคงคลังเปรียบเหมือนบัญชีเงินสดใช้ดูแลสภาพคล่องของภาครัฐ

สำหรับแนวคิดของรัฐบาลชุดนี้ อาจสุดโต่งไปนิด ตรงที่มองว่าการถือบัญชีเงินสดไว้มากๆ เป็นภาระด้านดอกเบี้ย ซึ่งในหลักความเป็นจริงถือว่าถูกต้อง แต่รัฐบาลควรมองในกรอบที่จำกัด ไม่ควรมองในเชิงโครงสร้างว่า ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีบัญชีเงินคงคลังที่สูงมาก เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจเวลานี้มีความไม่แน่นอนสูง ยังไงรัฐบาลควรจะมีเงินจำนวนหนึ่งเพื่อเผื่อเหลือเผื่อขาดเอาไว้ โดยเงินในบัญชีนี้ควรมีสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายไว้อย่างน้อย 2-3 ไตรมาส

"ถ้าเราสำรองเงินคงคลังไว้น้อย มีสภาพคล่องไม่เพียงพอ เกิดกรณีที่มีรายจ่ายฉุกเฉินขึ้นมา รัฐบาลจะเกิดปัญหาได้ จึงควรต้องมีบัญชีเก็บไว้เผื่อเหลือเผื่อขาด หรือเผื่อกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด"

นายตีรณ กล่าวว่า รัฐบาลอาจมองว่าการกู้ยืมเงินมาแล้วมาพักไว้ในบัญชีเงินคงคลัง ซึ่งฝากไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แต่ไม่ได้ดอกเบี้ย ทำให้รัฐบาลมีต้นทุนค่าเสียโอกาส ซึ่งการแก้ปัญหาก็ไม่น่าจะใช้วิธีลดระดับเงินคงคลังลงมา แต่ควรแก้ที่ต้นเหตุ
โดยอาจแก้กฎหมายให้นำเงินคงคลังไปฝากกับธนาคารพาณิชย์เพื่อรับดอกเบี้ยได้ หรือแก้กฎหมายให้ ธปท. สามารถจ่ายดอกเบี้ยเหมือนที่จ่ายให้กับธนาคารพาณิชย์ทั่วไปได้

"ถ้ามองในแง่วินัยการเงินการคลัง ก็มีเหตุผลที่จะปรับบัญชีเงินคงคลังให้สามารถไปฝากที่อื่นได้ ไม่จำเป็นต้องฝากที่แบงก์ชาติอย่างเดียว หรือถ้าจะฝากแบงก์ชาติ ก็ควรให้แบงก์ชาติจ่ายดอกเบี้ยด้วย เหมือนที่เขาจ่ายให้กับแบงก์พาณิชย์ ตรงนี้ต้องแก้ให้ถูกทาง เพราะถ้าปัญหาเงินคงคลังเกิดจากรายรับ ก็ต้องไปแก้ในส่วนนั้น เพื่อทำให้การบริหารสภาพคล่องของรัฐบาลดีขึ้น"

สำหรับฐานะการคลังของรัฐบาลโดยรวม นายตีรณ กล่าวว่า ยังมีเสถียรภาพที่ดี แต่มีลักษณะการเบิกจ่ายค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับรายรับ ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลได้ลดภาษีคืนสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านบวก ขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลในด้านการลงทุน ก็พยายามดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วม เพื่อแบ่งเบาภาระในส่วนนี้ลง

ฐานะการคลังยังมีเสถียรภาพ

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของการจ่ายใช้ภาครัฐ ถือว่ายังมีปัญหาค่อนข้างมาก คือ มีการใช้จ่ายค่อนข้างสูง และหลายโครงการที่เกิดขึ้นยังมีความไม่ชัดเจนเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุน

ขณะที่ ปัญหาเชิงโครงสร้างก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะในด้านของรายจ่ายประจำที่ยังสูง ซึ่งตรงนี้อาจกลายเป็นระเบิดเวลาได้ในอนาคต ถ้าเศรษฐกิจโลกหรือเศรษฐกิจภูมิภาคเกิดปัญหาขึ้นมา

ห่วงขาดดุลเพื่อประชานิยมก่อหนี้อนาคต

ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คว่า เงินคงคลังเป็นยอดบริหารเงินสดในมือ การที่มียอดลดลง ในตัวของมันเอง ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลถังแตก และในการบริหารเงินสดที่เหลือนั้น ถ้าเห็นว่ามีน้อยไป รัฐบาลก็สามารถกู้เข้ามาตุนไว้ในมือได้ ประชาชนจึงไม่ควรจำเป็นต้องกังวลในจุดนี้มากเกินไป

