เหรียญอีกด้านของ 'ป่าน่าน' ที่หายไป

เหรียญอีกด้านของ 'ป่าน่าน' ที่หายไป

ทิวเขาสลับสูงต่ำไกลสุดสายตา ไม่ต่างจากลายเส้นสะบัดพู่กันของจิตรกร

ต่างกันก็ตรง สีน้ำตาลอมเขียวที่ละเลงอยู่ตอนนี้ เป็นเนื้อที่ของป่ากว่า 1.8 ล้านไร่ที่ถูกถางหายไปจาก “ป่าน่าน” มันยังเป็นภาพเดียวกันกับ “ภูเขาหัวโล้น” ที่แพร่สะพัด และถูกพูดถึงอย่างเผ็ดร้อนในโลกออนไลน์ เมื่อช่วงกลางปีพ.ศ. 2559 ถึงวันนี้ ป่าน่านที่เคยโด่งดังยังคงนิ่งเงียบ ไม่ต่างจาก “รอยแผลเป็น” ของเกษตรอุตสาหกรรมก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

“ก็ยังเป็น 1.8 ล้านไร่เหมือนเดิมล่ะครับ ดาวเทียมเขาบอกมาอย่างนั้น” ใครบางคนเอ่ยถึงข้อมูลความเสียหายของพื้นที่ป่า บนที่ลาดชันซึ่งปกคลุมน่านอยู่ถึงร้อยละ 85 ของพื้นที่ที่ดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA เคยรายงานเป็นข้อมูลไว้

เมื่อตอนจบไม่ได้แฮปปี้เอ็นดิ้งเหมือนที่ใครหลายคนคิด แล้วป่าน่านที่ทุกภาคส่วนต่างมา “ลงขัน” ฟื้นฟูชนิดทั้งระบบก่อนหน้านี้นั้นทำไมจึงไม่ได้ผล

...เกิดอะไรขึ้นกับป่าต้นน้ำผืนนี้

คนหิว ป่าเลยหาย ?

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปมของป่าน่านที่ถูกผูกเป็นเงื่อนตายอยู่ตอนนี้มีอยู่หลายปัจจัย ตั้งแต่การบังคับใช้กฎหมาย ไปจนถึงวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น

สุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางที่เคยนั่งเก้าอี้พ่อเมืองน่านลุยปัญหารุกป่าอยู่ 1 ปีเต็มเคยบอกว่าป่าผืนนี้มีปัญหาที่ผูกโยงกันเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะข้อกฎหมาย

“หากราชการบังคับใช้กฎหมายก็จะกระทบกับอาชีพ และความเป็นอยู่ประชาชน ทุกรัฐบาลก็ลดหย่อนผ่อนปรนต่อรองด้วยวาจากันไป พอเจ้าหน้าที่ไปสุดท้ายรัฐจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้”

เมื่อผนวกกับนโยบายด้านเศรษฐกิจของนักการเมือง ซึ่ง “อุ้ม” ราคาผลผลิตทางการเกษตรมาโดยตลอด ทำให้ราคามีความเสถียร อีกทั้งการมีวงจรอุตสาหกรรมเข้ามารองรับ ตั้งแต่ เมล็ดพันธุ์ ยา ตลาด หรือกระทั่ง เงินกู้ทั้งใน และนอกระบบ กลายเป็นรากหยั่งลึกเป็นเนื้อเดียวกับท้องถิ่นไปแล้ว

โดยเฉพาะ “ข้าวโพด” แกนหลักในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 4.6 แสนล้านบาทให้กับน่าน

“ที่บ้านผมก็ปลูกอยู่ 20 ไร่ครับ” สมาชิกองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรายหนึ่งใน อ.เวียงสา ยอมรับ

การรณรงค์ให้ปลูกป่าหรือไล่ทวงคืนป่า จึงมีคำถามตามหลังมาอยู่เสมอ ทั้งการจัดการผลผลิตที่กำลังอยู่ในวงรอบการผลิต และปากท้องของชาวบ้าน

“คนที่พูด พูดอยู่ที่กรุงเทพ แต่คนที่นี่เขาก็ต้องทำมาหากิน ยังมีภาระประจำวันอยู่” นี่เป็นความจริงอีกเรื่องที่ไม่อาจมองข้าม

ประเด็นนี้ อดีตผู้ว่าฯ เมืองน่านชวนคิดต่อถึง “พื้นที่ทำกิน” ที่เหลือเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่คนน่านมีอยู่ 479,955 คนตามทะเบียนราษฏร์ พอๆ กับ พะเยา บึงกาฬ ปราจีนบุรี หรือแม้แต่ กระบี่ จึงทำให้สมการเรื่องความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ทำกินกลายเป็นคำถามที่ยังไม่มีใครตอบ 

