ครม.สั่งคลังบริหารเงินคงคลังตามความจำเป็น

ครม.สั่งคลังบริหารเงินคงคลังตามความจำเป็น

"กอบศักดิ์" เผย ครม.สั่งกระทรวงคลังบริหารเงินคงคลังตามความจำเป็น พร้อมรับทราบการเบิกจ่ายงบไตรมาสแรกปี 60 ชี้สูงสุดในรอบหลายปี

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการเบิกจ่ายงบประมาณช่วง 4 เดือนแรก สิ้นเดือนมกราคมของปีงบประมาณปี 2560 วงเงิน 1.105 ล้านล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 40.46 ของงบประมาณโดยรวมและสูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 3.69 ขณะที่งบประมาณโดยรวมปี 2557 เบิกจ่ายร้อยละ 37.56, ปี 2558 เบิกจ่ายร้อยละ 37.63, ปี 2559 เบิกจ่ายร้อยละ 38.55 การเบิกจ่ายงบประมาณแบ่งเป็นงบรายจ่ายประจำ 995,000 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนร้อยละ 6.03 งบลงทุนวงเงิน 110,876 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.88

ทั้งนี้ เป็นการเบิกงบลงทุนสูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา จากปี 2559 เบิกจ่ายงบลงทุนช่วงเดียวกันร้อยละ 19.2 และการเบิกจ่ายงบลงทุนออกไปยังโครงการต่าง ๆ มีการก่อหนี้ไปแล้วร้อยละ 55.33 การลงทุนคืบหน้าไปมาก โครงการลงทุนโดยรวมเริ่มทำสัญญาเพื่อเดินหน้าลงทุนและจัดซื้อวัสดุก่อสร้าง เม็ดเงินโครงการลงทุนจึงเริ่มออกสู่ระบบกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากปี 2560 เป็นปีแห่งการลงทุน ดัชนีของกลุ่มวัสดุก่อสร้างจึงสูงมากกว่าทุกปี สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโครงการลงทุนขนาเล็กเริ่มก่อหนี้แล้วร้อยละ 99.55 โครงการลงทุนต่างจังหวัดไม่เกิน 2 ล้านบาท เริ่มก่อหนี้แล้วร้อยละ 70 สะท้อนถึงเม็ดเงินลงทุนเริ่มออกไปสู่ระบบจำนวนมาก จากที่เคยท่อตันหรือเงินค้างท่อ เมื่อได้ทะลายท่อจึงทำให้เงินเริ่มไหลออกสู่ระบบ

นายกอบศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบเงินคงคลังลดลงเหลือ 74,000 ล้านบาทในปัจจุบัน โดยกระทรวงการคลังชี้แจงว่าเป็นวัฎจักรของการบริหารจัดการการเบิกจ่ายงบประมาณ เพราะมีการปรับเพิ่มขึ้นลดลงในช่วงเวลา เพราะเงินคงคลัง คือ เงินสำรองการใช้จ่ายของรัฐบาลเหมือนกับเงินในกระเป๋าสำหรับเก็บเอาไว้ใช้ในการทำธุรกิจของเอกชน ขณะที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่ในบัญชีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5 ล้านล้านบาท เป็นเงินหนุนหลังเพื่อความมั่นคงเหมือนกับทรัพย์สินของประเทศเพื่อความเชื่อมั่น โดยวงจรเงินงบประมาณแต่ละปีจะสูงมากในช่วงต้นเดือนตุลาคม 400,000-500,000 ล้านบาท แต่เมื่อเบิกไปใช้จ่ายผ่านโครงการต่าง ๆ จะเริ่มลดลงแต่ละปีจะมีเงินไหลเข้าคลัง 3 ช่วง คือ ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน เงินได้ของบุคคลธรรมดา ต่อมาช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เงินได้ของนิติบุคคล จากนั้นช่วงเดือนสิงหาคม เงินได้นิติบุคคลครึ่งปีไหลเข้ามา

ดังนั้น แม้ว่าเงินคงคลังจะลดลงไปบางช่วง แต่รัฐบาลสามารถกู้จากตลาดมาใช้จ่ายตามแผนการใช้งบประมาณประจำปีได้ภายใน 2 วัน ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงรายงาน ครม.ว่าเงินคงคลังควรมีเท่าที่จำเป็นรองรับการใช้จ่ายโครงการลงทุน ไม่จำเป็นต้องกู้มากองไว้ เพื่อให้เป็นภาระดอกเบี้ย ครม.จึงสั่งการให้บริหารจัดการเงินคงคลังให้มีกระแสเงินสดตามความจำเป็น