เอไอเอสดึงเอชบีโอ-ฟ็อกซ์ย้ำผู้นำ 'ดิจิทัลไลฟ์เซอร์วิส'

เอไอเอสดึงเอชบีโอ-ฟ็อกซ์ย้ำผู้นำ 'ดิจิทัลไลฟ์เซอร์วิส'

เอไอเอส โชว์วิสัยทัศน์ปี 2560 ย้ำผู้นำ “ดิจิทัล ไลฟ์ เซอร์วิส โพรไวเดอร์” เทงบ 4 หมื่นล้านบาทสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของเอไอเอสประจำปี 2560 มุ่งตอกย้ำการเป็นดิจิทัล ไลฟ์ เซอร์วิส โพรไวเดอร์ (Digital Life Service Provider) เตรียมยกระดับเครือข่ายไปอีกขั้น โดยพัฒนาทั้งโมบาย ซูเปอร์ไวไฟ และฟิกซ์บรอดแบนด์รองรับการใช้งานระดับกิกะบิต พร้อมก้าวสู่ 5จี เป็นรายแรก รวมไปถึงรองรับการใช้งานเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์


ดึงเอชบีโอ-ฟ็อกซ์ร่วม
ขณะเดียวกัน จัดเต็มบริการดิจิทัล โดยจะร่วมมือแบบเอ็กซ์คลูซีฟกับพันธมิตรระดับโลก นำเสนอสุดยอด ดิจิทัลคอนเทนท์ เช่น ฟ็อกซ์ เอชบีโอ เอ็นบีเอ โครมแคส ทั้งเตรียมจับมือไมโครซอฟท์ให้บริการคลาวด์สำหรับธุรกิจเต็มรูปแบบ

พร้อมกันนี้ นำแนวคิด “เอไอเอส ดิจิทัล ฟอร์ ไทย (AIS Digital For Thais)” นำเทคโนโลยีดิจิทัลไปสนับสนุนความแข็งแกร่ง สร้างโอกาสใหม่ๆ แก่กลุ่มรากฐานหลักของประเทศ ประกอบด้วย เกษตรกรรมและผู้ประกอบการโอท็อปสาธารณสุข การศึกษา และสตาร์ทอัพ

หลังจากนี้ บริษัทมีแผนร่วมทำงานกับภาครัฐเพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปสนับสนุน เสริมความแข็งแรง สร้างโอกาสทางการเข้าถึงและความเท่าเทียมกันของประชาชนที่มีอาชีพอยู่ในรากฐานหลักของประเทศ โดยเชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญช่วยเพิ่มศักยภาพและสร้างการเติบโต พร้อมผลักดันประเทศสู่ ไทยแลนด์ 4.0 ได้สำเร็จตามนโยบายรัฐบาล

“เอไอเอสโฟกัสกับพัฒนา 3 อินฟราสตรักเจอร์ คือ ไวเลส ฟิกซ์บรอดแบนด์ และดิจิทัลเซอร์วิส ปีนี้วางลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 4-4.5 หมื่นล้านบาท จากนี้ไม่ว่าทางกสทช.จะจัดประมูลอีกกี่ครั้งเราก็พร้อมเข้าร่วมทุกครั้ง”

การใช้งบดังกล่าวหลักๆ 4 หมื่นล้านบาทสำหรับขยายคาปาซิตี้โมบาย อีก 5 พันล้านบาทพัฒนาฟิกซ์บรอดแบนด์ ส่วนงบดิจิทัลคอนเทนท์แยกต่างหาก

โทรคมโตไม่หยุด
ปี 2559 อุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมไทยมีการปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล ขณะเดียวกันการพลิกโฉมธุรกิจไปสู่ดิจิทัลกลายเป็นประเด็นที่ทุกอุตสาหกรรมรวมถึงรัฐบาลให้ความสำคัญ ส่วนของเอไอเอสเองมีการเปลี่ยนผ่านธุรกิจให้พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นเครือข่าย บริการดิจิทัล และบุคลากร

ปีทีผ่านมาลูกค้าเอไอเอสมียอดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านมือถือสูงถึง 24 ล้านราย จากจำนวนดังกล่าว 12 ล้านราย ใช้งานผ่านมือถือ 4จี ใช้อินเตอร์เน็ตวันละ 6 ชั่วโมง ทั้งพบว่ามีการชมวีดีโอถึง 10 ล้านคลิปต่อวัน อัพโหลดภาพวันละ 1.8 ล้านภาพ

ส่วนปีนี้เชื่อว่าในภาพวมการใช้งานอินเตอร์เน็ตจะเติบโตถึง 300% ตลาดที่เติบโตมากที่สุดคือ ฟิกซ์บรอดแบนด์ รวมถึงการใช้งานของอุปกรณ์ ไอโอที ไม่ว่าจะเป็นแวร์เอเบิล เอ็มทูเอ็ม ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่จะเข้ามาสร้างโอกาสใหม่ๆ พร้อมยกระดับการบริหารจัดการธุรกิจและการใช้ชีวิตของคนไทยไปอีกขั้น

“โดยรวมการแข่งขันจะยังคงรุนแรงเหมือนเดิม โดยทุกรายพยายามนำเสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการให้ได้มากที่สุด”

ข้อมูลระบุว่า ปี 2560 อุตสาหกรรมไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง คาดว่า บริการโมบายจะมีมูลค่า 254,000 ล้านบาท เติบโต 3-4% อุปกรณ์โมบาย 143,000 ล้านบาท โต 10% ที่น่าสนใจฟิกซ์ไลน์และบรอดแบนด์มูลค่า 78,000 ล้านบาท โต 15%