กระทั่งการบอกว่า “คนบนพื้นที่สูงนั่นแหละปัญหา” ก็เป็นอีกปมหนึ่งที่ทำให้เรื่องยิ่งยุ่งเข้าไปใหญ่ เพราะตัวเลขร้อยละ 80 ในรายงานของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยัดใส่มาให้กับ “คนที่สูง” ที่กระจายตัวอยู่ทั้ง 13 อำเภอจาก 15 อำเภอทั่วเมืองน่านเป็นผู้ร้ายนั้นมีความขัดแย้งกันอยู่ เพราะบางพื้นที่ที่ไม่มีพวกเขา ปริมาณการตัดไม้ทำลายป่าก็สูงอยู่ดี

ไม่ว่าจะเป็นจากกลุ่มนายทุน ชาวบ้าน คนใน หรือคนนอก แต่การหายไปของป่าที่ผูกโยงกับข้อกฎหมาย ภาวะเศรษฐกิจ แม้แต่วิถีชิวิตล้วนทำให้การเปลี่ยนโครงสร้างความเป็นอยู่ของคนน่านเพื่อแลกกับป่าจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แค่การถกกันในวงเสวนา หรือการเฮโลขึ้นมาปลูกกระแสพลิกฟื้นป่าน่านให้กลับคืนมาดังเดิมก็ตาม

จนวันนี้ หลังจากกระแสทุกอย่างปลิวผ่านไป ผืนป่าน่านก็เงียบเชียบราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น และภูเขาน่านก็ยังคง “หัวโล้น” อยู่

แก้ที่ลุ่มน้ำใบประกอบ

“ถึงจะเจ็บ แต่ต้องเก็บไว้ในใจก่อน” ท่าทางสบายๆ ของ ณรงค์ อภิชัย ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคสนาม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำให้ตัวเลข 1.8 ล้านไร่ที่เจ้าตัวพยักหน้ารับก่อนหน้านี้ดู “เบา” ขึ้นมาทันที

เขาชวนกวาดสายตาดูแนวทิวเขาในพื้นที่ “สบสาย” ของ อ.เฉลิมพระเกียรติ ที่ป่าทั้งเว้า และแหว่งไม่แพ้ป่าผืนอื่นๆ ของน่านนั้นเป็น “ความจริง”

ความจริงที่ว่า “พื้นที่รุกป่า” กับ “พื้นที่ทำกิน” เป็นพื้นที่เดียวกัน ทั้ง 18 ลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำน่าน รวมทั้งลุ่มน้ำย่อยอีก 38 ลุ่มน้ำ เป็นแบบนั้น ดังนั้นเวลาแก้ปัญหาก็ต้องแก้กันเป็น “ลุ่มน้ำ” ทดเขตพื้นที่การปกครอง และพื้นที่รับผิดชอบเอาไว้ในใจก่อน เมื่อคนในพื้นที่ใช้ป่าในการดำรงชีวิตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ละพื้นที่จึงล้วนมีปัจจัยเฉพาะอยู่ ทั้งมิติสังคม และวัฒนธรรม โดยมีวงจรการเกษตรอุตสาหกรรมทำให้เกิดฤดูเพาะปลูก และฤดูแผ้วถางที่มาของไฟป่า ในทางกลับกัน พื้นที่กิจกรรมของชุมชน การใช้ประโยชน์ ไปจนถึงกับการสร้างรายได้ ก็อยู่ในความหมายเดียวกันกับคำว่า “ป่า” ด้วย 

ดังนั้น ข้อตกลงร่วมกันไม่ว่าจะเป็น ชุมชน เจ้าหน้าที่รัฐ และภาคประชาสังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญในการไขไปสู่โมเดลการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง 

“โฉนดก็ต้องถือฉบับเดียวกันทุกฝ่าย” เขาพูดเสียงดังฟังชัด

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ “สบสาย” ก็คือ สร้างความชัดเจนในแต่ละเขตพื้นที่ ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชน และพื้นที่ใช้สอย เริ่มด้วยการลงพื้นที่สำรวจพร้อมกัน ก่อนที่จะวัดตำแหน่งด้วย พิกัดจีพีเอส (Global Positioning System : GPS) ที่สำคัญต้องยอมรับโดยไม่คำนึงว่านั่นเป็นที่อุทยานฯ หรือเขตอนุรักษ์ ซึ่งหลักเขตเหล่านี้จะเป็นหลักประกันพื้นที่ป่าที่แน่นอน และเครื่องมือตรวจสอบที่ไว้ใจได้หากเกิดความเปลี่ยนแปลง

