เทงบ 2.1 หมื่นล้านปั้นเศรษฐกิจดิจิทัล

เทงบ 2.1 หมื่นล้านปั้นเศรษฐกิจดิจิทัล

“สมคิด”จี้กระทรวงดีอีเร่งฟอร์มพื้นฐานปั้นดิจิทัลอีโคโนมี ระบุภายใน 2 ปีทุกอย่างต้องเสร็จให้ทันนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ปี 2563

นายสมคิด จาตุศรีพิกษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังเยี่ยมชมการดำเนินงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ว่า ประเทศไทยจะเดินหน้าสู่การขับเคลื่อนด้านดิจิทัลได้นั้นต้องไม่เพียงแต่ขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจแต่ต้องทำให้ครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านการศึกษา ภาคการเกษตร และภาคสังคม ดังนั้น จุดเริ่มต้นจะต่องทำให้คนภายในประเทศเข้าถึงเครื่องมือที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะการมีระบบไอซีทีเป็นตัวช่วยวางโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดไว้ว่าในปี 2563 เราจะเข้าสู่นโยบายไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มรูปแบบดังนั้น จึงเป็นหน้าที่หลักของกระทรวงดีอีที่จะต้องช่วยวางรากฐานที่สำคัญให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีผ่านหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่สำคัญและจะเป็นแรงผลักดันสำคัยของประเทศคือบมจ.ทีโอที บมจ.กสท โทรคมนาคม และบริษัท ไปรษณียไทย จำกัด (ปณท) ซึ่งจะต้องขับเคลื่อน 3 โครงการสำคัญให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 นี้หรืออย่างช้าต้องไม่เกินต้นปีหน้าภายใต้งบประมาณทั้งสิ้น 21,000 ล้านบาท


โดยโครงการสำคัญที่ถือเป็นไพร์ออริลิตี้ของการขับเคลื่อนดิจิทัล อีโคโนมีคือ การจัดหาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้เข้าถึงทุกหมู่บ้านในประเทศไทย ภายใต้งบประมาณที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมติให้ทีโอทีเป็นผู้รับผิดชอบโครงการมูลค่า 13,000 ล้านบาท เพราะจะเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ให้เข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก ซึ่งโครงการ “เน็ตประชารัฐ” จะเป็นการสร้างถนนดิจิทัลด้วยเคเบิลใยแก้วความเร็วสูงไปสู่หมู่บ้าน ในพื้นที่ไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์และยังไม่มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสในการเข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งบริการภาครัฐให้กับประชาชนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทำให้เกิดการกระจายทรัพยากรและโอกาสที่ทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรมยิ่งขึ้น


ทั้งนี้ จากการฟังรายงานของนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีกระทรวงดีอี ได้เล่าถึงความคืบหน้าว่า ทีโอทีได้นำร่องเปิดใช้งานไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยได้ติดตั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสื่อสัญญาณสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (เอฟทีทีเอ็กซ์) จำนวน 99 หมู่บ้านแรก ใน 13 จังหวัดทั่วประเทศ ประกอบด้วย ภาคเหนือ 33 หมู่บ้าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 27 หมู่บ้าน ภาคตะวันออก 12 หมู่บ้าน ภาคกลาง 12 หมู่บ้าน และภาคใต้ 15 หมู่บ้าน ที่ระดับความเร็วไม่ต่ำกว่า 30 Mbps/10 Mbps พร้อมกับได้จัดจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง ภายใต้ชื่อ “เน็ตไร้สายเพื่อประชาชน” อย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 จุด โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน และมีเป้าหมายให้ครบถ้วนจนวน 24,700 หมู่บ้านในธ.ค.นี้

ทั้งนี้ ทีโอที ต้องทำโครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐ ภายใต้งบประมาณ 13,000 ล้านบาท เพื่อวางอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ในหมู่บ้านที่กำหนด 24,700 หมู่บ้านให้เสร็จตามกำหนดคือภายในปี ขณะที่ กสทฯได้รับกรอบงบประมาณไป 5,000 ล้านบาท ในการขยายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ เพราะอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นหัวใจสำคัญในการต่อยอดให้เกิดโครงการต่างๆ

ด้านพ.อ.สรรพชัย หุวนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า โครงการขยายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศที่ กสท โทรคมนาคม ได้รับกรอบงบประมาณมา 5,000 ล้านบาทนั้น จะแบ่งการทำโครงการออกเป็น 3 ส่วน คือ การขยายเคเบิ้ลภาคพื้นดินจากจังหวัดชายขอบไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง ลาว มาเลเซีย พม่า กัมพูชา ส่วนที่สองคือการเพิ่มประสิทธิภาพของแบคโฮลที่มีอยู่แล้วที่ ศรีราชา จ. ชลบุรี และ ส่วนสุดท้ายคือการสร้างเส้นทางเชื่อมต่อเพิ่ม 1 เส้นทาง คือ เส้นทางประเทศไทย-ฮ่องกง ซึ่งหลังจากทำเสร็จในส่วนที่ทำเพิ่มเติมทุกส่วนต้องส่งมอบให้เป็นสมบัติของกระทรวงดีอี โดยภาพรวมทั้งเส้นเดิมที่ กสท โทรคมนาคม มีอยู่ 7 เส้นทาง และเส้นทางใหม่ที่จะเกิดขึ้นจะทำให้มีความสามารถในการรองรับการใช้งานอยู่ที่ 30 เทราบิตจากปัจจุบัน ที่มีการใช้งานอยู่ที่ 5 เทราบิต ขณะที่ความสามารถในการรองรับการใช้งานอยู่ที่ 10 เทราบิต แต่การเติบโตอยู่ที่ปีละ 65 %