นอกจากนี้ จะมีการใช้สมาร์ทโฟนกว่า 14 ล้านเครื่อง แทบเล็ต 1 ล้านเครื่อง พีซีกว่า 2 ล้านเครื่อง สมาร์ททีวี 2 ล้านเครื่อง แวร์เอเบิลและเอ็มทูเอ็มมากกว่า 5 แสนเครื่อง และอุปกรณ์อื่นๆ ที่สามารถเชื่อมเน็ตได้ 4 แสนเครื่อง

บริษัทคาดด้วยว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะทำให้อุตสาหกรรมหลักแต่ละด้านเติบโตอย่างก้าวกระโดด รับปัจจัยบวกความครอบคลุมของดิจิทัลอินฟราสตรักเจอร์ ทั้ง อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เติบโตกว่า 100% ทุกปี การใช้สมาร์ทโฟนที่แตะ 70 ล้านเครื่อง และ ไอโอทีมากกว่า 20 ล้านรูปแบบ

มั่นใจโตเกินจีดีพี
นายสมชัย กล่าวอีกว่า หลังจากการประมูลคลื่น 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ เอไอเอสมุ่งพัฒนาเครือข่ายด้วยเทคโนโลยีที่ดีที่สุดภายในระยะเวลาเพียง 300 วัน จนวันนี้เครือข่ายเอไอเอส 4จี ก้าวสู่การเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุด ครอบคลุมแล้วถึงกว่า 98% ของพื้นที่ประชากร
ทั้งนี้ นับว่าทำได้เร็วที่สุดระดับเอเชีย และหลังจากนี้ยังคงไม่หยุดนำนวัตกรรมระดับโลกเข้ามาเสริมขีดความสามารถเครือข่าย ซึ่งรวมไปถึงพัฒนาเครือข่าย 4.5 จี ครั้งแรกในโลก


ส่วนของบริการฟิกซ์บรอดแบนด์ “เอไอเอส ไฟเบอร์” ได้ขยายโครงข่ายไปยังชุมชนแล้วมากกว่า 5 ล้านครัวเรือน มีปริมาณลูกค้าใช้งาน ณ สิ้นปี 2559 ที่ 3 แสนราย ขีดความสามารถการติดตั้งใกล้เคียงกับผู้ให้บริการรายเดิมแม้จะเปิดให้บริการมาเพียง 2 ปีเท่านั้น และปีนี้เชื่อว่าจะทำได้เทียบเท่าแน่นอน

จบปี 2559 เอไอเอสมีลูกค้า 41 ล้านราย ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 24 ล้านราย และเป็นปีแรกที่รายได้จากดาต้าแซงหน้าวอยซ์ ในภาพรวมเป็นปีที่มีการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจากสัมปทานไปสู่ใบอนุญาต โดยเอไอเอสได้ส่งมอบสินทรัพย์มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ให้กับบมจ.ทีโอที ตลอดระยะเวลาสัมปทานสร้างรายได้ให้ 8.6 หมื่นล้านบาท ส่วนจากนี้ทีโอทีสามารถนำมาให้เช่าต่อด้วยมูลค่าปีละไม่น้อยกว่า 5,600 ล้านบาท

บริษัทตั้งเป้าไว้ว่า รายได้รวมปี 2560 จะเติบโตได้ 4-5% สวนทางจีดีพีประเทศที่โตราว 3% ปัจจัยจากความพร้อมโครงข่าย ดิจิทัลคอนเทนท์ การเติบโตโมบาย การมาของไอโอที รวมถึงการใช้งานดาต้าที่มากขึ้น

จัดเต็มบันเทิงเอ็กซ์คลูซีฟ
นายปรัธนา ลีลพนัง รักษาการ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด เอไอเอส กล่าวว่า ปีนี้บริษัทจะยิ่งนำความตื่นเต้นที่มากขึ้นมาสู่ลูกค้าเอไอเอส โดยร่วมมือแบบเอ็กซ์ครูซีฟกับเอ็นบีเอ, ฟอกซ์ เน็ตเวิร์ค 21 ช่อง, และเอชบีโอ เร็วๆ นี้เตรียมร่วมมือกับเอชบีโอให้บริการ “เอชบีโอ โก” วีดิโอออนดีมานด์เต็มรูปแบบรายแรกในไทย พร้อมกันนี้ทำให้ทุกรายการที่ออกอากาศ มีบรรยายและพากษ์ไทย

พร้อมกันนี้ บุกเบิกบริการซิเคียวริตี้บนโมบาย “เอไอเอส ซิเคียว เอสเอ็มเอส และ อีเมล” โดยเปิดให้ทุกคนใช้บริการได้ฟรีตลอดทั้งปีนี้

นายอรพงศ์ เทียนเงิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ บนโลกของคอนเน็คเต็ดดีไวซ์ รองรับการมาของไอโอที ซึ่งผลักดันให้เปลี่ยนวิธีคิด ธุรกิจต้องปรับตัว

ไมโครซอฟท์ให้ความสำคัญกับทั้ง วิธีการติดต่อลูกค้า การทำงาน การผลักดันให้นำดิจิทัลไปใช้ ยกระดับการบริหารจัดการธุรกิจลูกค้า สำหรับความร่วมมือกับเอเอสจะครอบคลุมการลงทุนเครือข่ายร่วมกัน ให้เอไอเอสทำหน้าที่คลาวด์ โซลูชั่น โพรไวเดอร์ และการพัฒนาการจ่ายเงินรูปแบบใหม่ๆ