กรมอนามัยจัด'โชป้า-ชายด์ป้า'เสริมสุขภาพ

กรมอนามัยจัด'โชป้า-ชายด์ป้า'เสริมสุขภาพ

กรมอนามัยจัด “โชป้า-ชายด์ป้า" เสริมสุขภาพ หลังพบปี 59 เด็กไทยอ้วนขึ้น นำร่อง200ร.ร.

 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่โรงแรมริชมอนด์  นพ.กิตติ ลาภสมบัติศิริ ผู้อำนวยการกองออกกำลังกาย กรมอนามัย กล่าวในการเสวนาการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาวะเด็กวัยเรียน วัยรุ่น และเด็กอ้วนว่า สถานการณ์ภาวะอ้วนในเด็กวัยเรียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 12.5 ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13.1 ในปี 2559 ขณะที่การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของเด็กไทยระหว่างปี 2555-2557 ในกลุ่มเด็กอายุ 6-14 ปี อยู่ที่ร้อยละ 63.8 และกลุ่มเด็กวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี อยู่ที่ร้อยละ 65.1 เท่านั้น ซึ่งการจะลดปัญหาภาวะอ้วนและเพิ่มความสูงให้แก่เด็กวัยเรียน มี 3 ปัจจัยคือ 1.การออกกำลังกายที่เพียงพอ  2.การรับประทานอาการที่มีประโยชน์  และ 3.การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ ซึ่งจากการที่รัฐบาลมีนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้

นพ.กิตติ กล่าวด้วยว่า กรมอนามัยได้จัดโครงการโชป้า แอนด์ ชายด์ป้า เกมส์ ลดเรียน เพิ่มรู้ สู่อาเซียน เพื่อเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายในเด็กวัยเรียน โดยกิจกรรมของโครงการจะมี 3 รูปแบบ คือ 1.นวัตกรรมออกกำลังกายจิงโจ้ยืดตัว เพื่อช่วยเรื่องการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ช่วยเรื่องความอ่อนตัว และการยืดหยุ่นที่ดีของร่างกาย  2.นวัตกรรมออกกำลังกายจิงโจ้ FUN For FIT จะเน้นการออกกำลังกายที่มีการกระโดด หรือมีการลงน้ำหนัก เพื่อกระตุ้นการเพิ่มความสูงให้เด็ก และ3.นวัตกรรมออกกำลังกายเก้าอี้...ขยี้พุง จะเป็นการช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อทุกๆ ส่วนของร่างกาย และจัดทำหลักสูตรพัฒนาบุคลากรทางสาธารณสุขและทางการศึกษา รวมถึงนักเรียน ให้เป็นโชป้าแอนด์ชายด์ป้าโคช จำนวน 293 คน

 “จากการนำร่องโครงการมาตั้งแต่ปี 2558 ในโรงเรียนจำนวนกว่า 200 แห่ง ครอบคลุมกว่า 40 จังหวัด พบว่า นักเรียนจำนวน 1,337 คน จาก 13 โรงเรียน ใน 6 จังหวัด ซึ่งมีทั้งเด็กโชป้าคือมีน้ำหนักตัวเกินหรือภาวะอ้วน และเด็กชายด์ป้า คือ เด็กสมส่วนและผอม มีกิจกรรมทางกายอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้น มีความสูงเพิ่มขึ้น น้ำหนักลดลง ร่างกายแข็งแรงขึ้น ยืดหยุ่นดีขึ้น ไขมันใต้ผิวหนังลดลง อาการภูมิแพ้และการเจ็บป่วยหลายอย่างดีขึ้น นอนหลับสนิทขึ้น มีสมาธิในการเรียนดีขึ้น ในปี 2560 สธ.จะร่วมกับหน่วยงานต่างผลักดันโครงการให้ครอบคลุมโรงเรียนอย่างน้อย 7,700 แห่ง ครอบคลุมเด็กอย่างน้อย 770,000 คน เพื่อเพิ่มการมีกิจกรรมทางกาย ช่วยให้เด็กไทยสูงสมส่วน แข็งแรง ไอคิวและอีคิวดี” นพ.กิตติ กล่าว

ด้านนายพะโยม ชิณวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พร้อมสนับสนุนการแก้ปัญหาภาวะอ้วนและส่งเสริมให้เด็กวัยเรียนมีสุขภาพที่ดี แข็งแรงสมส่วน ซึ่งนอกจากชั่วโมงพละศึกษาที่จะสอนเรื่องหลักการ หลักวิชาการต่างๆ เกี่ยวกับกีฬาและออกกำลังกายแล้วนั้น การจะเพิ่มกิจกรรมทางกายให้นักเรียนนั้น ยังมีกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ที่แต่ละโรงเรียนสามารถนำมาปรับหรือจัดกิจกรรมเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายได้

“โรงเรียนต้องบริหารจัดการให้ดีในการแบ่งสัดส่วนกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ แต่อยากให้โรงเรียนให้ความสำคัญกับเรื่องการมีกิจกรรมทางกายหรือการออกกำลังกายของนักเรียนด้วย เพราะเมื่อนักเรียนมีสุขภาพร่างกายที่ดี แข็งแรง สุขภาพกายก็ดี สุขภาพจิตก็ดี มีสมาธิในการเรียนมากขึ้น ก็ดีต่อเด็กทั้งเรื่องไอคิวและอีคิว เช่น ตอนเข้าแถวหน้าเสาธงตอนเช้าอาจจัดให้มีการออกกำลังกาย หรืออย่างที่นายกรับมนตรีมีนโยบายให้ออกกำลังกายทุกวันพุธ ก็นำมาปรับใช้ได้ เป็นต้น”นายพะโยมกล่าว