แต่ที่น่าห่วงมากที่สุด คือการขาดดุล เพื่อโครงการประชานิยม ประเภทเพื่ออุ้มการอุปโภคบริโภค ประเภทแจกเงินคนจน ประเภทช้อปช่วยชาติ เพราะใช้เงินแล้ว เงินหายต๋อมไปเลยการขาดดุลเพื่อโครงการประชานิยม ไม่แตกต่างจากการกู้เงิน แบบ “เต้นกิน รำกิน” ที่เกิดขึ้นในประเทศลาตินอเมริกา

การที่นายกรัฐมนตรี ให้คำอธิบายว่า ต้องใช้จ่ายประชานิยมเพราะ “มีคนขอให้รัฐบาลช่วยเยอะ รัฐบาลจึงตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องดังกล่าว” ผมเห็นว่าไม่ใช่วิธีบริหารการคลังที่ดี

การใช้จ่ายประชานิยมเพื่ออุปโภคบริโภค มีผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ตัวเลข จีดีพี สูงขึ้นก็จริง และทำให้รัฐบาลเป็นที่นิยมชมชอบของประชาชนก็จริง แต่ไม่มีอะไรที่เป็นของฟรีในโลก เพียงแค่ภาระการใช้หนี้ จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต่อไปเท่านั้น

ครม.ถกเงินคงคลัง สั่งชี้แจงปชช.

ขณะที่ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (7 ก.พ.) มีการหารือกันถึงกระแสข่าวเรื่องเงินคงคลังที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเรื่องนี้ต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่า เงินคงคลังคือเงินสดที่รัฐบาลเก็บไว้ใช้จ่ายในการดำเนินงานของรัฐบาลหรือเทียบเท่ากับเงินสดที่มีอยู่ในมือ ซึ่งเมื่อเงินขาดมือก็สามารถกู้ได้โดยการระดมทุนผ่านพันธบัตรหรือช่องทางอื่นๆภายใน2วันทำการ ภายใต้กรอบการกู้เงินของรัฐบาล

ทั้งนี้ ประชาชนบางคนสับสนระหว่างเงินคงคลังและเงินสำรองระหว่างประเทศ จึงขอชี้แจงว่า เป็นเงินคนละส่วนกัน คือเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเงินตราต่างประเทศ หรือเงินของหลวงตามหาบัวซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินที่เก็บไว้รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท ปัจจุบันมีอยู่ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6 ล้านล้านบาท

ส่วนเงินคงคลังไม่ใช่ทรัพย์สิน แต่เป็นบัญชีใช้จ่ายกระแสรายวัน ไม่ต้องมีจำนวนมากและมีเท่าที่จำเป็นก็พอ

"เป็นวิธีการบริหารตามปกติของประเทศ ซึ่งเงินคงคลังจะคงเหลือเท่าไหร่จะเป็นไปตามการเบิกจ่ายงบประมาณที่ต่ำหรือสูงด้วย ใน4เดือนแรกของปีงบประมาณรัฐบาลก็ได้ใช้จ่ายออกไปสูง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เต็มที่ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เป็นนายแบงก์มาก่อน ย่อมรู้ดีว่าจะบริหารเงินอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งรัฐมนตรีก็ชี้แจงแล้วว่าการถือเงินสดไว้เยอะเป็นการแบกรับภาระดอกเบี้ย และควรมีเงินสดหรือเงินในบัญชีกระแสรายวันเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เดี๋ยวจะเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปี" นายกอบศักดิ์ กล่าว

4 เดือนเบิกจ่ายสูงกว่าเป้า 3.69%

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ได้รับทราบรายงานผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ประจำปี 2560 ตั้งแต่วันที่1ต.ค.2559-31ม.ค.2560ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลได้มีมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายเพื่อให้เม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โดย 4 เดือนของปีงบ 60 เบิกจ่ายไปแล้ว 1,105,870 ล้านบาท คิดเป็น 40.46% สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 36.77% แบ่งเป็น 1.รายจ่ายประจำวงเงิน 2.184 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายแล้วจำนวน 9.95 แสนล้านบาท คิดเป็น 45.56%สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้39.53%อยู่6.03%

2.รายจ่ายลงทุน วงเงินรวม5.48แสนล้านบาท มีการก่อหนี้แล้ว 2.568แสนล้านบาท คิดเป็น46.80%และเบิกจ่ายแล้ว1.10แสนล้านบาท คิดเป็น20.20%ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้25.77%อยู่5.57%

อย่างไรก็ตามสำหรับรายจ่ายลงทุนกรณีไม่รวมงบกลางจำนวน4.64แสนล้านบาท มีการก่อหนี้แล้ว 2.56 แสนล้านบาท คิดเป็น 55.33% และเบิกจ่ายแล้วจำนวน 1.1 แสนล้านบาท คิดเป็น23.88%

โดยการก่อหนี้รายจ่ายลงทุนได้มากและมีการเบิกจ่ายแล้วสูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง