'สุภิญญา'ชี้'ทรู'ผิดกติกา เลิก11ช่องไม่บอกสมาชิก

'สุภิญญา'ชี้'ทรู'ผิดกติกา เลิก11ช่องไม่บอกสมาชิก

"สุภิญญา" ระบุ "ทรู วิชั่นส์" ทำผิดกติกา เลิก 11 ช่องไม่บอกสมาชิก จ่อเจอโทษเพิกถอนใบอนุญาต-ลงโทษทางปกครอง รอตัวแทนแจงข้อเท็จจริง

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้สัมภาษณ์ต่อประเด็นข้อร้องเรียนของประชานที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกช่องรายการ จำนวน 11 ช่อง ของบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ว่าในวันที่ 7 ก.พ. นี้ จะครบกำหนดที่ทางอนุกรรมการฯ จะให้ทางตัวแทนของบริษัททรู วิชั่นส์ฯ เข้าชี้แจงต่อกรณีที่เกิดขึ้น รวมถึงรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเยียวยาสมาชิก แต่หากทางตัวแทนของบริษัททรู วิชั่นส์ฯ ไม่ให้คำชี้แจง ทางอนุฯ จะส่งบทสรุปที่ตรวจสอบให้กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป อย่างไรก็ตามในประเด็นที่ได้รับการชี้แจงมาก่อนหน้านี้จากตัวแทนของบริษัท ทรูฯ คือ ได้แจ้งให้สมาชิกรับทราบผ่านการขึ้นตัวอักษรที่หน้าจอแล้ว แต่จากการตรวจสอบหลักฐานพบว่าได้ทำเพียง 2 ช่องเท่านั้น ทั้งที่ในระเบียบทางบริษัท ทรูฯ ฐานะผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบตอบรับสมาชิกต้องแจ้งให้สมาชิกทราบก่อน

น.ส.สุภิญญา กล่าวด้วยว่าในกรณีที่เกิดขึ้นสมาชิกที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถใช้สิทธิ์ของตนได้ ในช่องทางแรก คือ ติดต่อไปยังบริษัททรูฯ เพื่อขอคำชี้แจง และการเยียวยาสมาชิก เช่น เปลี่ยนแพ็คเกจ เป็นต้น แต่หากสมาชิกไม่พอใจสามารถแจ้งเรื่องผ่านทางสายด่วน กสทช. ที่หมายเลข 1200 ซึ่งตนจะนำประเด็นที่ร้องเรียนดังกล่าวเป็นข้อมูลเพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลกับทางตัวแทนของบริษัท ทรูฯ ที่อาจเข้าชี้แจงกับอนุฯ ในวันที่ 7 ก.พ. นี้ แต่หากยังไม่พอใจ สามารถใช้สิทธิฟ้องร้องเพื่อดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งอาจจะฟ้องร้องกับ บริษัท ทรูฯ หรือ กสทช. ได้เพราะเป็นสิทธิของประชาชนที่จะทำได้

“กรณีที่เกิดขึ้น โทรทัศน์แบบตอบรับสมาชิกของทรูฯ นั้น ต้องแยกประเด็นพิจารณา คือ 1.กรณี 6 ช่องของทรูฯ ที่ยกเลิกไปก่อนหน้านี้ และยุติการออกอากาศไปแล้วนั้น เพราะมติ ของกสท. มีคำสั่งให้ยุติออกอากาศได้ แม้จะไม่มีแผนเยียวยา แต่กรณีอีก 11 ช่องที่ยุติออกอากาศไปอีกนั้น กสท. ยังไม่มีคำสั่งให้ยุติออกอากาศ แต่ขณะนี้เขาได้ยุติออกอากาศไปแล้ว ดังนั้นเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาว่า หาก 11ช่องที่เหลือต้องส่งแผนเยียวยา เหมือนช่องไททีวี และ ช่องโลก้าของฟรีทีวีที่ กสทช. อนุญาตให้ยุติออกอากาศได้ เพราะขาดทุนและประกอบธุรกิจไม่ไหว อาจต้องมีบทลงโทษ เช่น การเพิกถอนใบอนุญาต หรือมีโทษทางปกครองเหมือนกับช่องจีเอ็มเอ็ม และ จีทีเอช และต้องทบทวนกรณี 6 ช่องก่อนหน้านั้นด้วย” น.ส.สุภิญญา กล่าว