ด้านนายพิเชฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าวว่า สิ่งที่รองนายกรัฐมนตรี กำชับคือต้องขับเคลื่อนโครงการให้เกิดภายใน 2 ปี ซึ่งโครงการของกระทรวงดีอี จะต้องทำให้เกิดผลระยะยาว และส่งสัญญาณให้ต่างประเทศรับรู้ว่าประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะเป็นศูนย์พัฒนาดิจิตอล โดยโครงการหลักๆที่จะขับเคลื่อนประกอบด้วย การสร้าง‘ดิจิตอลพาร์คไทยแลนด์’ซึ่งจะตั้งขึ้นบนเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ ของ กสท โทรคมนาคม ที่อำเภอศรีราชา จ.ชลบุรี การทำนโยบาย 3 อี คือ 1.อี-คอมเมิร์ซ ต้องทำให้ชุมชนสามารถใช้เครื่องมือไอทีในการช่วยทำตลาดและขายสินค้าชุมชนได้ ต้องมีการสร้างอี-มาร์เก็ตเพลส ให้ชุมชน 2.อี-เฮลธ์ ซึ่งได้จับมือกับกระทรวงสาธารณสุข หรือ สธ. เพื่อกระจายโอกาสการพบแพทย์ไปยังชนบท โดยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ด้วยการใช้เทคโนโลยีต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยอาจจะประสานกับอาสาสมัคร สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการสร้าง อี-อสม.เพื่อช่วยเหลือคนในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง และสุดท้าย 3. อี-กัฟเวอร์เมนท์ ที่จะทำให้ข้อมูลและบริการภาครัฐส่งไปถึงประชาชนระดับชุมชนได้อย่างไร และการขยายจังหวัดในการทำโครงการสมาร์ท ซิตี้ จากเดิมที่ทำในจังหวัดภูเก็ตและเชียงใหม่ ก็จะมีเพิ่มเข้ามาอีก 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา

“วันนี้ท่านสมคิดมาโฟกัสแค่เรื่องนโยบายการพัฒนา ไม่ได้คุยเรื่องปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ดาวเทียม การแยกสินทรัพย์ ทีโอที กสท โทรคมนาคม ตามที่ คนร.มีมติ แต่อย่างใด ส่วนเรื่องการปรับโครงสร้างกระทรวง ก็ต้องดำเนินงานไปตามกรอบของพ.ร.บ.ที่ออกไป แต่ดูจากกำลังคนในกระทรวงแล้ว เรามีความพร้อมเต็มที่ ซึ่งผมก็ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการทำงาน ” นายพิเชฐ ระบุ

ด้านบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ตามที่ได้รับรายงานมานั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี เสริมว่า ทิศทางการดำเนินงานของไปรษณีย์ไทยในปี 2560 นั้นจะมุ่งเน้น “ไปรษณีย์ไทย…เครือข่ายเพื่อชีวิตดิจิทัล” เพื่อให้บริการไปรษณีย์มีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากลมากยิ่งขึ้น และพัฒนาเป็นฮับการขนส่ง (ลอจิสติกส์) ผ่านอี-ลอจิสติกส์ซึ่งที่ผ่านมาไปรษณีย์ไทยได้ดำเนินงานวางรากฐานไปแล้ว ภายใต้งบประมาณราว 3,000 ล้านบาท พร้อมทั้งรองรับการเติบโตของธุรกิจ อี-คอมเมิรซ์ และกลุ่ม สตาร์ทอัพ ที่ปัจจุบันเติบโตค่อนข้างสูง นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการทำงานทุกขั้นตอนเพื่อรองรับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”


นอกจากนี้ ปณท จำเป็นจะต้องเร่งพัฒนาบริการและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสามารถผลักดันภาคธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ด้วยดิจิทัล โปรดักส์ และเซอรซิส ขยายให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กลุ่มลูกค้า อี-คอมเมิรซ์ ให้สามารถบริการฝากส่งได้สะดวกและง่ายขึ้นผ่านบริการใหม่ๆ อาทิ พร้อมโพสต์ แอพพลิเคชันจัดทำระบบฝากส่งสิ่งของล่วงหน้า บริการเตรียมการฝากส่งทางอินเทอร์เน็ตสำหรับกลุ่มธุรกิจ อี-คอมเมิรซ์ เพื่อเป็นรากฐานของการเป็นฮับในการลอจิสติกส์