พร้อมๆ กับการกำหนดหลักเขตก็คือการตั้งสัดส่วนพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมพืชทางเลือกที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยไปกว่าข้าวโพด  

“เราก็ให้ปลูกกล้วย มีกาแฟแซม หรือพืชที่ปลูกครั้งเดียวแล้วเก็บไปสร้างรายได้ได้ตลอดอย่างต้นก๋งที่เขาเอาไปทำไม้กวาด” 

หรือตัวนาขั้นบันได ที่มีฝายเป็นตัวแปรสำคัญในการผันน้ำเข้าสู่พื้นที่ เป็นการลดพื้นที่ขณะที่ผลผลิตเท่าเดิม ทั้งหมดก็เพื่อแก้ปัญหาการเลี้ยงชีพ ซึ่งในการเปลี่ยนก็ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในระยะแรก ข้าวโพดก็ยังเป็นพระเอกยืนโรงอยู่จนกระทั่งพืชทางเลือกอื่นๆ เริ่มออกผลผลิต ข้าวโพดก็จะค่อยๆ หายไป และได้ป่ากลับคืนมาแทนที่ในที่สุด 

อย่างที่ หมู่ 11 บ้านน้ำช้าง กานต์ เจริญกิจรัตนกุล ผู้ใหญ่บ้านน้ำช้างชี้ให้ดูแนวป่าอนุรักษ์ที่ชุมชนสามารถคืนให้กับรัฐตามนโยบายได้เกินกว่าเป้าหมายซึ่งถือเป็นความภูมิใจของชุมชนอย่างยิ่ง 

“เขาต้องการ 1,800 ไร่ แต่เราสามารถคืนให้ได้มากถึง 2,200 ไร่ ตรงนี้เป็นเหมือนหลักประกันว่า ถ้าชุมชนอยู่ได้ ชุมชนก็สามารถดูแลป่า และจะเป็นความยั่งยืนแน่นอน” 

ที่ บ้านพ่อ ใน อ.ท่าวังผา ก็เริ่มจากเรียนรู้ปัญหาผ่านประชาคมหมู่บ้านทำให้เกิดกระบวนการจัดการภายในพื้นที่ สร้างการมีส่วนร่วม และสำนึกความเป็นเจ้าของร่วมผ่านฝายน้ำริม เพื่อให้ชาวบ้านดูแลป่าต้นน้ำ ผลที่ได้ก็คือความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

“น้ำเป็นเหมือนต้นทุนชีวิตของเกษตรอยู่แล้ว จากเมื่อก่อนเราเป็นหนี้ ทำออกมาก็ต้องเอามาใช้หนี้เพราะผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร วันนี้เราก็ค่อยลืมตาอ้าปากได้” สังวาลย์ นวนอิน เกษตรกรบ้านพ่อเล่าถึงนาข้าว ไร่มะเขือ และสวนพริกที่กำลังดีวันดีคืนของตัวเองด้วยรอยยิ้ม

สิ่งที่เกิดขึ้นกับชุมชนในพื้นที่ไม่ต่างจากหลักคิดที่ว่าชุมชนอยู่ได้ ป่าก็อยู่ได้ 

“ถ้าชาวบ้านยังไม่มีจะกิน อย่าหวังว่าจะมีอะไรเปลี่ยนเลย” ผอ.ภาคสนามของแม่ฟ้าหลวงคนเดิมยืนยัน ตามแบบฉบับของดอยตุงโมเดล 

เขาหยิบกิ่งมะขามขึ้นมาพร้อมคำอธิบายว่า ปัญหาป่าน่านเหมือนกับใบประกอบของกิ่งไม้ที่ใบบางใบอาจจะแหว่งไปบ้าง แต่หากค่อยๆ ทยอยแก้ทั้งลุ่มน้ำ กิ่งใบประกอบที่เว้าแหว่งไปก็จะกลับคืนมาเต็มใบเหมือนเดิมในที่สุด

“ตัวชี้วัดคือ ที่ลุ่มน้ำสบสาย 34,314 ไร่ ตอนนี้ เราได้ป่ากลับคืนมา 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว ไฟป่าลดลง 99 เปอร์เซ็นต์”   

 คนใช้ = คนรักษา

“ปลูกให้สำเร็จ ไม่เท่ากับปลูกให้เสร็จนะครับ” เป็นอีกเรื่องที่ผอ.ณรงค์ชวนคิดตามต่อเมื่อถูกถามถึงการปลูกป่า เขายอมรับว่าปัจจัยสำคัญอีกเรื่องนอกจากการจัดการก็คือ การให้เวลา 

“ไม่ต้องพูดว่าปลูกป่าหรอกครับ ปล่อยทิ้งไว้เดี๋ยวป่าก็กลับคืนมาเอง” เขาเล่าถึงหลักแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการปลูกป่าโดยไม่ปลูก

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า วันนี้ปัญหาป่าน่านจะถูกคลี่คลายไปแล้ว เพราะตัวเลขบนกระดานวันนี้ก็ยังคงเป็น 1.8 ล้านไร่เหมือนเดิมอยู่ สิ่งที่ต้องเติมต่อจากนี้คือการปลูกจิตสำนึก “ระหว่างคนต้นน้ำ ไปจนถึงคนปลายน้ำ” ในแง่บทบาทของคนใช้ และคนรักษา ล้วนอยู่ในคนๆ เดียวกัน 

“แค่เราคิดว่าการเปิดน้ำทิ้งไว้ระหว่างแปรงฟันทำให้เราเสียน้ำไปฟรีๆ ปีละ 2,000 ลิตรมันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้วครับ” เขาบอก 

เมื่อเริ่มตระหนักสิ่งที่จะตามมาก็คือ ความเข้าใจ

พื้นที่ท่องเที่ยว อ.บ่อเกลือ มีความพยายามของผู้ประกอบการในการสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากชุมชนเพื่อให้ชุมชนอยู่ได้แทนการรุกป่า แต่อีกมุมหนึ่ง การพยายามให้ชุมชนคงการใช้ฟืนแทนที่จะใช้เตาเผาชีวภาพเพื่อทำเกลือ ก็กลายเป็นความลักลั่นระหว่างผู้ประกอบการกับชุมชนที่ยังต้องหาทางออก เพราะการใช้ไม้ในอุทยานเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ความเปลี่ยนแปลงก็สวนทางกับวิถีชีวิต   

ขณะที่ การจัดการไม้ในเมืองขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นก็เป็นอีกเรื่องที่ นพ.บุญยง วงศ์รักมิตร อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน มองว่าเป็นอีกทางออกในการจัดการระหว่างคนกับป่า เขายกตัวอย่างพระราชบัญญัติการควบคุมดูแลทรัพยากรป่าไม้ในท้องถิ่นที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งจะช่วยกำหนดขอบเขตการอยู่ร่วมกันระหว่างประชาชนกับธรรมชาติได้อีกทางหนึ่ง 

“องค์ความรู้ในการจัดการต้นไม้ในเมืองก็เป็นเรื่องสำคัญครับ” สุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองน่านตั้งข้อสังเกต เขามองว่า การจัดการไม่ได้หมายความแค่การตัด หรือถอนออกเพียงอย่างเดียว แต่มันยังหมายถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับต้นไม้ที่อยู่ในชุมชน ซึ่งมีภูมิปัญญาตกทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เพียงแต่วันนี้ ต้องอาศัยการทำความเข้าใจ และทำให้คนมองเห็นประโยชน์ของการอยู่ร่วมกันให้ได้ 

ภายในเขตเทศบาลนั้น มีการดูแลต้นไม้โดยมีอาสาสมัครในชุมชนช่วยกันดูแลก็เป็นวิธีการจัดการอีกแบบหนึ่ง หรืออย่างที่โครงการURBAN FOREST โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงพื้นที่เพื่อย้อนกลับไปเป็นช่องทางการสื่อสารให้กับคนปลายน้ำ หรือคนเมืองก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งของการจัดการ

แน่นอนว่า ป่าน่านวันนี้คงไม่ใช่แค่กระแสที่โหมมาแล้วก็ผ่านไป เมื่อพื้นที่ป่าต้นน้ำน่านเส้นเลือดหลักของแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ได้มีความหมายแค่การดูแลของคนต้นน้ำ แต่เป็นความร่วมมือของคนปลายน้ำในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติด้วย

การรู้คุณค่า รวมทั้งเข้าใจภูมิสังคมซึ่งกันและกัน จะนำไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ แค่จ่ายเงินบริจาคแล้วมาตระโกนให้คนในป่าทำอย่างโน้นทำอย่างนี้ หรือการรอการแก้ปัญหาจากคนข้างล่าง เพราะต้องไม่ลืมว่า คนใช้กับคนรักษาจริงๆ ก็ล้วนเป็นคนๆ เดียวกัน สู้มาร่วมกันหาวิธีให้มีทรัพยากรใช้ไปชั่วลูกชั่วหลานดีกว่า

...จริงไหม