ปฏิบัติการกระชากวัย ‘สมใจ’ ร้านเครื่องเขียน

ปฏิบัติการกระชากวัย ‘สมใจ’ ร้านเครื่องเขียน

วิภวานี วิทยานนท์-นพนารี พัวรัตนอรุณกร ทายาทรุ่น 3 นำการเปลี่ยนแปลงมายัง "สมใจ" ร้านเครื่องเขียนที่อยู่คู่นักเรียนไทยมายาวนานถึง 60 ปี

ปฏิบัติการของ “วิภวานี วิทยานนท์” และ “นพนารี พัวรัตนอรุณกร” ทายาทรุ่น 3 ของร้านสมใจ ทันทีที่เรียนจบจากสหรัฐ ยึดครองกิจการของคุณยายแล้วปรับเปลี่ยนให้ทันยุคสมัยในสไตล์เจน Z


                ร้านสมใจเริ่มกิจการเมื่อปี 2501 โดย คุณตานิยม ผเดิมชิตและคุณยายสมใจ เป็นร้านเล็กๆ ขายเครื่องเขียนและหนังสือเรียนตรงข้ามวิทยาลัยเพาะช่าง สถาบันสอนศิลปะที่เก่าแก่แห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ เด็กอาร์ตน้อยคนนักที่ไม่รู้จักร้านสมใจ เพราะวัสดุอุปกรณ์สำหรับงานศิลปะอย่างดีที่นำเข้าจาก เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศสและญี่ปุ่น ที่หายากๆ ก็หาได้ในร้านนี้ ปัจจุบันขยายสาขาไปแล้ว 15 สาขาทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ล่าสุดอยู่ที่ Central Plaza Rama9
            ร้านสมใจเป็นธุรกิจครอบครัว มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันแบบญาติพี่น้อง การบริหารงานในรุ่นที่ 2 ก็เริ่มขยายสาขาออกไปนอกแขวงวังบูรพาภิรมย์ เพราะรุ่นแรกๆ เป็นสาขาที่เกาะเกี่ยวกัน 4 สาขาอยู่แถวถนนตรีเพชร

          วิภวานี เล่าวว่า ปัญหาจากการปรับเปลี่ยนระบบบริหารจัดการร้านใหม่มีเยอะมากล้านแปด ทั้งทะเลาะกันในครอบครัวพ่อแม่พี่น้อง อาจเพราะตอนนั้นเราเพิ่งเรียนจบใหม่ ในขณะที่คุณพ่อคุณแม่มีประสบการณ์ 20-30 ปีขึ้นไป ในขณะที่เรามาอยู่ตรงนี้แค่ไม่กี่ปี พวกท่านอาจจะยังไม่มั่นใจในตัวลูกหลาน ยกตัวอย่าง เปลี่ยนจากซื้อขายลงบัญชีบนสมุดก็ทำเป็นระบบคลังสินค้า มีการยิงบาร์โค้ดทุกชิ้นที่ขาย คนสมัยก่อนก็จะมองว่า ทำให้มันช้าลงทำไม โดยที่อาจจะไม่ได้มองข้อดีของระบบว่า เป็นฐานข้อมูล ป้องกันการทุจริตและอื่นๆ ทำให้การทำงานเป็นระบบมากขึ้น เราก็ต้องพูดคุยกันเยอะกว่าจะผ่านตรงนั้นมา การพูดคุยเพื่ออธิบาย ปรับเปลี่ยนความคิดและสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้น ต้องทำเรื่อยๆ และทำทุกครั้งที่มีโปรเจคใหม่
                นอกจากจะฝ่าด่านระดับผู้บริหารแล้ว พวกเธอยังต้องฝ่าด่านระดับพนักงานอีก วิภวานี เล่าว่า ช่วงแรกมีแรงต้านแปลกๆ จากพนักงาน แต่เธอก็ต้องพิสูจน์ตัวเองโดยพยายามสื่อสารสร้างความเข้าใจว่า การเปลี่ยนครั้งนี้จะส่งผลดีอย่างไรทั้งกับตัวพนักงานและบริษัท

         “ตอนปรับระบบจัดการร้านในช่วงแรก พนักงานในร้านออกอาการที่เรียกว่า งอแง เลยค่ะ โดยเฉพาะรุ่นอายุ 40-50 อัพนี่จะบ่นๆ ว่า เปลี่ยนทำไมกัน แบบเดิมง่ายกว่าเยอะ"
"เราก็พยายามหาวิธีปรับโดยเรียนรู้ไปพร้อมกับพนักงาน เราก็ทำไม่เป็นเหมือนกัน และพยายามสร้างไอดอลโดยเลือกพี่ผู้จัดการมาคนหนึ่ง และนำเสนอว่า พี่คนนี้ก็ไม่เคยทำ ไม่มีความรู้เรื่องนี้มาก่อนเลย แต่ก็เรียนรู้และทำเป็นแล้ว ชีวิตจากนี้ของเขาก็ง่ายขึ้นมาก พนักงานในความดูแลก็ดีขึ้น เป็นการใช้จิตวิทยาเข้าช่วย”

