คปภ.ถอนใบอนุญาตตัวแทน-นายหน้าประกันปี59เกือบ 50 ราย

คปภ.ถอนใบอนุญาตตัวแทน-นายหน้าประกันปี59เกือบ 50 ราย

“คปภ.”ถอนใบอนุญาตตัวแทน-นายหน้าประกันปี59เกือบ 50 ราย เหตุรับเงิยค่าเบี้ยจากลูกค้าแล้วไม่ส่งบริษัท-ทุจริตการสอบ-สวมสิทธิ์เข้าสอบ

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากสถิติของปี 2559 นายทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเป็นตัวแทน หรือนายหน้าประกันภัยรวม 47 ราย แยกเป็นตัวแทนประกันชีวิต 36 ราย นายหน้าประกันวินาศภัย 9 ราย และนิติบุคคล 2 ราย

ลักษณะของการกระทำความผิดจนนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาต 5 อันดับแรก คือ ได้รับชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัย แต่มิได้แจ้งขอเอาประกันและนำเงินค่าเบี้ยประกันภัยส่งให้บริษัท ,กระทำการทุจริตการสอบ โดยสวมสิทธิ์เข้าสอบความรู้เพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต , ยินยอมให้ผู้อื่น กระทำการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยโดยไม่มีใบอนุญาตเป็นตัวแทน หรือนายหน้าประกันภัย , กระทำการชี้ช่อง ชักชวน ให้ผู้เอาประกันภัยทำสัญญาประกันภัยโดยมิได้อธิบายเงื่อนไขให้ชัดแจ้ง และกระทำการปลอมลายมือชื่อผู้เอาประกันภัยและแก้ไขข้อมูลของผู้ประกันภัย

ขณะที่ไตรมาส 4 ของปี 2559 (1 ต.ค.-31ธ.ค.) นายทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตัวแทน หรือนายหน้าประกันภัย รวม 4 ราย อาศัยอำนาจตาม ข้อ 6 (4) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการประกาศ หรือโฆษณาการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต พ.ศ. 2556 จึงขอประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวและการกระทำที่เป็นเหตุให้ถูกเพิกถอนใบอนุญาต 

โดยมีตัวแทนประกันชีวิต 3 ราย และนายหน้าประกันชีวิต 1 ราย ทั้งนี้ผู้ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ทั้ง 4 ราย จะไม่สามารถกระทำการเป็นตัวแทน/นายหน้าประกันภัยหรือขอรับใบอนุญาตใหม่ได้ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนสาเหตุของการกระทำความผิดของบุคคลทั้ง 4 ราย ที่นำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาตในครั้งนี้เกิดขึ้นใน 2 ลักษณะ คือ ได้รับชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัย แต่มิได้นำเงินค่าเบี้ยประกันภัยส่งให้บริษัท และกระทำการชี้ช่องให้ผู้เอาประกันภัยทราบว่าหากสะสมเงินผ่านบัตรเครดิต ครบ 12 รอบบิล จะจ่ายเงินคืนเข้าบัตรเครดิต โดยมิได้อธิบายให้ชัดแจ้งว่าเป็นการเสนอขายกรมธรรม์ประกันชีวิต

ขณะนี้ คปภ.อยู่ระหว่างการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกันชีวิตและพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว โดยจะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งมีบทกำหนดโทษทางอาญาทั้งจำคุกและปรับด้วย

ในอนาคตหากตัวแทนและนายหน้าประกันภัยกระทำผิด นอกจากจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว ถ้าการกระทำเข้าองค์ประกอบความผิดเรื่องการฉ้อฉลประกันภัยก็อาจถูกดำเนินคดีจนถึงขั้นจำคุกและปรับอีกด้วย

ปัจจุบันธุรกิจประกันภัยทั้งระบบมีตัวแทนและนายหน้าประกันภัย จำนวน 520,069 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคลากรที่มีมาตรฐานและคุณภาพที่ดี ที่ผ่านมาสำนักงาน คปภ. ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับคุณภาพของตัวแทนและนายหน้าประกันภัยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเสนอขายจนถึงการให้บริการหลังการขาย รวมถึงมีการอบรม การสอบ การขอต่ออายุ เพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนและนายหน้าประกันภัย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชนผู้เอาประกันภัยไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาลงโทษอย่างเคร่งครัด จริงจัง และต่อเนื่อง