           “เหนื่อยมาก ทุกคนมองเราเป็นคนเจ้าระเบียบ เจ้าระบบ ไม่มีใครอยากใกล้เลย เวลาเดินไปทางไหน ทุกคนจะหลบหน้า เราก็ต้องพยายามให้กำลังใจตัวเอง ปีที่ผ่านมาถือว่าเหนื่อย ท้อ จนคิดทุกวันว่า เราทำถูกหรือเปล่า เราทำอะไรอยู่ มันเหนื่อย ขาดแรงบันดาลใจจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ เคยคิดถึงขั้นว่าจะปล่อย ไม่ปรับอะไรและก็ทำแบบเดิมเมื่อ 60 ปีก่อนคือ เก็บรายได้ไป เพราะรายได้ของร้านก็ไม่ได้ตก แต่เมื่อเห็นผลงานก็รู้สึกดี”

           นพนารี เสริมว่า ทายาทรุ่นที่ 3 ค่อนข้างโชคดี การบริหารค่อนข้างเป็นอิสระ ไม่มีการตั้งกฎเกณฑ์และไม่กดดัน ผู้ใหญ่เปิดโอกาสให้เข้ามาสัมผัสการดูแลร้านประมาณปีครึ่ง ก่อนที่จะเดินทางไปเรียนปริญญาโทที่สหรัฐ โดยวิภวานีเรียน MBA ส่วนนพนารีเรียนด้าน Applied Economics  เมื่อกลับมาจากสหรัฐ ร้านสมใจก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา สมใจเป็นบริษัทที่โตมากว่า 60 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้คุณภาพทั้งการทำงาน บุคลากร การบริหารจัดการบริษัท ถ้าอยากให้กิจการอยู่ต่อไปได้ในยุคนี้ เราต้องสางของเก่าเพื่อที่จะสร้างของใหม่ขึ้นมา จึงเริ่มพัฒนาระบบเพื่อนำกิจการเข้าสู่โลกโซเชียล 
                    อย่างไรก็ตาม ขณะที่เรียนในสหรัฐทั้งสองได้ชิมลางทำธุรกิจกับเพื่อนในขณะเรียน เป็นธุรกิจเล็กๆ รับออกแบบและผลิตกล่องของขวัญที่สามารถปรับให้เป็นฐานวางแลปท็อปได้ เป็นไอเดียใส่ใจสิ่งแวดล้อม ปรากฏว่า อเมซอนสนใจ อยากเป็นพันธมิตรด้วย
                    “ตอนนั้นคิดว่าไม่กลับมาไทยแล้ว อยากทำธุรกิจอยู่ที่นั่นเลย แต่เนื่องจากอะไรก็ไม่พร้อม เช่น ถ้าอยู่ต่อก็ต้องเปลี่ยนวีซ่าเป็นวีซ่าผู้ประกอบการ ซึ่งเสียภาษีปีละเป็นล้าน สถานการณ์พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ กลายเป็นต้นทุนความเสี่ยง ก็เลยตัดสินใจกลับมาบ้าน ตอนแรกคิดจะมาทำต่อที่ไทย แต่กลัวเรื่องการลอกเลียนแบบ เลยยั้งไว้ก่อน เคยคิดถึงขั้นจะทำมาวางขายที่ร้านแต่ด้วยข้อมูลยังน้อย เพราะตอนที่ทำในอเมริกานั้นได้ทำวิจัยเยอะมาก เช่น ค่าเฉลี่ยนการมอบของขวัญต่อคนใน 1 ปี ขยะบนโลกมีเท่าไหร่ ขยะจากกล่องของขว้ญเป็นเท่าไหร่ ฯลฯ ซึ่งมีข้อมูลพร้อมหมด ขณะนี้ในเมืองไทยหาข้อมูลอะไรไม่ได้เลย” นพนารี กล่าว

              สำหรับแผนงานในปีนี้ ทั้งสองวางแผนจะแบ่งเวลาให้กับการเรียนรู้เพิ่มทักษะทางธุรกิจในคอร์สสั้นๆ มากขึ้น เพราะสิ่งที่ได้จากชั้นเรียน ไม่ใช่แค่ความรู้ แต่เป็นทั้งความสนุกสนาน เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ได้ฟังวิทยากรที่มีเรื่องราวน่าสนใจเป็นแรงบันดาลใจให้เรา”นพนารี ปิดท้ายการสนทนาถึงความตั้งใจที่จะทำในปีนี้